อื่นๆ

มรรค 8 ในพระพุทธศาสนา

282
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
มรรค 8 ในพระพุทธศาสนา

เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

ธรรมะสวัสดีครับ วันนี้ผู้เขียนมีสาระดี ๆ ที่เป็นประโยชน์เป็นหลักในการดำเนินชีวิตมาฝาก ผู้อ่านทั้งหลาย วันนี้อยากจะนำเสนอเรื่อง “มรรค 8” (แปลว่า ทาง) หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามรรคมีองค์ 8 หรือมรรค 8  ประการก็ได้ครับ ผู้เขียนเห็นว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้มาดูกันว่า มรรค 8 ประการมีอะไรบ้าง

1.สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ เห็นถูก เห็นตามแนวความเป็นจริงของชีวิต สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นเหมือนเข็มทิศที่นำชีวิต เป็นการเริ่มต้นของการทำสิ่งที่ถูกเช่น เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในความโลภ เห็นประโยชน์ในการทำความดี เลือกคบแต่กัลยาณมิตร เหล่านี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ตรงกันข้ามกับคำว่า มิจฉาทิฏฐิ  แปลว่าความเห็นที่ผิด เช่น เห็นว่าทำดี ไม่ได้ดี ทำชั่ว ได้ดี เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณกับเราอะไรทำนองนี้ครับ

Advertisement

Advertisement

พระอุปคุต เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

2 สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดชอบ พระพุทธศาสนากล่าวว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ใจ คือ ความคิด ผู้เขียนเคยเข้าไปกราบขอพรปีใหม่จากพระอาจารย์รูปหนึ่งที่ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน (ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ) เมื่อเข้าไปกราบผู้เขียนคิดในใจว่าจะขอพรที่ให้ได้โน่น นี่ นั่น อะไรเยอะแยะมากมาย แต่ขณะกำลังจะอ้าปาก....ท่านตอบกลับมาว่า “ให้คิดดี ให้ทำดี แล้วทั้งปีจะมีแต่พร” จบครับทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ (ส่งผลถึงการกระทำ และสำเร็จลงเหมือนสิ่งที่คิด คิดดีได้ดี คิดชั่วก็ได้ชั่ว)

หอระฆังวัดป่าธาราภิรมย์ เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

3. สัมมาวาจา คือ การพูดดี พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่นินทาว่าร้ายบุคคลอื่น เว้นการพูดส่อเสียดกล่าวร้าย นินทา เท่านี้ก็เป็นสัมมาวาจาแล้วที่สำคัญครับ มีเรื่องอยากเล่าให้ผู้อ่านฟังสักนิดเป็นเรื่องของคนที่มองโลกในแง่ดีและเป็นคนที่มีสัมมาวาจาดีมาก คือ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ทิดดีแต่งงานกับนางศรี ทั้งสองอยู่กินด้วยกันมาร่วมปีโดยนิสัยทิดดีเป็นคนใจเย็น สุขุม มองโลกในแง่ดี วันหนึ่งนางศรีภรรยาต้องการจะลองใจสามีว่าแท้ที่จริงเป็นคนเช่นนี้จริงหรือเปล่า จึงแกล้งทำเป็นหุงข้าวไม่สุก แทนที่ทิดดีจะโกรธแต่กลับบอกว่า “วันนี้ดีจังเมียพี่หุงข้าวกรอบดี” วันต่อมานางศรีต้องการทดสอบอีกจึงแกล้งหุงข้าวแฉะ เมื่อทิดดีสามีกลับมาเมื่อตักข้าวเข้าปากจึงบอกกับภรรยาว่า “วันนี้ดีจัง ข้าวนิ่มดีไม่ต้องออกแรงเคี้ยวมาก” ต่อมาวันที่สามนางศรีแกล้งหุงข้าวไหม้ ทิดดีกลับมาเมื่อตักข้าวเข้าปากจึงบอกกับภรรยาว่า “วันนี้ดีจัง ข้าวมีกลิ่นหอมดี” นางศรีฟังแล้วใจชื้นเลย อันนี้เป็นตัวอย่างของคนมีสัมมาวาจาครับ ใครอยู่ใกล้ก็รัก ใครอยู่ใกล้ก็ชอบ

Advertisement

Advertisement

หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติชอบดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรม ไม่คอยอิจฉาผู้อื่น มีจิตสาธารณะรู้จักการแบ่งปัน และเผื่อแผ่สังคม ไม่ยึดติดในอัตตาความเป็นของตน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายนี้ก็รักษาศีล 5 ครับ คือ ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ไม่คิดลักทรัพย์หรือทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ไม่ประพฤติผิดในกามคุณ ไม่ดื่มสุรา ไม่ยุ่งเกี่ยวสิ่งเสพติดทั้งหลาย เท่านี้ครับง่าย ๆ รับรองไม่นอกกรอบของสัมมากัมมันตะแน่นอน

รอยพระพุทธบาท วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

5. สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพที่ชอบก็คือ การประกอบอาชีพที่สุจริต และไม่เบียดเบียนคนอื่นการอาชีพในพระพุทธศาสนานั้นท่านบัญญัติไว้ 5 อย่าง ว่า 5 อาชีพที่ไม่ควรทำ ได้แก่ 1. ขายอาวุธที่ใช้ทำร้ายกัน 2. มนุษย์  3. ขายสัตว์เพื่อนำไปฆ่า 4. ค้าขายน้ำเมา-ยาเสพติด 5. ค้าขายยาพิษ (ความเห็นผู้เขียนน่าจะหมายรวมถึงยาฆ่าแมลงด้วย เพราะเป็นต้นเหตุของปาณาติบาต คือ การฆ่า เบียดเบียนสัตว์)

Advertisement

Advertisement

ใบโพธิ์เงินโพธิ์ทองวัดศรีสุรรณ จ.เชียงใหม่ เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

6. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรที่ถูกต้อง ในที่นี้ผู้เขียนหมายรวมทั้งความเพียรในทางโลก และความเพียรในทางธรรม ทางโลก คือ เพียรพยายามทำในสิ่งที่ถูกของการดำรงชีพ เช่น วัยเด็กก็เพียรศึกษา เล่าเรียน วัยทำงานก็เพียรประกอบอาชีพการงาน วัยชราก็เพียรเร่งสะสมเสบียงบุญเลี้ยงตัวหรือเพียรแสงหาสัจธรรมแห่งชีวิต ทางธรรม คือ เพียรแสวงหาหนทางไปสู่พระนิพพาน มุ่งสู่ความเป็นโลกุตระ คือ การหลุดพ้นจากอวิชชา (ความเขลา) หรือกิเลสทั้งปวง

ลอยเทียนดอกบัวประจำวันเกิด เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

7. สัมมาสติ คือ การคิดแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ในที่นี้คือ ประโยชน์ทั้งส่วนตน และส่วนรวม สติตัว   นี้คำสั้น ๆ แต่สำคัญมากหลายคนทำผิดแล้วมักจะบอกว่าขาดสติหรือไม่มีสติอันนี้ผู้เขียนว่า ไม่จริงครับทุกคนมีสติถ้าไม่มีสติ คงจะทำอะไรไม่ได้นอกจากนอนละเมอแล้วลงมือทำ...แต่เมื่อมีสติแล้วมีคำถามต่อมาว่าสตินั้นเป็นสัมมาสติ (สติฝ่ายดี) หรือไม่หรือเป็นมิจฉาสติ (สติฝ่ายชั่ว) ก็ต้องดูที่ผลมันเกิดว่าผลนั้นดีหรือชั่วหากดีก็คือ สัมมาสติ หากชั่วก็คือ มิจฉาสติ

พระพุทธรูปเงิน วัดศรีสุพรรรณ จ.เชียงใหม่ เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

8. สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจทำในสิ่งที่ชอบ ที่ถูกเหมือนเรื่องของพระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้มีสัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นสุเมธดาบสได้ทอดกายให้ทีปังกรพระพุทธเจ้า และพระสาวกเดินเหยียบผ่านไปไม่ให้เปื้อนโคลน-ตม โดยตั้งอธิษฐานว่า ด้วยอานิสงส์นี้ขอให้ได้บรรลุเป็นพระสัมมาพุทธเจ้าในอนาคตกาลนี้ด้วยเถิด เห็นไหมครับว่านี้คือ ตัวอย่างของผู้มีสัมมาสติ

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วัดพระธาตุหริภุญชัยฯ จ.เชียงใหม่ เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)

ทราบกันแล้วนะครับ สำหรับมรรค 8 ประการ พระพุทธองค์ท่านวางหลักไว้ดีมาก หากผู้อ่านนำมาปฏิบัติผู้เขียนชื่อว่าดีแน่นอน เหตุดี ผลดี ย่อมดี.....ธรรมะสวัสดี

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์