อื่นๆ

ชีวิต....วิทยากร

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ชีวิต....วิทยากร

TrueID In-Trendฉบับที่ 1 ชีวิต.....วิทยากร

โดย ลุงแอ็ด ถาวรมาศ

เห็นมีคนถามมาเยอะ ว่าลุงแอ็ด อายุอานามก็ไม่น้อย ตอนนี้ทำงานเป็นวิทยากรมา 30 กว่าปี เหนื่อยมั้ย เบื่อมั้ย วิทยากรทำเป็นอาชีพได้หรือ เอาเรื่องอะไรมาพูดตั้ง 5-6 ชั่วโมง .... ก็ดีเหมือนกันครับ ที่จะได้เอา "ชีวิต...วิทยากร" มาเล่าสู่กันฟัง หากมีท่านผู้ใดที่ลุงแอ็ดพาดพิงถึง ก็ขอให้เข้าใจนะครับว่า ลุงไม่ได้มีเจตนาอะไร เพียงแต่กล่าวถึงเพื่อให้เห็นภาพพจน์ และด้วยความนิยมชมชอบเท่านั้นเองครับ

ก็ขอเริ่มต้นว่า เมื่อประมาณปี 2510 ที่ลุงเริ่มบรรยายนั้น สมัยนั้น เขายังไม่เรียกว่า "วิทยากร" แต่จะเรียกอย่างไร ลุงก็ไม่รู้ ลุงขณะนั้น เป็นซีเนียร์เซลล์ที่บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ได้รับโปรโมทให้ไปขาย "เครื่องจักรทำบัญชี" ซึ่งราคาสูงมาก ประมาณเครื่องละหนึ่งแสนบาท (ขณะที่ทองราคาบาทละ 400 บาท) ลุงได้รับมอบหมายให้ไปขายธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งการขายเครื่องจักรลงบัญชีสมัยนั้น ธนาคารเขามีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการจัดซื้อ เพื่อจะซื้อของยี่ห้อใด ก็จะได้ใช้สำหรับสาขาเหมือนๆ กัน การขายจึงสนุกสนานมากๆ ที่จะต้องขายแข่งกับยี่ห้อดังๆ เช่น NCR ของบริษัท เคี่ยนหงวน, Olivetti ของบริษัท ล๊อกซเล่ย์ และอีกสามสี่ยี่ห้อ

Advertisement

Advertisement

ในการที่จะให้ได้ Order มาคราวละ 5-10 เครื่องนั้น (ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท..ในสมัยนั้น ไม่ใช่ของที่ทำได้ง่ายๆ นะครับ) เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษหลายอย่าง นอกจากเรื่องเทคนิคการขายแล้ว มีอีกเรื่องหนึ่ง คือ "การพูดต่อหน้าชุมนุมชน" ซึ่งลุงจะต้องพูด บรรยายให้คณะกรรมการจัดซื้อฟัง ถ้าบรรยายให้เขาเห็นภาพพจน์ไม่ได้ ก็ขายไม่ได้

ยิบอินซอย - นายธนาคารกำลังสนใจการสาธิตเครื่องของคุณอมร

ลุงจึงเห็นว่า "การพูดต่อหน้าชุมนุมชน" นี่เป็นเรื่องจำเป็น การที่จะให้บริษัทส่งพนักงานไปอบรมนอกบริษัทนั้น อย่าหวังเลย เพราะไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ลุงก็ค้นอาตำราของเดล คาเนกี มาอ่าน ก็พอจะได้ความรู้บ้าง แต่มันไม่จุใจ พอดีตอนนั้น อาจารย์จรูญ สุภาพ ท่านกำลังเปิดการอบรมเรื่อง "การพูดแบบการทูต" ถึงแม้ว่ามันไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่จะเข้าฟัง แต่ลุงก็ไปเข้าเรียนกับเขาโดยจ่าย สตังค์เอง โอ้ยโห.... โดนเลยครับ โดนใจที่สุด...เรียนอยู่หลายวัน มีการฝึกให้ออกไปพูดหน้าชั้น ฝึกกันจนลุงได้ถ้วยรางวัลมาใบหนึ่ง....เป็นถ้วยรางวัลชนะเลิศในการประกวดการพูดงวดสุดท้าย (ตอนนั้น ยังไม่รู้จัก "ศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพ" ของอาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ นะครับ)

Advertisement

Advertisement

แต่การไปร่ำเรียนวิชาอะไรมา ถ้าไม่นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และไม่ได้ฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะลืม ที่นี้...ถึงแม้ลุงจะไปเรียนวิชาการพูดมาแล้ว ได้พูดประกวดจนชนะได้ถ้วยรางวัลมาแล้ว แต่เวลาทำ Presentation ทีไร เป็นเหงื่อซิก ขาสั่นทุกทีไป อย่ากระนั้นเลย เราไปหาเวทีพูดดีกว่า ...

ท่านผู้อ่านครับ จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดในการจะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่ง เราต้องแสวงหาทุกๆ อย่างที่จะเป็นเวทีให้เราฝึกซ้อม ฝึกการพูด และลุงก็ได้โรงเรียนพณิชยการพระนคร สถาบันที่ลุงจบ ปวช. ออกมานั่นเอง ลุงไปขออาจารย์ที่เคยสอนมา เรียนท่านว่า "ตอนนี้ ผมทำงานได้เป็นซีเนียร์แล้วนะครับ อาจารย์ครับ ผมอยากมาถ่ายทอดวิชาการขาย และการทำบัญชีด้วยเครื่องจักรให้น้องๆ แผนกขายและแผนกบัญชีฟัง ฟรี ครับ ฟรี ไม่คิดอะไรเลยจริงๆ" และลุงก็ได้ไปบรรยายที่โรงเรียนพณิชยการพระนคร เป็นเวทีสำหรับฝึกซ้อมการเตรียมตัว การเริ่มกล่าวทักทาย การเข้าเนื้อหาสาระ การแทรกมุกขบขันที่ทำให้นักเรียนไม่เบื่อ และนั่นก็คือ "จุดเริ่มต้น" ของลุงแอ็ดในการเป็น "วิทยากร" ในอีก 30 ปีต่อมา

Advertisement

Advertisement

ยิบอินซอย - ลุงแอ็ด เมื่อเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ในอดีต อาชีพ "วิทยากร" นี้ เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีนี้เอง ในสมัยก่อน ท่านอาจารย์ทินวัฒน์เคยเล่าว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อมีคนถามว่า ประกอบอาชีพอะไร ท่านอาจารย์ทินวัฒน์ก็บอกว่า เป็น "นักพูด" ผู้ฟังก็ทำหน้าประหลาดใจ ว่า อาชีพ "นักพูด" นั้นมีด้วยหรือ ทุกคนก็พูดเป็นกันทุกคน แล้วเจ้าอาชีพนี้ เขาทำอย่างไรกัน อาจารย์ก็ต้องอธิบายเป็นวรรคเป็นเวรว่า เจ้าอาชีพนี้ ก็หมายความว่า "มีคนเขาจ้างให้ไปพูด" ครั้งละครึ่งวันบ้าง เต็มวันบ้าง"....คนถามก็พยักหน้าหงึกๆ แล้วก็ถามว่า "เขาจ้างไปพูดเรื่องอะไรกัน" ก็ตอบว่า "ก็แล้วแต่เขามีปัญหาอะไร ก็จ้างให้เราไปพูดเรื่องที่เขาอยากรู้ เรื่องที่อยากให้เราไปแก้ปัญหาให้".....คนถามก็พยักหน้าหงึกๆ อีก .... แล้วตอบว่า "เอาละครับ...ผมเข้าใจแล้ว"

แล้วก็จากไปด้วยปัญหาที่มันยังคาอกอยู่ว่า ไอ้เจ้าอาชีพ "นักพูด" นี้ มันทำอะไรของมันวะ เรื่องอาชีพ "วิทยากร" นี้ก็เหมือนกัน แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ หลายคนก็ยังไม่เข้าใจ ลุงแอ็ดไปกรอกใบสมัครเข้ากองทุนสงเคราะห์คนชรา (เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนเป็น "ผู้สูงอายุ" แล้วก็เพิ่งจะเปลี่ยนใหม่ เป็นว่า "ผู้ชำนาญวัย" ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้มันมีคำที่ฟังไม่รู้เรื่องมากเข้า) โดยเขียนในช่องอาชีพว่า "วิทยากร" เจ้าหน้าที่เขาก็เรียกไปถามว่า "หมายความว่าอย่างไร...ทำมาหากินอะไร" ลุงแอ็ดก็ต้องจำคำตอบที่อาจารย์ทินวัฒน์เคยเล่าให้ฟังเมื่อ 20 ปีก่อนนี้มาตอบ แต่เปลี่ยนจาก "นักพูด" เป็น "วิทยากร".....แล้วก็ได้ผลเหมือนกัน คือ คนถามก็พยักหน้าหงึกๆ แล้วบอกว่า...เอาละ เป็นวิทยากร ก็วิทยากร.. ก็คงเหมือนกับเมื่อครั้งอดีตที่ว่า อาชีพนี้มันทำอะไรของมันวะ

แล้วนี้ก็มีอาชีพใหม่เอี่ยม ชื่อว่า "โค้ช" แล้วยังใส่นำหน้านามเสียด้วยว่า โค้ชนั่น โค้ชนี่ อ่านคำอธิบายความหมายของอาชีพแล้ว ก็เห็นจะครือๆ กันกับ "นักพูด" หรือ "วิทยากร" แต่คงมีอะไรพิสดารกว่า มโหระทึกกว่า หลากหลายกว่า ... ก็ยังไม่เคยไปเข้าสัมมนาสักทีว่า อาชีพ "โค้ช" นี่เขาทำอะไรกันบ้าง แต่นึกๆ ไปแล้ว ก็คงจะไม่ต้อง..เพราะลูกศิษย์ ลูกหาที่เป็น "โค้ช" อยุ่ใน FB นี้ก็เยอะแยะไป...เดี๋ยวคงมาเล่าให้ฟังเองละว่า "อาชีพนี้" เขาทำอะไรกัน ลุงก็บากบั่น ไปเป็น "วิทยากร" ประจำโรงเรียนพณิชยการพระนคร "ฟรี" เป็นเวลาหลายเดือน บางทีก็ใช้เวลาในการทำงานบ้าง (หนีงานไปพูด..ว่างั้นเถอะ) เงินก็ไม่ได้ เพราะถ้าจะเอาเงิน มันต้องทำเรื่องอะไรต่อมิอะไรขออนุมัติกันมากมาย และลุงไม่คิดอยากจะได้เงินอยู่แล้ว เพราะถ้าได้ตอนนั้นก็คงจะได้ประมาณ 20-30 บาทต่อชั่วโมง..จิ๊บจ้อย...แต่ลุงอยากได้ประสบการณ์มากกว่า .... ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะถ้าไม่ได้ประสบการณ์คราวนั้น ก็ไม่ได้หากินในอาชีพ "วิทยากร" จนถึงขณะนี้

ยิบอินซอย - คุณอมร กำลังอธิบายระบบเล็ดเยอร์คาร์ดให้ลูกค้าฟัง

แต่เป็นที่น่าประหลาดก็คือ "ลุงจะใส่สูท" ไปพูดเป็นประจำ (สมัยก่อน..คนใส่สูทนั้น ต้องเป็นผู้ใหญ่ เป็นเจ้าคนนายคนแล้ว เด็กๆ อย่างลุงเขาไม่ใส่กันหรอก) แม้กระทั่งที่โรงเรียนพณิชยการพระนคร ทั้งๆ ที่อาจารย์เขาก็บอกว่า "ไม่ต้องใส่สูทก็ได้ คุณอมร มันร้อน และโรงเรียนก็ไม่มีแอร์ให้" (ก็บรรยายมันทั้ง ไม่มีแอร์อย่างงั้นแหละ ร้อนก็ร้อนวะ...พอบรรยายเสร็จ จะมานั่งพัก ค่อยถอดสูทออก..เหงื่อนี่ไหลพลั๊กๆ) ที่้ต้องใส่สูทบรรยาย ลุงพอจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายได้ว่า

1. จากรูปที่ท่านได้เห็นในตอนที่แล้ว ท่านจะเห็นได้ว่า ลุงใส่สูทตลอด เพราะเราขายเครื่องจักรทำบัญชีทีละห้าแสน ทีละล้านบาท (เงินสมัยก่อน ที่ทองยังบาทละ 400 อยู่) แต่ดูหน้าตาคนขายแล้ว มันหน้าเด็กเหลือเกิน...(ก็อายุแค่ 22 ขวบเอง...จะให้แก่ไปถึงไหน) ความน่าเชื่อถือก็ไม่มี ยิ่งไปพูดให้ท่านผู้อาวุโส อย่างเช่น (ขออนุญาตเอ่ยนาม) คุณชนะ รุ่งแสง, คุณเคารพ นุชนารถ, หม่อมอุ๊ย (ใครก็ไม่ทราบ...แต่ชื่อคุ้นๆ 555) ฟังอย่างนี้ มันจะต้องได้รับความเชื่อถือ ความเชื่อมั่น...เป็นประการแรก คือเชื่อในคนที่พูดๆ ก่อน แล้วเขาจึงจะเชื่อในบริษัท และต่อมาก็เชื่อในคุณภาพของสินค้าที่เสนอขาย..สมัยก่อน จะทำหน้า ดึงตาให้ดูอาวุโส (แก่ขึ้น..) มันก็ยังไม่มี ดังนั้น ลุงเลยยอมลงทุน ตัดสูทใส่เมื่อเวลาไปหาลูกค้ามันเสียเลย...และก็ใส่สูทติดเป็นประจำจนถึงวันนี้

ยิบอินซอย - อมร ถาวรมาศ พนักงานขายของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด

2. การที่ลุงขับรถปรือ..ออกจากบริษัทฯ ทั้งๆ ที่ยังใส่สูทอยู่นั้น เป็นที่น่าจะทำให้เป็นที่เชื่อถือแก่นายได้ว่า "คุณอมรออกไปหาลูกค้า..." ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว คุณอมรมีชั่วโมงสอนในวันนั้น

3. ลุงแอ็ดได้มี "ความประทับใจในครั้งแรก" (The First Impression) ตอนที่ยังเรียนวิชาการขาย อยู่ในโรงเรียน ในขณะที่มีวิทยากรจากภายนอก เข้ามาบรรยายให้เด็กนักเรียนรุ่นเปี๊ยก ที่นั่งตาแป๊วจ้องมองว่า "....คนอะไรวะ หล่ออิบอ๋ายเลย ใส่เสื้อแขนยาวสีขาว ติดกระดุมเบิ้ลที่ปลายแขนเสื้อ ผูกเนคไทสีแดงอ่อน มีที่คาดเนคไทดูเรียบร้อย ใส่สูทเป็นชุดสีน้ำเงินเข้ม ผมเผ้าทันสมัย" ...ออกมายืนพูด บรรยายให้เด็กฟังๆ ได้เป็นชั่วโมง โดยไม่ทำให้เด็กเบื่อ จนเกิดความประทับใจแก่ลุงแอ็ดเป็นอย่างยิ่ง ภาพเหล่านี้ ยังจำติดตาลุงแอ็ดได้อยู่จนถึงบัดนี้....และนั่น คือ "ความประทับใจ" ที่ลุงแอ็ดอยากเป็นเซลล์ และก็ได้เป็นสมความตั้งใจ และเป็นมาถึงปัจจุบันนี้

ที่ลุงเล่ามานี้ ก็คงทำให้ท่านเห็นได้ว่า คำว่า The First Impression นั้น มีความสำคัญอย่างไร...แล้วมันก็ทำให้เกิดเป็น Passion ที่ทำให้ลุงขายตัวเองได้จนถึงบัดนี้ ...Work = Expression of Me (วันนี้ กำลังอ่านเรื่อง...สร้างล้านแรกต้องแหกกฎ...(The Risk Taker & IDOL making) ของคุณภาววิทย์ กลิ่นประทุม และ ดร.ต้อง "The Filter" อยู่) วันหลัง จะเอามาเล่าให้ฟังขอรับ

ลุงแอ็ด ถาวรมาศ (นายอมร  ถาวรมาศ)

152/9 ถนนนนทบุรี 1 อ.เมือง จ. นนทบุรี 11000

E- Mail : [email protected]

Line ID : AMORNTAR  Tel : 081 619 8071

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์