อื่นๆ

3 สำนวนใต้ ที่ไม่ควรพลาด (งานแต่งในอดีต)

1.9k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
3 สำนวนใต้ ที่ไม่ควรพลาด (งานแต่งในอดีต)

พิธีแต่งงาน เป็นพิธีมงคลที่ญาติผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวจัดขึ้น เพื่อบอกกล่าวให้สังคมรับรู้ว่า คู่บ่าวสาวตกลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันสร้างครอบครัวของตนขึ้นมาใหม่ ในพิธีงานแต่งงานก็จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นขั้นตอนแตกต่างกันออกไปของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงถึงวัฒนธรรมในการใช้สำนวนภาษาเพื่อเชิญแขกเหร่อมาร่วมเป็นสักขีพยานในงานก็แตกต่างกันด้วย เช่น ในท้องถิ่นภาคใต้ เป็นต้น

วันนี้ผู้เขียนจะนำเสนอสำนวนภาษาที่ใช้ในพิธีแต่งงานของทางภาคใต้  3 สำนวน ในสำนวนที่ว่า มอบสาดเรียงหมอน, กินเหนียว, และพาสวดเหนียวแล่น เริ่มที่สำนวนแรก คือ มอบสาดเรียงหมอน เป็นพิธีที่จัดเพื่อมอบห้องหอให้คู่บ่าวสาวหลังจากพิธีการแต่งงานเสร็จสิ้น พิธีนี้ญาติทางฝ่ายเจ้าสาวจะหาฤกษ์ที่ดีจริง ๆ ให้คู่บ่าวสาว พึงทราบว่างานแต่งงานนั้นเป็นฤกษ์ดีของการจัดงานแต่งงานก็จริง แต่ใช่ว่าจะเป็นฤกษ์ดีสำหรับพิธีมอบสาดเรียงหมอนเสมอไป ในสมัยก่อนคู่บ่าวสาวหลายคู่หลังเข้าพิธีแต่งงานแล้ว อาจต้องนอนแยกห้องกันเพื่อรอฤกษ์ดีของพิธีนี้ เมื่อได้ฤกษ์ดีแล้ว ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะชวนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าห้อง นำไหว้พระ ประพรมน้ำมนต์ แล้วให้คนที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันว่ามีชีวิตคู่สมบูรณ์ ไม่ทะเลาะตบตีกัน มีหน้าที่การงานมั่นคง และมีลูกชายลูกสาวที่เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่เป็นอันดี มาปูที่นอนให้ จุดประสงค์ก็เพื่อความเป็นมงคลในข้อที่ว่า ทำให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวมีความเจริญรอยตามคนมาปูที่นอนให้นั่นเอง เมื่อปูที่นอนเสร็จจะมีการทำพิธีเชิญตายาย (ผีบรรพบุรุษ) ให้มากินเครื่องเซ่นเป็นการบอกให้รู้ว่ามีลูกหลาน (เจ้าบ่าว) เพิ่มมาอีกคนหนึ่ง

Advertisement

Advertisement

มอบสาด พิธีมอบสาดเรียงหมอนคู่บ่าวสาว

สำนวนที่ 2 กินเหนียว หมายถึง สำรับของหวาน ที่ใช้เลี้ยงแขกในงานแต่งงานสำรับนั้นประกอบด้วยข้าวเหนียว มี ข้าวเหนียวสังขยาเป็นต้น วัฒนธรรมการกินเลี้ยงในงานแต่งงานของคนภาคใต้ในสมัยก่อน เจ้าภาพงานแต่งจะจัด สำรับอาหารคาว ใส่ถาดยกไปวางบนโต๊ะ ส่วนข้าวสวยจะบรรจุใส่ถุงพลาสติกโดยพับปากถุงให้แบ่งตักกันเอง หลังจากรับประทานอาหารคาวเสร็จเรียบร้อย เจ้าภาพจะนำ สำรับของหวาน มาเสริฟต่อ และของหวานที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้เลยคือ สำรับของหวานที่ประกอบด้วยข้าวเหนียวเช่น ข้าวเหนียวสังขยาข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียนเป็นต้น ทำให้ในกาลต่อมเวลาเชิญใครไปงานแต่งงาน (สมัยก่อนบอกด้วยปากไม่มีบัตรเชิญ) ก็จะใช้สำนวนภาษาว่า เชิญไปงานกินเหนียว คำว่า กินเหนียว เลยกลายเป็นชื่ของงานแต่งงานไปโดยปริยาย

Advertisement

Advertisement

ข้าวข้าวเหนียวสังขยา สำรับของหวานที่เป็นเอกลักษณ์ของงานแต่งงานในอดีตของภาคใต้

สำนวนที่ 3 พาสวดเหนียวแล่น ด้วยเหตุที่ ข้าวเหนียว คือหัวใจหลักของเมนูของหวานยอดนิยม สวดนึ่งเหนียว (ภาชนะสำหรับใช้นึ่งข้าวเหนียว) จึงสำคัญมาก ถ้าใครขโมยสวดนึ่งเหนียวไป งานแต่งก็แทบจะเรียกได้ว่าล่มไม่เป็นท่า เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นสำนวนต่อมาที่ว่า ถ้าหญิงชายคู่ใดพากันหนีตามกัน โดยไม่จัดงานแต่งให้ถูกต้องตามประเพณีว่า พาสวดเหนียวแล่น เช่น ประโยคที่ว่า แลโด้ ๆ ลูกสาวเรินข้างบ้านฉานพาสวดเหนียวแล่นแล้วหลาว แปลเป็นภาษาไทยกลางว่า ดูสิ ๆ ลูกสาวของบ้านที่อยู่ใกล้บ้านฉันพาสวดเหนียววิ่งอีกแล้ว (แล่น ภาษาใต้แปลว่า วิ่ง)

สวด สวดนึ่งเหนียวภาชนะที่สำคัญยิ่งในงานแต่งงานของภาคใต้

สำนวนทางภาคใต้ที่เกี่ยวกับพิธีการแต่งงานทั้ง 3  สำนวนนี้ มีมานานนับ 100 ปี แต่ก็ยังใช้กันอยู่จวบปัจจุบัน เป็นวัฒนธรรมในการใช้ภาษาที่มีความหมายอยู่ในตัวของมันเอง ทุกสำนวนล้วนก่อให้เกิดความเป็นมงคลต่อคู่บ่าวสาวทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวของอดีตที่ผ่านกาลเวลามาถึงยุคปัจจุบัน เป็นความจริงที่ว่าอดีตคือกระจกเงาที่ส่องให้เห็นปัจจุบัน การแต่งงานคือจุดเริ่มต้นชีวิตคู่ของคนสองคนที่ต้องอาศัยความเข้าใจกัน  ต้องทะนุถนอมน้ำใจต่อกัน มันคือศิลปในการครองคู่อย่างแท้จริง

Advertisement

Advertisement

จับมือ ภาพประกอบบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์