อื่นๆ

โลกหลังกำแพงสูง : โครงการสอนหนังสือน้อง ๆ ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาว์ชนเขต 9 สงขลา

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
โลกหลังกำแพงสูง : โครงการสอนหนังสือน้อง ๆ ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาว์ชนเขต 9 สงขลา

สวัสดีทุกคนวันนี้เรามีเรื่องราวดี ๆ มาแบ่งปันกันเป็นเรื่องราวการจัดโครงการครั้งแรกในชีวิตเราเอง เราตั้งชื่อโครงการเองด้วยนะ ชื่อโครงการ “ถักฝัน...ปั้นครู” ทำไมถึงชื่อนี้น่ะเหรอ เพราะเราเป็นนิสิตครูในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลาตอนทำโครงการนี้เราเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ส่วน
คำว่า “ถักฝัน” ก็หมายถึงฝันของน้อง ๆ ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาว์ชนเขต 9 สงขลา //เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีความฝันกันทั้งนั้นแหละ//

ภาพวาดจากน้องในศูนย์ฝึก


จุดเริ่มต้นในการทำโครงการนี้ไม่ได้เริ่มจากความคิดเราหรอก แต่พี่รหัสของเราทำโครงการนี้เป็นปีแรก โดยเป็นการดำเนินงานของกลุ่ม “ครูไทยใจอาสา” ปีแรกชื่อโครงการว่า “คลินิกภาษาพัฒนาเยาวชน” อยู่ภายใต้โครงการพี่อาสาพาน้องอ่านเขียน พอปีต่อมาทางศูนย์ก็ติดต่อมาอีก เราเลยรับช่วงต่อจัดเป็นปีที่ 2 (ตอนแรกที่พี่ทักมาเราก็กังวลนะว่าจะรับดีมั้ย เพราะเราไม่เคยทำโครงการอะไรมาก่อนเลย ไม่รู้ขั้นตอนเหมือนกันว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ก็มีพี่รหัสกับอาจารย์เป็นที่ปรึกษาเราเลยรับมา) จุดประสงค์หลัก ๆ ของโครงการนี้คือ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
ก็คือการเข้าไปสอนน้อง ๆ ในศูนย์ฝึกฯ ให้อ่านออกเขียนได้ แล้วก็ยังเป็นโครงการที่เอามาใช้กับวิชาเรียนได้ด้วย ได้ประโยชน์สองต่อเลย

Advertisement

Advertisement

เริ่มแรกเมื่อรับที่จะทำโครงการเราก็หาสมาชิกผู้ร่วมอุดมการณ์ของเราก่อนเลยเป้าหมายของเราก็คือเพื่อน ๆ ในวิชาเอกนั่นเอง ในเอกเรามีกัน 32 ทุกคนตอบตกลงที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ จากนั้นก็จัดการวางแผนโครงการต่าง ๆ เขียนบันทึกข้อความ เสนอโครงการต่อคณะ วางแผนการลงพื้นที่ กิจกรรมแต่ละครั้ง มันก็วุ่น ๆ นิดหน่อยแหละเรื่องงานเอกสารแล้วก็วิ่งติดต่อพี่เจ้าหน้าที่คณะที่เราเคยได้ยินแค่ชื่อแต่ไม่เคยคุยด้วยเลย 5555 แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีเพราะเรามีผู้สนับสนุนที่น่ารักอย่างพี่รหัสและอาจารย์ของเราเอง (โครงการนี้ผ่านคณะง่ายหน่อยเพราะไม่ต้องขอเงินคณะ ผ่านฉลุยเลย 5555)

เราลงพื้นที่สัปดาห์ละครั้ง คือช่วงบ่ายโมงถึงบ่ายสามโมง ของวันพุธ เราวางแผนคือสอนความรู้สองครั้ง สลับกับทำกิจกรรมเล่นเกมส์ต่าง ๆ หนึ่งครั้ง เป็นแบบนี้สลับกันไปจนจบโครงการ (เวลาทำโครงการคือ 4 เดือน) ใช้วิธีการสอนโดยการจับบัดดี้ พี่ 1 – 2  คน ต่อน้อง 1 คน เพราะว่าพื้นฐานแต่ละคนไม่เท่ากันจึงต้องใช้วิธีนี้ (น้อง ๆ ในศูนย์ฝึกบางคนอายุเยอะกว่าพวกเราอีกนะแต่เค้าก็เต็มใจให้เราแทนตัวว่าพี่ และเค้าเป็นน้อง) แต่พี่เจ้าหน้าที่ติดต่อมาบอกว่า อยากได้คนสำหรับติวคนที่จะไปแข่งเรียงความกับตอบปัญหาวิชาการด้วย (เซอไพรส์มากไม่คิดว่าจะมีอะไรแบบนี้ ความรู้ใหม่ในตอนนั้นของเราเลย) เราก็ขออาสาสมัครจากเพื่อน ๆ ที่ถนัดแบ่งไปติวเข้ม

Advertisement

Advertisement


วางแผนวางคนเสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงวันสำคัญคือวันแรกที่เราจะเดินทางเข้าสู่ "โลกหลังกำแพงสูง" นั้น เป็นโลกที่พวกเราทั้ง 32 ไม่เคยเรียนรู้ และไม่เคยคิดที่จะเฉียดกรายเข้าไปใกล้ เราเชื่อนะว่าเพื่อนทุกคนมีความกังวลเล็ก ๆ ในเบื้องลึกของจิตใจ สิ่งที่เราเคยรับรู้มาเป็นชุดความรู้ที่เคยถูกปลูกฝัง เราเองก็เหมือนกันยอมรับเลยนะว่ารู้สึก “กลัว” เลยล่ะ แต่ก็มีรีวิวจากรุ่นพี่มานิดหน่อยว่ามันไม่ได้มีอะไรน่ากลัว ก็เบาใจไปเปราะนึง (โอเคค่ะ หนูจะเชื่อพี่) ในครั้งแรกเราเดินทางไปศูนย์ฝึกฯ ด้วยรถตู้ของมหาลัย (อาจารย์เป็นคนจองให้)

ไปครั้งแรกก็พบกับพี่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกฯ ที่ติดต่อไว้ พูดคุยกันอธิบายเรื่องต่าง ๆ และกฎการเข้าไปในศูนย์ฝึก เราห้ามเอาอะไรติดตัวเข้าไปเลย โทรศัพท์ สัมภาระต่าง ๆ ของมีคม จริง ๆ พี่เขาไม่อยากให้เอาปากกาเข้าไปด้วยซ้ำ แต่ก็ได้รับการอนุโลม และขออนุญาตพากล้องเข้าไปบันทึกภาพได้หนึ่งตัว แต่ห้ามเผยแพร่ใบหน้าน้อง ๆ สามารถนำรูปลงสื่อ Social ได้แต่ต้องปิดหน้าน้อง ๆ

Advertisement

Advertisement

ตรวจอย่างเข้มก่อนเข้าพื้นที่


กิจกรรมวันแรกคือการทำความรู้จักกันระหว่างพี่กับน้อง จับบัดดี้ว่าพี่คนไหนจะสอนน้องคนไหนโดยการที่เราเขียนชื่อพี่ใส่สลากให้น้อง ๆ เป็นคนจับและเฉลยบัดดี้กันจากนั้นมีการทดสอบความสามารถน้อง ๆ ด้วยการให้เขียนตามคำบอกเพื่อดูพื้นฐาน และให้พี่ไปพูดคุยทำความรู้จักกับน้อง ๆ ที่ตัวเองจะสอน เป็นการถามพื้นฐานเรื่องการอ่านทั่ว ๆ ไปและทำความรู้จักกันเรื่องอื่น ๆ อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละคนว่าน้องจะเล่าอะไรให้ฟังบ้าง จนถึงเวลากลับรถตู้ก็มารับเรากลับมหาวิทยาลัย ภารกิจเสร็จแล้วสำหรับวันแรกอยากบอกทุกคนเลยว่ามันต่างจากสิ่งที่เราเคยคิดมาก ๆ น้อง ๆ ทุกคนน่ารักเต็มใจที่จะพูดคุยทำกิจกรรมกับเรา (น้องมีประมาณ 17 – 20 คน บางครั้งน้อง ๆ บางคนก็ติดกิจกรรมอื่น แอบกระซิบว่าคนที่มาทำกิจกรรมกับเราก็คือเค้าคัดมาแล้วแหละ) ทุกคนไม่มีการแซวหรือคุกคามพวกเราเลย (เอกเราเป็นเอกหญิงล้วน มีเพศชายแค่ 4 คนแต่ก็เป็นพวกเดียวกับสาว ๆ ส่วนน้อง ๆ เป็นชายล้วน มีน้องผู้หญิงด้วยแต่เป็นกลุ่มติวเข้มไปแข่งขัน) ทำให้เราสบายใจที่จะทำกิจกรรมกับน้อง ๆ กิจกรรมทุกครั้งเป็นไปอย่างราบรื่น

กาสอนเป็นไปอย่างราบรื่น พูดคุยกันสนุกสนาน แบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ กัน


สู้ ๆ นะพยายามเรียนรู้อย่างตั้งใจ


คนสอนก็เต็มที่ คนเรียนก็ตั้งใจเต็มร้อย


เมื่อสอนเสร็จแต่ละครั้งเราให้เพื่อนทำ AAR ด้วย มันคือ After Action Review เป็นการทบทวนถึงการทำงาน ข้อดีและอุปสรรคในแต่ละครั้ง รวมไปถึงความรู้สึกด้วยทั้งประทับใจและไม่ประทับใจ มันดีมาก ๆ เลยนะ ทำให้เรารู้จุดเด่นจุดด้อยและเอาไปปรับปรุงในการสอนครั้งต่อไป แล้วก็ยังเป็นเหมือนการบันทึกไดอารี่ ที่เราสามารถย้อนกลับไปอ่านมันได้อีกครั้ง “เพราะบางครั้งเราอาจหลงลืมบางรายละเอียดของความทรงจำไป การบันทึกไว้นี่แหละจะเป็นเครื่องมือคอยเตือนความทรงจำของเรา” (ตอนนี้บันทึกนั้นของทุกคนก็ยังอยู่นะ เพราะเราให้เขียนไว้ในกลุ่ม Facebook นี่แหละ)

การเดินทางไปศูนย์ฝึกฯ สองครั้งแรกเราเดินทางไปด้วยรถตู้ของมหาลัย แต่หลังจากนั้นเราทั้งหมดขับรถมอเตอร์ไซไปกันเอง (ระยะทางไม่ได้ไกลมากด้วยแหละห่างจากมหาวิทยาลัยเราประมาณ 5-6 กิโลเมตร) เพราะการจองรถมีปัญหา เราได้เห็นความพยายามของเพื่อน ๆ การช่วยเหลือกัน บางคนที่ไม่มีรถ ก็จับคู่ซ้อนท้ายกันไป เพราะทุกคนตั้งใจที่จะไปสอนมาก ๆ มีอยู่ครั้งนึงฝนตก แต่พวกเราทั้งหมดก็ขับรถมอเตอร์ไซฝ่าฝนกันไป 5555 มีเสียงบ่นกันบ้างนิดหน่อยแต่ทุกคนก็มาถึงศูนย์ฝึกฯ กันอย่างปลอดภัยและพร้อมที่จะสอนน้อง ๆ


ที่เราตั้งใจกันขนาดนี้เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะความตั้งใจที่จะเรียนรู้ของน้อง ๆ ไง (อันนี้เห็นจากบันทึก AAR ของเพื่อน)


และนี่ของเรา


“สอนน้องโจ สอนแทนไอซ์ สอนน้องเรื่องพยัญชนะ กับสระ รู้สึกว่าน้องมีความตั้งใจเรียนมาก น้องเขียนพยัญชนะเรียงได้ถูกต้อง มีลืมบ้างใช้เวลานานแต่ก็เขียนได้ครบ แต่น้องจะมีปัญหาเรื่องการออกเสียงพยัญชนะยางตัวน้องออกเสียงไม่ถูก ทำให้เมื่อนำไปประสมกับสระ น้องจึงอ่านออกเสียงไม่ถูก จะต้องบอกให้น้องทำหลาย ๆ รอบ น้องตั้งใจอ่านทุกครั้งไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย

ครึ่งชั่วโมงท้าย ได้สอนน้องหมัด ได้ให้น้องอ่านคำที่เขียนตามคำบอกเมื่อครั้งก่อน จากครั้งก่อนที่น้องอ่านไม่ได้ มาครั้งนี้น้องอ่านได้ถูกต้องสมแบบสมบูรณ์ 8 คำ อ่านผิดนิดหน่อย 2 คำ และสอนเรื่องสระ น้องจำสระประสมไม่ได้ มีสี่ตัวที่สอนหลายครั้งมาก แต่น้องก็ยังจำไม่ได้ แต่น้องมีความตั้งใจแชะพยายามที่จะจำ
มาก ๆ เราสอนหลายครั้งมาก ๆ จนตอนจะหมดเวลาจึงให้น้องทวนอีกรอบ แต่น้องก็ยังจำไม่ได้จึงได้หยุดการสอนไว้ก่อน และเปลี่ยนเป็นการพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไปแทนเพื่อทำความรู้จักกันมากขึ้น น้องก็ได้เล่าเรื่องของน้องให้ฟังว่าทำไมเองถึงมาอยู่ที่นี่ และได้บอกว่าตัวเองทำพลาดไปแล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนต่อ และทำงานดี ๆ

สำหรับอุปสรรครู้สึกว่าไม่มีอุปสรรคอะไรน้องให้ความร่วมมือกับการเรียนดีมาก การเดินทางวันนี้ก็สนุกดี ไปกันเป็นกลุ่มน่ารักดี”


อันนี้เป็นส่วนหนึ่งจากบันทึกของเรา นี่จากการลงพื้นที่ครั้งเดียวนะ (ถ้าเอามาทุกครั้งกลัวจะยาวเกิน) ถ้าเราไม่บันทึกไว้เราก็จำได้แค่น้องตั้งใจแหละ แต่คงไม่ได้จำรายละเอียดอะไรขนาดนี้


ในการลงศูนย์ฝึกฯ แต่ละครั้งทุกคนต้องเตรียมบทเรียนไปเองว่าจะสอนอะไรน้อง ๆ และจะมีกิจกรรมที่เรากับเพื่อน ๆ จะช่วยกันคิดว่าสัปดาห์นี้จะเตรียมกิจกรรมอะไรให้น้อง ๆ ได้เล่นดี กิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนของน้อง ๆ เช่นให้ใบคำแล้วเขียนบนกระดาน
เกมพรายกระซิบ เราเป็นคนที่ไม่ค่อยเก่งเรื่องเอนเตอร์เทน เท่าไหร่ ก็ได้เพื่อน ๆ คอยช่วยนี่แหละกิจกรรมถึงได้ไม่กร่อย อันนี้เล่นเกม พรายกระซิบ เป็นการฝึกทักษะการฟังและพูด ตอนทำกิจกรรมสนุกมากน้อง ๆ ร่วมมือเป็นอย่างดีอันนี้ให้อ่านคำแล้ววาดภาพให้เพื่อนทายคำศัพท์นั้น ฝึกทักษะการอ่านด้วย สนุกด้วย


พี่ ๆ ก็ร่วมเล่นเกมกับน้องด้วย เป็นหน่วยสนับสนุน


อ้อจะบอกว่าน้อง ๆ ที่ติวเพื่อไปแข่งทักษะกับเรียงความได้รางวัลกลับมาด้วยนะ พี่ ๆ ติวเตอร์ปลื้มใจกันยกใหญ่เลย มีของขอบคุณจากน้อง ๆ เป็นที่เก็บกุญแจน่ารัก ๆ ทำมือ เย็บมือล้วน ๆ จากคนชาย ๆ ให้พวกเราทั้ง 32 คนเลยด้วย

ของที่ระลึกแทนคำขอบคุณ เย็บมือล้วน ๆ

ในการไปทุกครั้งเรามีเรื่องที่ประทับใจทุกครั้งและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ “เราต่างเป็นครูและเป็นนักเรียนของกันและกัน” เราเปิดโลกทางการศึกษาให้เขา เขาเปิดโลกหลังกำแพงให้เราได้เรียนรู้ เราได้รู้จักการให้ ให้ความรู้ ให้โอกาสให้ความเห็นใจ ให้น้ำใจหยดเล็ก ๆ ของพวกเราทั้ง 32 คนได้หล่อเลี้ยงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้น

“พวกเขาเคยทำพลาด แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือโอกาส”

พวกเราเห็นอะไรจากภาพนี้ ในสัปดาห์สุดท้ายของการลงพื้นที่ศูนย์ฝึกฯ เป็นกิจกรรมการทดสอบหลังการเรียนโดยการเขียนตามคำบอกด้วยชุดคำเดิมนั่นแหละ มันน่าเหลือเชื่อนะที่ระยะเวลาเพียงไม่นานแต่น้อง ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น แม้บางคนจะเขียนถูกเพิ่มขึ้นเพียงแค่คำเดียวแต่นั่นมันคือการพัฒนา อย่างน้อยน้อง ๆ เขียนเป็นเพิ่มขึ้นมา 1 คำแหนะ จากนั้นก็เล่นเกมทำกิจกรรม สนุกสนานกันไป ก็ได้เวลาบอลากัน น้อง ๆ น่ารักมาก มีของที่ระลึกให้พี่ ๆ บัดดี้กันด้วย บางคนก็เป็นจดหมาย (คนที่เขียนไม่ได้ก็ให้พูดให้คนอื่นเขียนให้) น้องที่เราสอนให้จดหมายขอบคุณเราแล้วก็สมุดโน๊ต กับปากกา มันอาจจะดูเล็กน้อยนะ แต่เราว่ามันคือสิ่งที่เขามีน้ำใจมอบให้เรา เห็นมั้ยล่ะพวกเขาก็มีมุมน่ารักนะ

มอบรางวัลให้ผู้ได้คะแนนสูงกันหน่อย รางวัลคือน้ำเปล่า 555


เล่นเกมเหยียบลูกโป่งกัน สนุกแล้วก็อย่าลืมนะ ต้องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ที่สำคัญ ต้องทำตามกติกาด้วยนะ :)


โครงการนี้จะสำเร็จด้วยดีไปไม่ได้เลยถ้าขาดสมาชิกผู้ร่วมอุดมการณ์ของเราทั้ง 32 คน ต้องขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคนเลยที่สู้มาด้วยกัน ทุกคนเหนื่อยจากการเรียน การบ้านรายงานแล้ว ก็ยังต้องมาเตรียมบทเรียนไปสอนน้อง ช่วยคิดกิจกรรมช่วยเตรียมอุปกรณ์ และอีกหลายอย่างเลย

สัปดาห์สุดท้ายแล้วเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันหน่อย

"การทำโครงการครั้งนี้ให้บทเรียนหลายอย่างกับเราเลย บทเรียนด้านทักษะอย่างการทำโครงการติดต่อพี่เจ้าหน้าที่ เขียนโครงการ วางแผนโครงการ และอีกมากมายเป็นการพัฒนาตัวเองไปอีกขั้น ถ้าต้องทำโครงการอีกเราก็ไม่หวั่นแล้วพร้อมลุยเลย 5555 และสิ่งที่สำคัญเลย เราได้เรียนรู้โลกหลังกำแพงนั้น ทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาด ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ในเมื่อเขาสำนึกได้ สิ่งที่เราควรให้เขาคือโอกาส การให้โอกาสคนอื่นมันไม่ใช่เรื่องยากเลยนะ "

และเราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ของเราทุกคนก็ได้เรียนรู้มุมมองต่าง ๆ อีกเยอะแยะเลยล่ะ อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันไปตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เก็บบันทึกเป็นบทเรียนส่วนตัวของตัวเอง ความคิดที่ตกผลึกของแต่ละคนเป็นสิ่งหล่อหลอมให้เพื่อน ๆ เติบโตขึ้นอีกขั้น และเราทุกคนจะเติบโตไปด้วยกัน

สุดท้ายนี้ขอลากันไปด้วยคำของอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ"

“เพราะทุกพื้นที่ต้องการโอกาสทางการศึกษา”

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์