อื่นๆ

เรื่องเล่าจาก “บ้านกาญจนาฯ” | Porraphat.com

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เรื่องเล่าจาก “บ้านกาญจนาฯ” | Porraphat.com

Photo by Ben Sweet on Unsplash

สิ่งที่ทำได้ดี ทำได้เก่งในห้องเรียน ไม่ได้สอนว่ากระสุนนัดแรกที่ยิงออกไป มันจะส่งผลกระทบอะไรกับชีวิต “วิชาชีวิต” จึงเป็นทักษะที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนรับมือกับปัญหาได้

ในงานเสวนา “วิชาชีวิต ทางรอดเด็กและเยาวชน” มีเรื่องเล่ามากมายจากเด็กที่เคยก้าวพลาดไปชั่วขณะ แต่ก็ได้เรียนรู้วิชาชีวิต เพื่อที่จะกลับมายืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมอีกครั้ง

Photo by Rendiansyah Nugroho on UnsplashPhoto by Rendiansyah Nugroho on Unsplash

“ป้ารู้ไหมครับ ถ้าหากสมัยที่ผมเป็นนักเรียน แล้วได้เรียนวิชาชีวิต ได้คิด ได้วิเคราะห์ ได้รู้ปัญหาของสังคมอย่างจริงจังเหมือนที่อยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก ผมจะไม่ติดคุกแน่ นี่คือคำพูดของเด็ก ๆ ที่พูดกับป้า”

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการสอนวิชาชีวิตว่า การเรียนรู้ในเรื่องแวดล้อมรอบตัว ข่าวสารสังคมต่าง ๆ ทั้งในเรื่องที่ดีและไม่ดี โดยให้เด็กในบ้านวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัจจัยของเหตุการณ์ รวมถึงการดูภาพยนตร์เพื่อวิเคราะห์ การตัดสินใจทางเลือก การวิเคราะห์ผลของการตัดสินใจนั้นว่าจะส่งผลอะไรต่อไปในชีวิต

Advertisement

Advertisement

เด็กๆ ได้บอกกับตนว่า หากได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก่อนวันที่กระทำความผิด พวกเขาเชื่อว่าตนเองจะไม่กระทำแบบนั้น ซึ่งบ้านกาญจนาภิเษกเป็นเพียงพื้นที่ปลายน้ำ มีหน้าที่เยียวยาในปลายเหตุ แต่โรงเรียนและบ้านคือต้นน้ำ ถ้าหากนำวิชาชีวิตไปอยู่ที่ต้นน้ำได้จะก่อให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ

Photo by burningparrot on UnsplashPhoto by burningparrot on Unsplash

ผู้ใหญ่มักจะให้ความหมายว่า เยาวชนคืออนาคต อนาคตจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่กำหนดให้กับเด็ก แต่หากเปลี่ยนความหมายให้เยาวชนคือปัจจุบันด้วย ผู้ใหญ่จะต้องหันกลับมามองว่า ณ วันนี้ได้เปิดพื้นที่อะไรให้กับเด็กและเยาวชนบ้าง

ถ้าหากยังไม่เปิดจะสามารถกระทำได้ด้วยวิธีใด ด้วยเครื่องมือไหน ซึ่งวันเยาวชนไม่ควรเป็นวันที่ผู้ใหญ่มาคิดอะไรให้กับเด็ก แต่ควรเป็นวันที่มีการเริ่มต้นในนโยบายใหม่ ๆ เช่น ทำให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา ได้เข้ามาในพื้นที่นี้ด้วยตัวเอง และเปล่งเสียงด้วยตัวเองว่าอยากได้หรือไม่อยากได้อะไร

Advertisement

Advertisement

น้องบี (นามสมมติ) จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก เล่าถึงอดีตที่โตมากับสภาพแวดล้อมของการพนัน ทำให้ตนมีนิสัยรักสนุกจากการเสี่ยงดวง โดยเริ่มออกปล้นเพื่อหาเงินมาเล่นพนันจนต้องมาอยู่ในสถานพินิจว่า หลังจากได้เรียนวิชาชีวิตที่บ้านกาญจนาฯ จากเดิมที่ไม่เคยสนใจคนในครอบครัว ได้เห็นข้อบกพร่องที่ตัวเองต้องแก้ไข จึงเริ่มหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีความต้องการดูแลคนข้างหลัง ดูแลพ่อแม่ เพราะในวันที่เข้าสถานพินิจ มีเพียงพ่อแม่ที่ยังสนใจเขาอยู่

ในขณะที่ นายจี (นามสมมติ) อดีตเด็กติดเกมเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ชีวิตในอดีตที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า ตนเคยติดเกมและตั้งใจที่จะเป็นเกมเมอร์มืออาชีพ โดยเล่นเกมติดต่อกันนานที่สุดเป็นเวลา 3 วัน หารายได้จากการเล่นเกม ส่งผลกระทบให้ไม่อยากเข้าสังคม เพราะเมื่ออยู่ในสังคมคนรอบข้างมักมองว่าตนเป็นเด็กเกเร เด็กติดเกม ยิ่งทำให้ตนหันเข้าสู่โลกแห่งความเสมือน เสพติดการเล่นเกมและมีเพียงสังคมในเกมที่คอยรับฟังปัญหา

Advertisement

Advertisement

Photo by Max Rovensky on UnsplashPhoto by Max Rovensky on Unsplash

จนกระทั่งถูกคนแถวบ้านชวนออกไปทำกิจกรรมในชุมชน จึงเริ่มออกมาสู่โลกที่มีผู้คน ทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างมองตนเองในทางที่ดีขึ้น จึงได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง ออกมาทำในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ และอยากจะฝากบอกกับคนที่ติดเกมว่า ควรเล่นให้พอดี อย่าเล่นเกมจนลืมคนรอบข้าง อย่ามองแต่ข้อดีโดยไม่ได้มองว่ามันส่งผลกระทบอะไรบ้าง ควรให้เวลากับทุกสิ่งทุกอย่าง และควรหาความพอดีของการเล่นเกมให้เจอ นี่แหละคือวิชาชีวิตที่ตนเองได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง

ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดกลับตัวกลับใจได้ทัน หรือหากคิดได้ก็อาจจะสายเกินไป เพราะการกระทำความผิดนั้นง่ายเพียงนิดเดียว แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นยากเกินจะคาดเดา วิชาชีวิตจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเอาตัวรอดในสังคมให้กับเด็กไทยยุคใหม่ ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนผู้ใหญ่ตามไม่ทัน เด็กและเยาวชนควรมีภูมิต้านทานที่อย่างน้อยจะช่วยให้เด็กฉุกคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาจากกระทำของตนเอง

เพราะทุกคนไม่ได้มีแต่ด้านมืด แต่ยังมีด้านสว่างที่รอให้มีใครมาจุดประกาย แต่อย่าทำในวันที่สายเกินไป การเรียนรู้ทักษะวิชาชีวิตจะช่วยเป็นเชื้อเพลิงในการจุดไฟให้สว่าง ก่อนที่ความมืดจะครอบงำสติ และช่วยชี้ทางออกให้กับทุกปัญหาที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญ


ข้อมูลจากเสวนา วิชาชีวิต ทางรอดเด็กและเยาวชน
โดยนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก

ติดตามผลงานจาก ปรภ ไม่ใช่ รปภ ได้ที่

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์