อื่นๆ

ข้อคิดที่ได้จากผึ้ง

2.0k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ข้อคิดที่ได้จากผึ้ง

ขยันหากิน บินไม่สูง รักความสะอาด ฉลาดสะสม นิยมสามัคคี (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

ผึ้งแมลงชนิดหนึ่งที่เราทุกคนรู้จักกันดี เพราะเรามักจะชอบลิ้มรสน้ำหวานของมันที่มีรสชาติหวานหอมอร่อย แถมยังมีสรรพคุณทางยาไม่น้อย ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ไปเข้าค่ายที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเมื่อสมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งชาวบ้านที่อยู่บ้านแห่งนั้นมีอาชีพเสริมคือการเลี้ยงผึ้งเพื่อเอาน้ำหวาน ผู้เขียนได้ใช้ช่วงเวลานั้นสังเกตพฤติกรรมของผึ้งโดยบังเอิญ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นข้อคิดหลาย ๆ อย่างของกิจกรรมของผึ้งในแต่ละวัน ซึ่งข้อคิดเรานี้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้จริง ๆ ต่อมาภายหลังผู้เขียนได้อ่านเจอในบทความธรรมะของหลวงพ่อจรัญ ที่สรุปเป็นคำคล้องจองไว้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกมาขยายความเพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้ที่สนใจ เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้นำไปปฏิบัติดังนี้

Advertisement

Advertisement

ผึ้ง ภาพโดย Hans Benn จาก Pixabay

ขยันหากิน สิ่งแรกที่ผู้เขียนสังเกตเห็นคือผึ้งไม่เคยหยุดทำงาน ผึ้งแต่ละตัวมีหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเห็นหน้าที่ในการหาน้ำหวานสะสมอาหาร หน้าที่ในการขยายพันธุ์ หน้าที่ในการสร้างรังให้อาหารตัวอ่อน หรือแม้กระทั่งหน้าที่ในการปกป้องรังของพวกมัน ซึ่งแต่จะตัวก็จะทำหน้าที่ของมันอย่างขยันแข็ง ราวกับมันรู้ว่าการทำงานคือชีวิตของพวกมัน เพราะถ้าไม่ทำงานพวกมันก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และตายไปในที่สุด ก็เปรียบเหมือนกับคนที่ไม่ว่าจะยากมีดีจนแค่ไหน ก็ต้องรู้จักขยันทำมาหากิน เพื่อเลี้ยงชีวิตเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด หากใครเกียจคร้านละทิ้งการงานก็จะต้องอดอยากหรือไม่ก็เป็นภาระของคนอื่น ซึ่งผึ้งก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทุกคนต้องรู้จักขยันทำมาหากิน

ผึ้ง ภาพโดย Mabel Amber, still incognito... จาก Pixabay

Advertisement

Advertisement

บินไม่สูง ผึ้งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่บินได้ไม่สูง เพราะปีกของมันเล็กและบาง หากมันบินสูงเกินไปอาจไม่สามารถต้านทานแรงลมทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวมันได้ ซึ่งก็เหมือนว่าผึ้งเองก็จะรู้ในธรรมชาติของตัวมันดี มันจึงบินในระดับที่มันพอจะบินได้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิต นั่นก็ไม่ต่างจากคนเราที่ต้องรู้จักถ่อมตัวให้อยู่ในระดับที่พอประมาณ ไม่ทำสิ่งใดเกินตัวเกินกำลังความสามารถของตัวเอง รวมถึงรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องรู้จักประมาณตัวเองให้เห็นความเป็นจริง หากฝืนทำในสิ่งที่ไม่เหมาะกับตนย่อมที่จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ผึ้ง ภาพโดย PollyDot จาก Pixabay

รักความสะอาด แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ของผึ้งนั้น จำเป็นต้องรักษาความสะอาดภายในรังของพวกมันเป็นอย่างดี ผู้เขียนสังเกตเห็นวิธีการของผึ้งที่แบ่งหน้าที่กันทำความสะอาด กันอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้น้ำหวานที่เก็บสะสมไว้เสีย และเพื่อให้ตัวอ่อนเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  ซึ่งเรื่องของสุขอนามัยก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนเรา เพราะจะส่งผลต่อเรื่องสุขภาพ และภาพพจน์ของแต่ละบุคคล และจากที่ผู้เขียนสังเกตผึ้งไม่เคยละเลยเรื่องความสะอาดเลย

Advertisement

Advertisement

ฉลาดสะสม แน่นอนว่าผึ้งมีวิธีในการสะสมน้ำหวานอย่างชาญฉลาด ถึงแม้ว่าผึ้งงานแต่ละตัวจะสามารถเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ได้ทีละนิด แต่พวกมันก็ค่อย ๆ สะสมทีละเล็กละน้อยจนได้น้ำผึ้งจำนวนมหาศาล ซึ่งหากมันไม่รู้จักเก็บสะสมน้ำหวาน เพียงแต่หากินไปวัน ๆ พวกมันก็จะไม่สามารถมีน้ำหวานไว้กินในช่วงที่ไม่มีดอกไม้ให้เก็บน้ำหวาน และพวกลูกหลานของมันก็จะอดกินและพากันหิวตาย  ดั่งเหมือนกับคนเราหากไม่รู้จักเก็บเล็กผสมน้อย ในภายภาคหน้าก็จะลำบากและไม่มีสมบัติทรัพย์สินอยู่เลย เพราะหาได้เท่าไรมีเท่าไรก็ใช้หมด เมื่อถึงยามจำเป็นก็ต้องหาหยิบยืมเป็นหนี้เป็นสินจนชีวิตย่ำแย่ หากเรามองผึ้งเป็นตัวอย่างในการรู้จักเก็บสะสมถึงแม้จะทำได้ทีนะน้อย แต่ทำอย่างสม่ำเสมอมันก็จะพอกพูนเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในยามที่จำเป็น

หลอน ภาพโดย PollyDot จาก Pixabay

นิยมสามัคคี ผึ้งเป็นเพียงแมลงตัวเล็ก ๆ เมื่อเจอศัตรูที่ตัวใหญ่หรือแข็งแรงกว่า ก็ยากที่พวกมันจะต่อสู้ตามลำพังได้ และพวกมันก็ตระหนักดีว่า ถึงแม้พวกมันจะตัวเล็กแต่ถ้าร่วมมือกันด้วยความสามัคคี ก็จะทำให้พวกมันสามารถขับไล่ศัตรูที่มารุกรานได้ เมื่อใดก็ตามที่พวกมันร่วมมือกันต่อให้เป็นหมีตัวใหญ่ก็ต้องยอมแพ้และหนีออกจากรังของมัน  คนเราก็เช่นกันหากองค์กรไหนรู้รักสามัคคี องค์กรนั้นก็จะเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง แต่หากเมื่อใดที่ขาดความสามัคคีย่อมขาดความมั่นคงพร้อมจะเกิดหายนะได้ทุกเมื่อ


นี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ผู้เกิดได้รับแนวคิดมาจากการสังเกตจากสิ่งที่เห็น ซึ่งก็ทำให้ผู้เขียนตระหนักได้ว่าธรรมชาติสร้างทุกสิ่งที่สมดุลไว้แล้ว เพียงแต่เราต้องเข้าใจธรรมชาติและใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพที่เราเป็น จึงจะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์