อื่นๆ

การเลือกคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ

1.3k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
การเลือกคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ

วันนี้อยากจะมาพูดถึงเทคนิคการเลือกคณะที่เหมาะกับตัวเองให้น้องๆที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ลองนำไปปรับใช้ดูค่ะ ก่อนอื่นเลยคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำถามนี้สำคัญยังไง ผู้เขียนขอให้น้องๆลองจินตนาการภาพตามนะคะ

สมมติวันที่น้องมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ คำถามที่น้องๆ ส่วนใหญ่อาจจะต้องเจอ คงหนีไม่พ้น “ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้ หรือทำไมถึงเลือกเรียนเอกนี้ รู้ไหมว่าคณะนี้เรียนอะไรกัน ” ต่อมาเมื่อน้องเรียนไปจนกระทั่งไปฝึกงาน ตอนสอบสัมภาษณ์ กรรมการก็จะดูเรซูเม่ของน้องและถามว่า “ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้ เห็นความสำคัญอะไรของคณะนี้และที่มหาลัยเขาสอนอะไรเราบ้าง ” นี่เป็นเพียงแค่เบื้องต้นที่ผู้เขียนเชื่อว่า น้องๆคงหนีคำถามเหล่านี้ไม่พ้น แต่น้องๆก็อาจจะบอกว่า เราก็ตอบตามน้ำไปก็ได้ ถึงแม้ในใจเราจะไม่ชอบคณะนี้จริงๆ แต่ก็ไม่ต้องแสดงให้กรรมการที่สัมภาษณ์เรารู้ก็ได้ ค่ะนั่นเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่น้องๆรู้ไหมคะว่าคำถามนี้เป็นคำถามวัดกึ๋นน้องๆเลย มันเป็นคำถามที่จะแสดงถึงความใส่ใจ ความมุ่งมั่นของน้องๆค่ะ ดังนั้น พี่คิดว่าการเลือกคณะที่ใช่ที่เหมาะกับตัวเราจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ มันไม่ได้ผูกพันน้องไปแค่ 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย แต่มันย่อมหมายถึงอนาคตในการทำงานของน้องๆ ได้ และพอน้องเรียนจบมา น้องก็ต้องวางเป้าหมายว่าจะทำงานตรงกับคณะที่เรียนจบมาไหม หรือจะเบนเข็มไปทางไหนดี เทคนิคที่ผู้เขียนจะมาบอกวันนี้เปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศให้น้องๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่ตอนเรียนในมหาวิทยาลัยแต่รวมถึง การเลือกอาชีพในอนาคตของน้องๆด้วยค่ะ

Advertisement

Advertisement

เทคนิคในการเลือกคณะที่ใช่

1.มองภาพใหญ่หมายความว่า บางทีถ้าน้องไปยึดติดกับคำถามที่ว่า “จะเลือกคณะอะไรดี ” อาจจะเป็นมุมมองที่แคบเกินไป ดังนั้น ลองเปลี่ยนมาเป็น “เราอยากจะทำอาชีพอะไร ” โดยอาจจะศึกษาตามบล็อกหรือจากประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่ทำงานในสายงานนั้นๆ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ และคำถามนี้จะทำให้น้องๆทราบถึงคณะที่ใช่และเหมาะกับตัวเอง เช่น อนาคตอยากประกอบอาชีพหมอ เพราะอยากช่วยเหลือคนอื่น น้องๆก็ต้องศึกษาต่อในคณแพทยศาสตร์ เป็นต้น

2.อ่านหลักสูตรของคณะนั้นๆในแต่ละมหาวิทยาลัย โดยลองศึกษาหลักสูตรของแต่ละคณะว่าเรียนวิชาอะไรบ้าง เช่น อยากเข้าคณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน น้องๆก็ต้องไปศึกษาหลักสูตรว่า การเงินนั้นเรียนวิชาอะไรกันบ้าง เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีโครงร้างหลักสูตรต่างกัน เพื่อป้องกันการซิ่วในอนาคต  เพราะภาพคณะในฝันที่น้องๆจินตนาการเอาไว้กับความจริงที่น้องต้องไปเรียนจริงๆอาจจะแตกต่างกันมาก หากน้องได้เข้าไปเรียนจริงๆและรู้สึกว่าไม่โอเคก็อาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะต้องซิ่วและเมื่อน้องๆได้ทราบหลักสูตรคร่าวๆแล้ว น้องๆอาจจะลองไปหาหนังสือหรือศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต มาถึงจุดนี้น้องๆอย่าเพิ่งตกใจนะคะว่า โห พี่คะแค่เตรียมตัวสอบเข้าก็ยากแล้ว ใจคอจะไม่ให้หนูพักเลยเหรอ อีกอย่างเนื้อหามหาวิทยาลัยเด็กมัธยมจะไปเข้าใจได้ยังไง ใจเย็นๆค่ะ การที่น้องๆอ่านเนื้อหาคร่าวๆนั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าใจทั้งหมดนะคะ แค่ศึกษาคร่าวๆว่าเนื้อหามีอะไรบ้างแล้วเราควรจะเตรียมตัวอะไรเพิ่มเติมอีกไหม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้องช็อคตอนไปเจออาจารย์ผู้สอนในคลาสจริงๆ เพราะอาจารย์บางท่านคาบแรกท่านก็สอน เกริ่นเข้าเนื้อหาเลยก็มีนะคะ ดังนั้นการเรียนในคลาสมหาวิทยาลัยนั้นจะแตกต่างกับมัธยมอย่างสิ้นเชิง ผู้เขียนให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้ เพราะการเตรียมตัวที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง น้องๆต้องปรับตัวกับการเรียนที่เปลี่ยนไปและแตกต่างจากมัธยม ดังนั้นหากไม่มีการเตรียมตัวที่ดีจะทำให้น้องๆนั้นงงเอาได้ เมื่อเจอการเรียนจริงๆในคลาส

Advertisement

Advertisement

Curriculum

แหล่งที่มาของภาพ: https://www.alleducationschools.com/blog/what-the-high-school-curriculum-covers/

3. ลักษณะนิสัย ลองสำรวจตัวเองว่ามีนิสัยอย่างไร เช่น หากเป็นคนละเอียด รอบคอบ คณะที่เหมาะก็คือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น และเพื่อเป็นการป้องกันการเข้าข้างตนเองมากเกินไปหรือมองตนเองได้ไม่ครบทุกมุม น้องๆอาจลองถามจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิดก็ได้ เพราะคนเหล่านี้จะตอบลักษณะนิสัยเราได้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยไม่มีการเข้าข้างหรืออคติใดๆ ซึ่งจะช่วยให้น้องๆสามารถตัดสินใจเลือกคณะได้ง่ายขึ้น

4.วิชาที่ชอบ ลองลิสต์รายวิชาที่ชอบเรียนหรืออาจจะไม่ต้องชอบแต่รู้สึกว่าเรียนแล้วเข้าใจมากที่สุด รู้สึกอยากศึกษาอยากต่อยอดจากวิชานี้ เพราะวิชาที่เราเรียนตอนมัธยมจะเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เช่น อยากเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ก็ต้องมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีพอสมควร เป็นต้น

Advertisement

Advertisement

My favorite subjects

แหล่งที่มาของภาพ: http://theconversation.com/on-the-subject-of-subjects-27035

5.กิจกรรมยามว่าง อันนี้ไม่ใช่แบบ เวลาว่างหนูชอบนอนค่ะพี่นะคะ 55555 ลองถามตัวเองว่า งานอดิเรกหรือกิจกรรมอะไรที่เราทำแล้วมีความสุข สนุกไปกับมัน เช่น เวลาว่างชอบอ่านนิยาย ชอบเขียนหนังสือ คณะที่เหมาะก็อาจจะเป็นคณะอักษรศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากการสังเกตตัวเองและไม่ใช่กิจกรรมที่ทำแค่ฉาบฉวยนะคะต้องเป็นกิจกรรมที่ชอบทำมาตลอด รู้สึกสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่ทำ เพราะนั่นจะเป็นการสะท้อนคณะที่น้องๆจะต้องเรียนในอนาคต หากน้องๆไม่มีความสุข ไม่สนุกกับมันแล้วล่ะก็ 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยน้องๆจะรู้สึกเครียดและกดดันและจะมีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาในใจค่ะว่า “นี่เรามาทำอะไรที่คณะนี้เนี่ย” หรือรู้สึกว่าเรียนไปวันๆให้จบๆไป น้องๆอาจจะไม่เห็นภาพตอนนี้นะคะ แต่พอน้องเรียนไปจนถึง ปี3หรือ ปี 4 แล้วน้องจะรู้สึกว่าน้องหลักลอย ไม่มีหลักยึด ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม ไร้เป้าหมาย ซึ่งจะทำให้กระทบต่อการที่จะไปทำงานในอนาคตได้ค่ะ เพราะแม้แต่จบไปน้องก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมาน้องเรียนแบบไร้เป้าหมาย

Hobbies

แหล่งที่มาของภาพ: https://www.thehansindia.com/posts/index/Hans/2016-05-13/Hobbies-as-vital-as-academics-and-sports/227982

เป็นไงบ้างคะกับ 5 ทริคเลือกคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆทุกคนนะคะ ที่ผู้เขียนพยายามเชื่อมโยง 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยกับชีวิตการทำงานในอนาคตนั้น เพราะผู้เขียนอยากจะบอกน้องๆว่า 4 ปีนั้นผ่านไปไวเหมือนโกหกค่ะ หากเราเรียนหรือดำเนินชีวิตในฐานะนิสิต นักศึกษาแบบหลักลอย ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการเตรียมตัวที่ดีแล้วล่ะก็ไม่ใช่แค่การเรียนในมหาวิทยาลัยที่จะกระทบ อาชีพในอนาคตของน้องๆก็กระทบไปด้วยค่ะ อย่าลืมว่า อนาคตที่ดีสร้างได้ตั้งแต่วันนี้นะคะ อย่ามัวแต่รอ อย่ามัวแต่คิดว่า โหพี่ อีกตั้ง 4 ปี พี่จะรีบไปไหน จริงๆแล้วมันไม่นานเลยค่ะน้องๆ ทุกอย่างผ่านไปไวมาก เพราะฉะนั้น วางเป้าหมายและเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆกันดีกว่านะคะ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์