อื่นๆ

แม่คือประตูสู่โลก

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
แม่คือประตูสู่โลก

ปัจจุบันร้อยละ   48  ของคุณแม่จะคลอดลูกโดยการผ่าคลอดทางหน้าท้อง เชื่อกันว่าการผ่าคลอดแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน โดย จูเลียส ซีซ่าร์ รัฐบุรุษ แม่ทัพ และผู้ประพันธ์ร้อยแก้วอันเลื่องชื่อชาวโรมัน เป็นทารกคนแรกที่คลอดวิธีนี้จึงเรียกการผ่าตัดแบบนี้ว่า “การผ่าแบบซีซ่าร์”

คุณแม่อีกครึ่งหนึ่งยังคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ด้วยความรวดร้าวของการบีบตัวมดลูกตอนคลอด ซึ่งกินระยะเวลาหลายๆชั่วโมงแล้วแต่สภาวะร่างกายคุณแม่แต่ละคน ทำให้เป็นวันที่ลืมไม่ลงเลยทีเดียว ยืนยันค่ะ ว่ามันเจ็บปวดรวดร้าวมาก แต่ได้รางวัลเป็นความภาคภูมิใจที่เบ่งออกมาเอง และระยะเวลาการฟื้นตัวที่เร็วกว่า

baby

วันที่คลอด จำได้เลยว่ากำลังทำความสะอาดบ้านอยู่ ตอนประมาณหกโมงเย็นเริ่มปวดท้องร้าวมาที่หลัง บอกคุณสามีว่าปวดแบบนี้ไปหาหมอกันเถอะ ไม่รู้ว่าเด็กน้อยเป็นอะไรไหม รอไปตามนัดพรุ่งนี้ไม่ไหวแน่ ๆ เป็นห่วงลูก

Advertisement

Advertisement

เดินทางไปโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ราว ๆ สี่สิบนาทีได้พบคุณหมอทุ่มครึ่ง โดยระหว่างนั้นความถี่ในการปวดเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณหมอบอกปากมดลูกเปิดสองเซ็นติเมตรแล้ว นอนรอคลอดเลย ตอนนั้นงงไปเลย เพราะคิดว่าจะได้กลับบ้าน ด้วยกำหนดคลอดที่หมอนัดคืออีกหนึ่งสัปดาห์ (คือยังคิดว่าเป็นปวดหลอกอยู่นั่นเอง [^-^]" )

ช่วงเวลาสองชั่วโมงครึ่งหลังจากนั้นเป็นความเจ็บปวดที่ลืมไม่ลงจริง ๆ และมหัศจรรย์มากที่เมื่อเด็กน้อยออกมาปุ๊ป ความเจ็บปวดทั้งหมดก็หยุดลงทันที

แล้วก็ได้รู้ว่า ...
แม่ไม่ได้สลบหลังเบ่งคลอดแบบในละคร และน้ำตาแม่ไม่ได้ไหลเหมือนในโฆษณานมผง ทุกอย่างมันเรียบง่ายกว่านั้นมาก เสียงร้องเด็กชั่วแว้บเดียวที่เงียบลง เด็กน้อยก็มาอยู่ข้างพ่อและแม่ โดยมีนางพยาบาลขอโทรศัพท์คุณพ่อไปถ่ายภาพให้

ยินดีต้อนรับสมาชิกคนใหม่ของโลก ... มาลูก เซลฟี่กัน!

Advertisement

Advertisement

baby

เริ่มต้นจริงๆแล้วนะ!

เลี้ยงหลานมากี่คนก็ไม่เท่าเลี้ยงลูกตัวเองคนเดียว

เล่นกับหลานจนเหนื่อยจะอุ้มไปคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ลูกตัวเองเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องดูแล ไม่รู้จะหอบไปคืนที่ไหนเลยจริง ๆ

การมีลูกเป็นประสบการณ์ที่ยากจะอธิบาย ทุกอย่างรอบตัวจัดระเบียบกันใหม่ ชีวิตพ่อแม่หมุนรอบตัวลูก เวลาแต่ละวันเหมือนจะน้อยกว่าเดิม อยากได้เวลาเพิ่มในแต่ละวันเอามานอนให้เต็มอิ่มซักวันก็ยังดี

คำถามแรก ๆ ของพ่อแม่มือใหม่จะเป็นเรื่องพื้นฐานเลี้ยงดูทั่วไป ว่าตามกฎ Maslow ก็คือขั้นแรก “การมีชีวิตรอด” หรือก็คือเลี้ยงดูด้านร่างกายและถัดมาถึงจะเป็นเรื่องของการเลี้ยงดูด้านจิตใจ ซึ่งจริงๆแล้วเด็กถูกเลี้ยงดูด้านจิตใจไปพร้อม ๆ กันกับด้านร่างกายตลอดเวลา นึกถึงตัวเราเอง ไม่มีตอนไหนที่เราไม่ใช้จิตใจ ไม่มีตอนไหนที่เราไม่คิด ไม่รู้สึก ลูกเองก็เช่นกัน ลูกรับรู้ทางด้านจิตใจตลอดเวลา เรื่องแรกทางด้านจิตใจที่ลูกต้องการคือ“ไว้ใจ” และไม่มีใครทำหน้าที่นี้ได้ดีเท่าแม่

Advertisement

Advertisement

mommy

รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งนำคน 5 คู่มาทดลองให้ดู โดยแต่ละคนไม่รู้จักกันมาก่อนมานั่งตรงหน้าเงินก้อนโต แล้วให้ทั้งสองคนตัดสินใจเลือกว่าจะ “แบ่ง”หรือ “ขโมย” ผลคือส่วนใหญ่เลือกที่จะ “แบ่ง”

จริงๆแล้วมนุย์เราเกิดมาพร้อมกับความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ลองคิดดูว่าถ้าเราเกิดมาพร้อมความไม่ไว้ใจ เราจะซุกแม่ดูดนมจากอกได้หรือไม่

เคยอ่านเจอว่า 3 เดือนแรกไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าแม่ ถ้าแม่คนหนึ่งอยากทำอะไรให้ลูกในช่วงนี้ สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดก็คือ “แม่ห้ามตาย” นี่คือความไว้ใจแรกของลูกที่คนเป็นแม่ต้องทำให้ได้ ห้ามตายจากความรู้สึก ห้ามตายจากการมองเห็นตรงหน้า แม่ต้องอยู่เป็นเสาหลักให้ลูกในช่วงเวลานี้

งานทดลองของศาตรจารย์ บูรเนอร์ (Bruner) แบ่งทารกออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก ทารกอยู่ในห้องที่ว่างเปล่า อีกกลุ่มอยู่ในห้องกระจกที่มองเห็นผู้คน เพดาน ผ้าห่ม ทุกอย่างสีสันสดใส และเปิดเพลงเบาๆให้ฟังตลอดเวลา

หลายเดือนต่อมาก็ลองวัดระดับสติปัญญาของเด็กทั้ง  2 กลุ่ม พบว่า เด็กในห้องที่ว่างเปล่ามีพัฒนาการช้ากว่าอีกกลุ่มหนึ่งถึง  3 เดือน

การอยู่กับลูกอย่างเต็มที่ในช่วง 3 เดือนแรก โดยสัมผัส พูดคุย กอดรัดฟัดเหวี่ยงแต่พอดี สำคัญกับลูกอย่างคาดไม่ถึง

baby

เคยขึ้นแท็กซี่แล้วเจอคนขับบ่นไปเรื่อยไหมคะ รถติดมาก ผู้โดยสารหายาก เศรษฐกิจไม่ดี ค่าแรงน้อย น้ำมันแพง นักการเมืองขี้โกง คนรวยออกรถเต็มถนน

แท็กซี่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเปิดคลื่นข่าวฟังวนไปทั้งวัน

พี่ ๆ แท็กซี่ไม่ผิดหรอกค่ะที่จะบ่น ก็สิ่งที่เข้ามาให้รับรู้มันคือข่าว ซึ่งพี่เค้าคงลืมไปว่า ข่าวร้ายขายดี ข่าวที่พี่เค้าฟังเลยมีแต่เรื่องร้าย ๆ เมื่อฟังแต่เรื่องร้าย ๆ โลกก็ดูโหดร้าย สิ่งที่ทำได้ก็คือบ่น ๆไป

เด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซึมซับทุกอย่างได้ดีอย่างมหัศจรรย์ มาดาม มอนเตสโซรี่ (Madam Montessori) ผู้เป็นนักการศึกษาระดับปฐมวัยที่โลกนับถือ ได้เขียนรายงานจากการเฝ้าดูพฤติกรรมเด็กไว้มากมาย

ในรายงานหนึ่ง มีแม่ของเด็กชายอายุประมาณขวบครึ่งซื้อการ์ดภาพสีรูปสัตว์และการล่าสัตว์ให้ เด็กหยิบภาพมาให้และพูดว่า “รถยนต์” ซึ่งเธอมองดูภาพแล้วไม่เห็นอะไรที่เหมือนรถยนต์แม้แต่แผ่นเดียว เธอบอกเด็กชายว่าไม่เห็นมีรถยนต์ เด็กชายจึงชี้ไปในแผ่นภาพอย่างภูมิใจและบอก “นี่ไง” ในภาพมีนายพราน สุนัข บ้าน และเส้นเหมือนถนน ที่มีจุดเล็กๆอยู่บนเส้นนั้น เด็กรู้จักถนนและเชื่อมโยงกับรถได้นั่นเอง

paino

อีกตัวอย่างที่สะเทือนใจ เป็นเรื่องของสามีภรรยาญี่ปุ่นคู่หนึ่งที่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก จึงนำลูกวัย 1 ขวบไปฝากไว้สถานเลี้ยงเด็ก เมื่อพาลูกกลับ เด็กเกือบจะอยู่ในสภาพของเด็กปัญญาอ่อน เข้าใจว่าคงไม่ได้ฝากเช้าเย็นรับกลับแต่ฝากเลี้ยงเป็นระยะเวลาหนึ่งเลย ต่อมาเมื่อเด็กอายุ 4 ขวบ เริ่มสนใจดนตรีเป็นอย่างมาก พอตรวจสอบดูจึงทราบว่าตอนอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กนั้นมีการกระตุ้นโดยการเปิดเพลงซ้ำซาก

เด็กสูญเสียพัฒนาการหลายๆด้านไป แต่มีความเข้าใจในดนตรีสูง

เราไม่อยากได้นักดนตรีระดับโลก แต่เราอยากได้ลูกเรามากกว่า
ความเสียหายนี้ทดแทนด้วยอะไรก็ไม่ได้

สิ่งที่พ่อแม่ต้องคอยเตือนตัวเองเสมอคือ เรากระตุ้นอะไรไปในตัวลูก กระตุ้นให้เค้าเป็นเด็กช่างสังเกต เชื่อมโยง เข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้น หรือเราปล่อยให้เค้าพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรบนโลกใบนี้ พ่อแม่เป็นผู้เปิดประตูมุมมองต่อโลกให้ลูก พร่ำบ่นหรือชื่นชม ขุ่นเคืองหรือเข้าใจ

คุณคงไม่อยากเป็นแท็กซี่ขี้บ่น ที่ใครนั่งใกล้ๆแล้วอยากให้ถึงปลายทางไวๆใช่ไหม


ขอบคุณภาพปกจาก : Pixabay

ภาพประกอบที่ 1ภาพประกอบที่ 2 / ภาพประกอบที่ 3 / ภาพประกอบที่ 4 / ภาพประกอบที่ 5

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์