ไลฟ์แฮ็ก

5 + 1 เคล็ดลับ สำหรับคนขายเสียง

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 + 1 เคล็ดลับ สำหรับคนขายเสียง

เมื่อเอ่ยถึงสมญาแห่งอาชีพ "คนขายเสียง" ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง  หลายคนคงนึกถึงนักร้อง ศิลปินในสาขาศิลปะการแสดงที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำเสียงขับกล่อมให้เกิดความบันเทิง  แต่ที่จริงแล้ว งานที่มีลักษณะ "ขายเสียง" มีมากกว่านั้น  เพราะหากมองในมุมกว้าง ก็น่าจะหมายความรวมถึงการทำงานที่ต้องอาศัยน้ำเสียงในการถ่ายทอดผลงานออกมา  ไม่ว่าจะเป็นพิธีกร วิทยากร  ครูอาจารย์ นักบรรยาย นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ และอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เสียงเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จ และส่วนใหญ่ก็จะได้รับเงินค่าตอบแทนความสำเร็จของงานนั้น

ผู้เขียนเองก็เคยมีโอกาสทำงานในลักษณะดังกล่าว แม้จะทำในลักษณะที่เป็นงานอดิเรก แต่หลายครั้งก็ได้รับค่าตอบแทน  จึงคงไม่ผิดหากจะเอ่ยอ้างว่าตนเคยมีประสบการณ์ "ขายเสียง" มาอยู่บ้าง  และถึงแม้จะไม่ได้ทำเป็นงานหลัก อีกทั้งก็ไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นผู้มีน้ำเสียงดีเด่นเป็นพิเศษกว่าคนอื่น  หากแต่ด้วยความชื่นชอบลักษณะงาน และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา  ทำให้ค้นพบเทคนิคในการดูแลรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เสียง ซึ่งขอนำมาแบ่งปันกันในวันนี้

Advertisement

Advertisement

เทคนิคและเคล็ดลับในการดูแลรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพเสียง ตามแบบฉบับที่ผู้เขียนเคยทำและได้ผลดี มีดังนี้

ออกกำลังกายขยายปอด(ภาพโดย Free photo จาก Pixabay.com)


ประการแรก  การออกกำลังกาย ก่อให้เกิดผลโดยตรงคือ สุขภาพร่างกายและปอดแข็งแรง  ปอดขยายใหญ่ กักเก็บลมหายใจได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการใช้ลมหายในการก่อให้เกิดพลังเสียงที่หนักแน่น  ไม่เหนื่อยง่ายเวลาที่ต้องใช้เสียงมากหรือใช้เสียงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน  โดยรูปแบบการออกกำลังกายที่แนะนำ คือ การออกกำลังกายที่กระตุ้นให้ปอดและหัวใจได้ทำงานอย่างเต็มที่  แต่ไม่หักโหมหรือหนักหน่วงเกินไป  เช่น การวิ่งระยะไกล  การปั่นจักรยาน  การว่ายน้ำ เป็นต้น

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ(ภาพโดย yanalya จาก Freepik.com)


ประการที่สอง พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันความอ่อนล้าหรือความเจ็บป่วยของร่างกาย อันจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของน้ำเสียงด้วย  ดังที่หลายคนคงจะเคยสังเกตตัวเองว่า ช่วงเวลาใดที่พักผ่อนน้อย จะรู้สึกได้ว่ากลไกแต่ละส่วนของร่างกายทำงานไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์  ซึ่งหากมีอาการหนักกว่านั้นอาจถึงขั้นรู้สึกเจ็บป่วย อันจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายถดถอย รวมถึงการทำงานของแก้วเสียงของเราด้วย  ดังนั้น การพักผ่อนที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ จึงต้องกระทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพอเหมาะ เพื่อสร้างสมดุลและความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพเสียง

Advertisement

Advertisement

ประการที่สาม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มและอาหารบางประเภทที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเสียง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม  อาหารทอด อาหารที่มีความมัน เป็นต้น ขอให้สังเกตว่า ผู้เขียนแนะนำโดยใช้คำว่า "หลีกเลี่ยง" ไม่ถึงกับให้ "งดเว้น"  เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องถึงกับงดเว้นเด็ดขาดเสียทีเดียว  และหลายคนอาจจะแย้งว่า ไม่น่าจะส่งผลอะไรมากมาย  แต่สำหรับผู้เขียนเคยประสบกับตัวเองมาครั้งหนึ่ง  เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ผู้เขียนได้รับอนุญาตให้ลาอุปสมบท ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งในตอนนั้นคือ การที่ตนเองท่องจำบทสวดและเปล่งเสียงสวดมนต์ได้อย่างมั่นใจและมีพลัง เมื่อได้รับการนิมนต์ให้ร่วมเจริญหรือสวดพระพุทธมนต์ในงานพิธีต่าง ๆ ก็จะใช้เสียงอย่างเต็มที่  แต่มีงานพิธีหนึ่ง ซึ่งเจ้าภาพนำน้ำอัดลมมาถวายก่อนขึ้นสวด ผู้เขียนก็รับมาดื่มโดยไม่ทันคิดอะไร แต่เมื่อถึงเวลาก็รู้สึกได้ว่า น้ำอัดลมที่ดื่มเข้าไปก่อนหน้านั้นทำให้เกิดอาการระคายคออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ใช้เสียงได้ไม่เต็มที่ หลังจากนั้นมา แม้จะลาสิกขามาแล้ว ผู้เขียนก็ยังจดจำเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งว่า กรณีมีงานต้องใช้พลังเสียง ต้องงดเว้นน้ำอัดลมก่อนเริ่มงาน เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก

Advertisement

Advertisement

ประการที่สี่  ท่องอาขยานและอ่านทำนองเสนาะ ก็คือ การท่องหรืออ่านออกเสียงบทประพันธ์ บทร้อยกรอง ในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนมัธยมศึกษา (หรือจะย้อนไปถึงประถมศึกษาก็ได้ไม่ว่ากัน ^^)  วิธีนี้มีส่วนช่วยได้นะครับ  เพราะบรรดาบทประพันธ์ บทร้อยกรองเหล่านั้น ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความงดงามด้านภาษา บางบทสามารถใช้เป็นแบบฝึกออกเสียงภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงควบกล้ำ ออกเสียงผันตามวรรณยุกต์ หรือออกเสียงตามหลักภาษาไทยอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ ด้วยเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาไทย ที่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ หากมีการฝึกในลักษณะท่องหรืออ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะ  ก็จะเป็นทักษะพื้นฐานของการออกเสียงเป็นทำนองอย่างไพเราะ  อย่างที่นักร้องศิลปินบางคนก็เคยผ่านการฝึกฝนทักษะการอ่านทำนองเสนาะมาก่อน)

ท่องอาขยาน (ภาพโดยPublicDomainPicturesจาก Pixabay )


ประการที่ห้า การสวดมนต์  ก็มีส่วนช่วยฝึกการออกเสียงเช่นเดียวกับการท่องอาขยานหรืออ่านทำนองเสนาะที่กล่าวในข้อที่แล้ว  ซึ่งผู้เขียนมองว่า เป็นเหมือนแบบฝึกในระดับเหนือขึ้นไป  เนื่องจากบทสวดมนต์เป็นภาษาบาลี สันสกฤต (หรือภาษาอื่น ๆ ตามแต่ละศาสนา) ซึ่งปกติแล้วจะไม่คุ้นเคยต่อการออกเสียงเท่าภาษาไทยที่ใช้ประจำ  แต่ถ้าฝึกได้จนคล่องหรือคุ้นชิน  ก็จะเป็นการเสริมสร้างทักษะการออกเสียงได้อีกทางหนึ่ง  เหมือนการออกกำลังกายด้วยท่าทางที่หลากหลาย ก็ย่อมจะส่งเสริมให้เกิดความแข็งแรงได้มากขึ้น  โดยบทสวดที่แนะนำ  ผู้อ่านที่นับถือศาสนาพุทธ อาจจะสวดบทหลักที่สวดกันเป็นประจำ เช่น บทอิติปิโสฯ พาหุงมหากา บทสวดเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และอาจจะเพิ่มเติมบางบทที่ผู้เขียนเห็นว่า มีทำนองการสวดเฉพาะตัวที่ไพเราะ และสามารถใช้ฝึกการออกเสียงเป็นท่วงทำนองได้ดี เช่น บทป้องกันภัยสิบทิศของพระอาจารย์ฝั้น (ที่ขึ้นต้นว่า บูรพารัสมิงฯ ) บทจุลชัยยะมงคล (ที่ขึ้นต้นว่า นะโม เม พุทธะเตชะสาฯ) หรือบทอื่น ๆ ตามความชื่นชอบของแต่ละคน

ทั้งห้าแนวทางที่กล่าวมา เป็นวิธีการที่ผู้เขียนเคยทดลองใช้แล้วเห็นว่าได้ผลน่าพอใจ ในการดูแลรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพของเสียงสำหรับใช้งาน  ทำให้คุณภาพเสียงได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นได้

และนอกจากนี้ ผู้เขียนแถมท้ายด้วยแนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการทำให้เป็นผู้มีน้ำเสียงอันมีเสน่ห์  ที่คนเฒ่าคนแก่สอนกันต่อ ๆ มา นัยว่าเป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมตามหลักศาสนา คือ กรรมที่ทำให้เป็นผู้มีน้ำเสียงก้องกังวาน ไพเราะ นั้น เกิดจากการใช้คำพูดในทางที่ดี  ไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียดให้ร้ายคนอื่น ไม่ด่าว่า นินทาใคร และใช้คำพูดในทางที่เกิดประโยชน์ เช่น อบรมสั่งสอนผู้อื่นในเรื่องที่ดี  มีความเชื่อว่า การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดเป็นคนมีน้ำเสียงดี มีคุณภาพ ผู้เขียนจึงคิดว่า น่าจะเป็นเกร็ดวิธีการแถมท้ายสำหรับคนที่อยากเสริมสร้างคุณภาพของเสียงในอนาคต ก็ลองเพิ่มเติมวิธีการนี้ได้ ไม่น่าจะเสียหายอะไร

และสิ่งสำคัญอีกประการที่อยากจะฝากไว้ คือ หากปัจจุบันคุณมีคุณภาพเสียงที่ดีอยู่แล้ว ก็ขอให้ใช้เสียงนั้นในทางที่เกิดประโยชน์ เพราะหากใช้ในทางตรงข้าม  ก็อาจจะก่อให้เกิดโทษได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และคงเป็นที่น่าเสียดายแก้วเสียงดี ๆ นั้น



ภาพปกบทความ โดย Jannoon028 จาก Freepik.com

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์