อื่นๆ

หาเงิน เพื่อความอยู่รอด

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
หาเงิน เพื่อความอยู่รอด

“เสี่ยง เหนื่อย หนัก สกปรก”

สถานการณ์ของโรคที่กำลังระบาดในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายคนจะต้องตกงาน หยุดงาน รวมถึงอาจจะต้องหางานทำใหม่ ด้วยเหตุผลที่ไม่มีชิ้นงานให้โรงงานจ้างคนงานเพื่อผลิตสินค้าและบริการป้อนให้กับตลาด เนื่องจากสถานการณ์ที่ต้องเกิดการปิดประเทศเป็นระยะเวลาหลายเดือนจากวิกฤตการณ์โรคระบาดที่ก้าวข้ามประเทศที่รวดเร็วยิ่งกว่ากระแสโลกาภิวัตน์ นับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่สัตว์สังคมบนโลกใบนี้ได้รู้จักกับโรคระบาดที่เมื่อผู้ติดเชื้อรายแรกของโรคภายใต้เชื้อโคโรน่าไวรัส ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศจีน ที่สำคัญเชื้อที่เราพูดถึงกันสามารถแพร่กระจายเชื้อให้กับบุคคลอื่นได้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ยอดผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสนี้ 13,094,945 ราย (Johns Hopkins university, 2563)) และเมื่อสงคราม “โรค”มากระทบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศต้องยกการ์ดเพื่อป้องกันรักษาชีวิตประชาชนภายในประเทศนั้น ให้อยู่รอดและปลอดภัยให้ได้มากที่สุด

Advertisement

Advertisement

ย้อนกลับมามองสิ่งที่ประเทศไทยรัฐบาลในฐานะนักรบชุดขาวต้องตั้งโล่ห์เพื่อสู้กับสงครามโรคและทำให้ประเทศมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตให้น้อยที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ในส่วนของภาคปฏิบัติงานในประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ บริษัท ห้าง ร้าน โรงงาน โรงเรียน หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม เองก็ต้องขานรับนโยบายของทางภาครัฐ เช่นการส่งเสริมให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง ปิดบ้านปิดเมือง ห้ามสถานที่ต่างๆมีการรวมตัวกัน เช่นผับ-บาร์ ร้านเหล้า สนามกีฬา สนามมวย ฟิตเนส เปิดให้บริการ ภายใต้นโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดให้เร็วที่สุด เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด (Save Cost) เมื่อถูกปิดบ้านปิดเมืองปิดประเทศ

สิ่งที่ตามมาคือระบบเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักจากที่ประเทศสามารถส่งออกสินค้าและบริการบางประเภทมากที่สุดพอๆกับธุรกิจข้าวก็ต้องหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการท่องเที่ยวที่ใครๆก็ขนานนาม “Unseen in Thailand” ภายใน Signature “Welcome To Thailand” ดังนั้นอาชีพที่กระทบค่อนข้างมากที่สุด น่าจะหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่ธุรกิจสายการบิน ทั้งนักบิน พนักงานบริการบนเครื่องบิน อาชีพมัคคุเทศก์ พนักงานขับรถนำเที่ยว คนขายของรอบสถานที่ท่องเที่ยวนอกจากธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแล้วธุรกิจบางประเภทยังได้รับผลกระทบจากโรคนี้ เช่นอาชีพค้าขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ อาชีพที่ทำงานในผับ – บาร์ ธุรกิจสนามกีฬา ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ เราจะเห็นว่าอาชีพบางอาชีพที่ทุกคนมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง กลับกลายเป็นอาชีพที่ไม่มีงานทำ และต้องมาหารายได้เสริม เพื่อเลี้ยงปากท้องของตนเองแทนอาชีพหลักของตนเองระหว่างรอเข้างาน เช่น เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 คุณฐานันดร์ ขันธทัตบำรุง อาชีพกัปตันนักบิน ซึ่งช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา กลายเป็นบุคคลที่ถูกพักงาน รายได้ถูกลดเหลือเพียง 25% เนื่องจากการเดินทางข้ามประเทศไม่สามารถทำได้ ทำให้เขาจำเป็นต้องหาอาชีพเพื่อหารายได้เสริม ซึ่งเขาเลือกนำรถมอเตอร์ไซด์ส่วนตัวออกมารับอาหารจากร้านอาหารและวิ่งส่งอาหารให้กับประชาชน โดยการสมัคร “Grab Food” ถึงแม้จะได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัว (สำนักพิมพ์ข่าวสด, 2563)

Advertisement

Advertisement

พนักงานขับเครื่องบิน (นักบิน) หาอาชีพเสริมโดยการขี่รถส่งอาหาร (หนังสือพิมพ์ข่าวสด)

ในช่วงสถานการณ์โคโรน่าไวรัสระบาดในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาอาชีพที่คนไทยมองว่ามีเกียรติ หรู นั่งสบายหลายๆอาชีพก็ทำให้พนักงานต้องเสียน้ำตา เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ทำให้หลายคนต้องกลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงที่ถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว เพื่อให้ตนเองมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด อีกทั้งในบางบริษัทถึงขั้นต้องเชิญพนักงานออกด้วยเหตุผลของการขาดทุน ในขณะที่บางกิจการ ทำการลงทะเบียนให้พนักงานรับเงินจากประกันสังคมทดแทนการว่างงาน แต่ไม่ว่าจะว่างงานด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือปัญหาทางสังคม ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละครัวเรือน รายได้ของครอบครัวหายไป ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว ฯลฯ ทำให้หลายคนกลับมานั่งคิดและหาอาชีพที่ตนเองมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ถ้าย้อนคิดทุกอาชีพมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น คนGen Y มักจะให้ความสนใจกับข้าราชการ เพราะคิดว่าข้าราชการคืออาชีพที่มั่นคง สามารถเลี้ยงตนเองได้ตลอดชีวิต มีเวลาสร้างรายได้เสริม ขอยกเรื่องหนึ่งเคยอ่านผ่านตาในFacebook ท่านนี้ทำงานราชการกรมหนึ่ง เป็นเลขาฯ พอผู้อำนวยการเกษียณจากที่เคยเป็นเลขามีคนทักทายตลอดกลับกลายเป็นคนที่ไม่มีคนรู้จัก ความรู้สึกเหมือนไม่มีตัวตนในนั้น ทำให้น้อยใจและหางานทำใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ ทำให้เห็นว่าความมั่นคงในความเป็นจริงไม่มีถาวรเพียงแต่จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

Advertisement

Advertisement

อีก Case บริษัทแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เรียกพนักงานเข้าประชุมที่ละคนตามรายชื่อ เพื่อรับทราบระเบียบ สถานะบริษัทและให้พนักงานเขียนใบลาออก โดยที่พนักงานไม่ทันได้ตั้งตัว โดยบริษัทอ้างจาก "สถานการณ์พิษโควิด-19 เศรษฐกิจไม่ดี" จึงปลดพนักงานโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ภาวะความรู้สึกของคนที่กำลังจะตกงาน กลายเป็นความรู้สึกที่ไม่สู้ดี ประกอบกับการมีภาระที่ก่อขึ้นโดยที่ไม่คาดคิดถึงความมั่นคงในด้านการทำงาน การวางแผนชีวิตที่ไม่มีใครอยากประสบพบเจอ ซ้ำร้ายถ้าเหตุแบบนี้กลับไปเกิดกับบุคคลที่กำลังจะได้รับเงินบำเหน็จเกษียณอายุงาน (สำนักข่าว Mcot, 2563), (ไทยรัฐออนไลน์, 2563)

การที่เราเข้าไปทำงาน หรือเลือกที่จะทำงานที่ใดที่หนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมักจะมอง คือ อนาคต รายได้ ความมั่นคงของบริษัท สวัสดิการ เมื่อเข้ามาในองค์กรแล้ว ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน กฎระเบียบ บรรยากาศในการทำงาน ช่วงของการทำงานในแต่ละบริษัทมีจุดที่จะสอนคนที่แตกต่างกัน คนที่ผ่านการทำงานมาหลายบริษัทบางครั้งอาจไม่ใช่คนที่เข้ากันคนอื่นไม่ได้ แต่ยังหาจุดลงตัวของตนไม่เจอ

เครื่องตอกบัตร

ทุกคนมองว่าเป็นงานกลุ่ม 3D คืองานอันตราย งานสกปรก และงานที่ยาก เป็นงานที่คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร แต่ใครจะไปเชื่อว่าจากสถานการณ์ว่าด้วยโรคติดต่อ ทำให้เปลี่ยนความคิดใหม่ “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” คนไทยเคยมองว่าต้องทำงานในโรงงานถึงจะมั่นคง แต่ปัจจุบันทุกคนหันมาทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น ยอมเหนื่อยด้วยตัวเอง อีกอาชีพหนึ่งที่ยังอยู่ได้ในช่วงโควิดคือกลุ่มงานไร้ฝีมือ อาจจะด้วยเหตุผลของค่าแรงที่ไม่ได้สูงจนเกินไป เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำโรงงาน พนักงานขับรถ พนักงานกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ กรรมกรแบกหามส่วนตัว เป็นต้น

พนักงานขับรถส่งข้าวสาร

คนไทยหลายคนมีความคิดที่ต้องการงานที่สบาย งานที่ไม่ต้องโดนแดด แต่งตัวดูดี มีเวลาที่จะเดินห้างสรรพสินค้า และมักจะ “ยี๋” งานที่ค่อนข้างเหนื่อย หนัก สกปรก แต่ด้วยความยี๋ทำให้หลายครอบครัวลืมตาอ้าปากได้ในสถานการณ์โคโรน่าไวรัสระบาด วันนี้ขอสวมบทเป็นคนงาน/เป็นกรรมกร 1 วัน

ยุคสมัยมีการเปลี่ยน คนในแต่ละ generationก็เปลี่บนไปเช่นกัน คนยุคGeneration Y (GEN Y) และ Generation Z (GEN Z) มีความต้องการหางานที่ทำสบาย ซึ่งในบางครั้งการทำงานมีทั้ง "งานที่เหนื่อย  งานที่ต้องแบกหามของที่หนัก  งานที่หนึ่งคนทำหลายหน้าที่  งานที่สกปรก" ซึ่งมีความแตกต่างจากคนยุค baby boomer (GEN B) และ คนรุ่น Generation X (GEN X) ที่สามารถทนทานต่องานได้ในทุกรูปแบบ คนสมัยก่อนโดยเฉพาะบ้านคนจีนมักจะชอบเปรียบความลำบากให้ลูกหลานฟัง จริงอยู่ที่คนเราทุกคนสามารถเลือกงาน เลือกสิ่งที่ชอบ เลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง "แต่งตัวสวยๆ นั่งในออฟฟิต โดนแดดน้อยๆ ตัวจะได้ขาวๆ เดี๋ยวสิวขึ้น" ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่มองความลำบากเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในอีกมุมมองนึงความลำบากก็นำมาซึ่งเงินที่ได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินว่างานกรรมกรเป็นงานที่สงวนไว้ให้คนไทยทำ โดยห้ามแรงงานต่างด้าว[1] ทำ ซึ่งงานประเภทนี้เป็นงานที่คนไทยส่วนใหญ่มักชอบไม่ให้ความสนใจ ใครจะไปรู้ว่าอาชีพกรรมกรหรือพนักงานรับจ้างอิสระนี้ เป็นอาชีพที่ทำให้คนหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้วันละหลายร้อยบาท ซึ่งบางคนได้ถึงหลักพันบาทเลย ไม่ต่างจาก พนักงานประจำ ที่สำคัญเป็นอาชีพที่ไม่โดนเรียกยื่นภาษีอีกด้วย เพียงขอให้เราขยัน และที่สำคัญคนกลุ่มนี้เขาได้รับเงินไว้ใช้วันต่อวัน โดยไม่ต้องรอถึงสิ้นเดือน หรือ รอหมดวีค (15วัน)

วันนี้ได้ลองมีโอกาสคุยกับลุงท่านนึง อายุ 65 ปี เป็นคนอุบลราชธานี แต่มาอยู่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันมีบุตร 3 คน ลูกสาวปัจจุบันรับหมูสวรรค์มาขาย ลูกชายคนกลางเป็นคนงานช่วยพ่อ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพนักงานบริษัทซีพี น้องเล่าให้ฟังว่าทำงานบริษัทมีแต่ความจำเจ สิ้นเดือนได้เงินใช้ก็จริง แต่มักติดเพื่อนฝูง ถึงเวลาเงินออกก็จับกลุ่มดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เงินไม่ค่อยเหลือเก็บ ด้วยความที่ไม่ได้เรียนสูง ไม่ได้นั่งโต๊ะในออฟฟิต เป็นแรงงานในสายตาหัวหน้า ลูกชายคนเล็กทำอาชีพรับจ้าง(ไม่ได้เรียนหนังสือ) ลุงได้รับเงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ที่สำคัญยังลงทะเบียนคนจนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่สำคัญยังรับจ้างกดลอตเตอร์รี่ได้เงินครั้ง 500 บาท ให้กับคนแก่ในอำเภอด้วย ลุงท่านนี้ยึดอาชีพกรรมกรมา 50 ปี (ทำตั้งแต่ย้ายมาแก่งคอย) ได้เงินวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 – 5,000 บาท จึงยึดอาชีพนี้ตลอด โดยไม่จำเป็นต้องนั่งOffice ก็มีเงินใช้ได้ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าวันไหนมีรถข้าวจากจังหวัดอื่นมาลงข้าว เช่นรถข้าวจากโรงสีมีชัยที่มีกีรอบจะต้องเรียกให้มาลง วันนี้จะได้อยู่ 1,000 บาทเป็นขั้นต่ำ หลังจากลงข้าวเสร็จไปหารับจ้างอื่นๆ อีกเช่นเปลี่ยนสังกะสีบ้าน ขับรถพาคนแก่ที่ขับรถเองไม่ได้ไปทำธุระ ก็มีรายได้เข้าครอบครัวอีก

ในขณะที่น้าอีกท่านหนึ่งอายุ 52 ปี น้าท่านนี้เกิดที่ศรีสะเกษ และมาอยู่แก่งคอยตั้งแต่อายุ 13 ปี ท่านจะมีรถสามล้อเครื่อง (ซาเล้ง) คันหนึ่งไว้วิ่งเที่ยวรับจ้างส่งของให้ทั่วตลาดแก่งคอย และยังเลยไปถึงบ้านช่อง วังกวาง ชะอม เดิมเคยทำงานอยู่บริษัทแห่งหนึ่งในตลาดแก่งคอย แต่ด้วยความที่ไม่ชอบและรู้สึกเบื่อกับงานประจำที่ทำ จึงลาออก แต่ยังส่งประกันสังคมด้วยตัวเองต่อเนื่อง เพื่อไว้ใช้ยามทำงานไม่ได้ น้าท่านนี้เล่าแบบติดตลกว่า อีก 8 ปี น้าก็เกษียณแล้ว เดี๋ยวกินเงินบำนาญแล้ว ที่สำคัญตอนโควิดน้ามีอาชีพอิสระ มีงานทำตลอด ถ้าตอนนี้ยังทำบริษัทอยู่น้าคงโดนให้หยุดงาน ไม่มีเงินใช้แน่

น้านาย อาชีพอิสระ

ด้วยกรรมกร หรือ คนงาน หรือ พนักงานยกของ ซึ่งเป็นอาชีพที่คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจในการเลือกที่จะทำ เพราะงานที่ต้องทำโดยมากมักจะเป็นงานที่เหนื่อย งานที่หนัก ผสมกับความสกปรกและในบางครั้งก็อาจเกิดอันตรายได้ ต่อผู้ปฏิบัติงาน ทำให้งานกลุ่มที่เรามักเรียกเขาว่า Labour นี้เป็นงานที่ต้องพึ่งพาชาวต่างชาติที่ไม่ได้จำเป็นต้องเน้นความรู้ แต่อาศัยการฝึกฝน

ด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่ได้มีโอกาสนั่งคุยกับกรรมกรในแก่งคอย คนใช้แรงงานกลุ่มนี้ได้สิทธิ์ หลายๆอย่างของประเทศไทย ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(บัตรคนจน) สิทธิรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน ทั้งๆที่ไม่ได้ตกงานหรือถูกสั่งหยุดงาน ฯลฯ

คนงาน ปัจจุบันงานประเภทยกของ แบกหาม งานใช้แรงงานโดยมาก ธุรกิจในประเทศไทย ห้าง ร้านต่างๆ มักจะพึ่งพาแรงงานต่างด้าว (พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ซึ่งกลุ่มนี้เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยนาน และไม่ค่อยกลับไปบ้านเกิด จะกลับแต่ละครั้งก็รอประเพณี เช่นประเพณีสงกรานต์ หรือประเพณีขึ้นปีใหม่ ถึงจะกลับบ้านเกิด โดยการหลบหนี และทุกครั้งที่มีการกลับบ้าน ก็มักจะมีคนติดสอย ห้อยตามมาประเทศไทยอยู่เป็นเนืองๆ ซึ่งบุคคลที่ติดสอยห้อยตามมักจะเป็นญาติพี่น้อง บุตร สามี-ภรรยา ที่นำตามกันมา แล้วมาฝากเจ้าของธุรกิจ (เถ่าแก่) ให้ช่วยรับญาติตัวเองเข้าทำงาน

ในจังหวัดสระบุรีก็เช่นกัน มีหลายร้านค้า บริษัท โรงงานต่างๆ ที่ใช้บริการแรงงานต่างด้าว ด้วยความคิดที่ว่าแรงงานต่างด้าว ไม่ค่อยอู้งาน ไม่เกี่ยงงาน ทำงานหนักได้ ต่างจากแรงงานไทยที่มักจะเกี่ยงงาน อู้งาน หาทางเลี่ยง เช่นโรงงานรับทำพรมแห่งหนึ่งในอำเภอแก่งคอย ซึ่งแบ่งเป็น 2 บริษัท บริษัทหนึ่งเป็นบริษัทแม่ โรงงานนี้จะรับเฉพาะแรงงานคนไทยเข้าทำงาน และมีการตั้งสหภาพ เมื่อคนงานคนไหนประท้วงตามสหภาพก็ให้ออก งานไม่มีก็พักงานพนักงาน ในขณะที่บริษัทลูกจะเน้นรับแรงงานต่างด้าว ไม่ได้เน้นฝีมือ แต่เน้นการฝึกฝนจนชำนาญ ซึ่งการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเขามองว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวในการทำงานไม่ค่อยเกี่ยงค่าแรง ได้ผลงานไม่ต่างจากคนไทย และในบ้างครั้งได้มากกว่า เนื่องจากความต่อเนื่องของงาน ทำโดยไม่ได้คิดถึงค่าแรงพิเศษ ซึ่งในฐานะเถ้าแก่มักจะชอบแรงงานประเภทนี้มากกว่า เสียค่าแรงน้อยกว่า ไม่ต้องเสียหลายต่อ สามารถใช้งานได้หลายหน้า

ในทุกวันนี้สภาพเศรษฐกิจที่ธุรกิจกลายๆธุรกิจไม่อาจปฏิเสธแรงงาน เพียงแต่อยู่ที่เจ้าของกิจการจะเลือกทางเดินของธุรกิจของตนเอง ด้วยกิจการทุกกิจการประกอบด้วย ที่ดิน ทุน แรงงาน และผู้ประกอบการ บางคนอาจมองว่า กิจการเล็กๆ แรงงานอาจไม่จำเป็น ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนไม่เถียง เนื่องจากผู้ประกอบการอาจเป็นแรงงานเอง หรือ ในบางครั้งแรงงานอาจไม่ได้เกิดจากการจ้างที่เป็นตัวเงิน แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ เช่นลูก ญาติ พี่ น้อง ค่าจ้างต่างตอบแทนอาจเป็น ค่าเทอม พาทานข้าว ให้ที่อยู่อาศัย พาเที่ยว ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนหนึ่งๆอยากทำงานที่ใดที่หนึ่งในระยะยาวนั้น เกิดจากความพึงพอใจ มากกว่าค่าแรงที่ได้จำนวนมาก ย้อนไปมองสำนวนหนึ่ง “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” น่าจะอธิบายเรื่องแรงจูงใจ[2] ของคนได้พอประมาณ


[1] บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่เดินทางเข้ามาทำงานในแผ่นดินประเทศไทย โดยใช้กำลังกาย ความรู้ ความสามารถ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทน (ค่าจ้างและรายได้อื่นๆ) (สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2561)

[2] แรงจูงใจ คือความพยายามในการหาปัจจัยที่ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของคนในการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด เช่น ทำไมคนจึงขยัน  มานะพากเพียรและปฏิบัติงานได้ดี ทฤษฎีแรงจูงใจเป็นทฤษฎีที่เกิดมาพร้อมกับยุคพฤติกรรมศาสตร์ (วันชัย มีชาติ, 2556)


ข้อมูลเพิ่มเติม

การจัดจ้างแรงงานต่างด้าวในสมัยก่อนทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่เสียเวลา ในปัจจุบันการจะกระทำการจ้างแรงงานต่างด้าว ทำได้ไม่ง่าย ด้วยระบบที่มีข้อกำหนดยุ่งยาก ซับซ้อน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่ามีระบบการทำแบบ ONE STOP SERVICE แต่การจะทำในแต่ละครั้ง นายจ้างแทบจะต้องเสียเวลาเป็นวัน เพื่อเดินเอกสารของลูกจ้าง บางเคสถึงขั้นเสียเวลา 15 - 30 วัน ก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อความสะดวกสบายของนายจ้าง ขอแนะนำให้จ้าง Anency เพื่อวิ่งเรื่องให้จะสะดวกและง่ายกว่า เนื่องจากทางผู้กระทำหรือบริษัท มีลู่ทางที่จะเดินเอกสาร จัดทำ และมีโครงข่ายที่ทำให้นายจ้างแทบจะไม่เสียเวลาในการทำงานเลย

กรณีการโอนย้าย เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่มีเรื่องของการเสียเวลาเช่นกัน แต่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการเริ่มจัดทำเอกสารใหม่ เพียงแค่

1. นายจ้างไปที่กรมการจัดหางานจังหวัดที่ตั้งของสถานประกอบการ

เพื่อ - ขอข้อมูลเอกสาร

- ยืนประกาศรับสมัครคน (15 วัน)

2. ติดต่อกับต้นสังกัดเดิมที่พนักงานจะโอนย้ายมา เพื่อประสานงาน

3. เมื่อได้หนังสือการยื่นประกาศรับสมัครพนักงานที่กรมการจัดหางานออกให้ ก็เดินทางไปที่กรมการจัดหางานจังหวัดของต้นสังกัดเดิมของลูกจ้างที่จะมาอยู่ด้วย เพื่อทำการโอนย้ายลูกจ้าง

4. นำเอกสารที่ได้จากกรมการจัดหางานที่ต้นสังกัดเดิมของลูกจ้างมายื่นที่กรมการจัดหางาน ณ จังหวัดที่สถานประกอบการตนเอง

5. นำเอกสารที่ได้จากกรมการจัดหางานใหม่มายื่นที่อำเภอที่ทำการนำลูกจ้างโอนย้ายเข้ามาอยู่ในทพเบียนบ้านที่ตนเองรับรอง

*** สิ่งที่นายจ้างควรรู้

ปัจจุบันลูกจ้างต่างด้าวถูกบังคับให้ทำประกันสังคมเสมือนขึ้นทะเบียนเป็นคนไทย ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับลูกจ้างคนไทย

.....................................................................................................................................................................................................

*** อย่าลืม ***

การรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อยืนยันตัวตนของลูกจ้าง


Bibliography

Johns Hopkins university. (2563, July 15). รวบรวมข้อมูลโควิด-19 จากองค์การอนามัยโลก. Retrieved from coronavirus.jhu.edu: https://coronavirus.jhu.edu/map.html

ไทยรัฐออนไลน์. (2563, กรกฎาคม 22). โรงงานชลบุรี สั่งปลดพนักงานกว่า 1 พันคน เซ่นพิษวิกฤติ โควิด-19. Retrieved from www.thairath.co.th: https://www.thairath.co.th/news/society/1823149

วันชัย มีชาติ. (2556). การบริหารองค์กร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักข่าว Mcot. (2563, กรกฎาคม 22). โรงงานปลดพนักงานซับคอนแทคกลางอากาศกว่าพันคน เซ่นพิษ ศก.-โควิด. Retrieved from www.mcot.net: https://www.mcot.net/viewtna/5e9908bfe3f8e40af142f1a0

สำนักพิมพ์ข่าวสด. (2563, กรกฎาคม 12). วิกฤตโควิดพ่นพิษ จากกัปตันนักบิน ผันตัวมาขับแกร็บฟู้ด เมินดราม่าชาวเน็ตจับผิด. Retrieved เมษายน 22, 2563, from ข่าวสดออนไลน์: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3997665

สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2561). เอกสารวิชาการ Academic Focus การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.


รูปภาพประกอบ

รูปปก         :   โดยผู้เขียน

รูปภาพที่ 1 :    ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ข่าวสด

รูปภาพที่ 2 :    ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปภาพที่ 3 :    ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปภาพที่ 4 :    ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปภาพที่ 5 :    ถ่ายโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เรื่อยเปื่อย
เรื่อยเปื่อย
อ่านบทความอื่นจาก เรื่อยเปื่อย

ใช้เวลาว่างๆนั่งเขียน ตามสไตล์คนชิวๆ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์