Classic Sun Salutation : ไหว้พระอาทิตย์แบบเดิมๆ

CONTENT
- ไหว้พระอาทิตย์คืออะไร
- ไหว้พระอาทิตย์ตอนไหน
- ประโยชน์ของการไหว้พระอาทิตย์
- ไหว้พระอาทิตย์มีท่าอะไรบ้าง (POSE/ ASANA)
- Flow การไหว้พระอาทิตย์
- ข้อควรระวัง
การไหว้พระอาทิตย์ถือเป็น Flow ที่เหล่าโยคี/ โยคีนี่จะไม่รู้จักไม่ได้! ทันทีที่ก้าวเท้ามาเป็นโยคี การไหว้พระอาทิตย์จะต้องมา การไหว้พระอาทิตย์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ แบบดั้งเดิม, Sun A และ Sun B ซึ่งอาจมีการประยุกต์เพิ่มท่า-ดัดแปลงเข้าไปตามสไตล์ของแต่ละคนก็ได้
ไหว้พระอาทิตย์คืออะไร
"Surya Namaskar"
ชื่อ :
- สันสกฤต - สุริยนมัสการ
- อังกฤษ - Sun Salutation
- ไทย - ไหว้พระอาทิตย์
"สุริยะ" (surya) คือ พระอาทิตย์ และ "นมัสการ" (namaskar) ก็คือการทำความเคารพ ฉะนั้นตรงๆ เลยก็คือการทำความเคารพพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งตามเชื่อดั้งเดิมของชาวฮินดูตั้งแต่สมัยยุคพระเวท 800 กว่าปีก่อนโน้น
Advertisement
Advertisement
การไหว้พระอาทิตย์จะประกอบด้วย Flow ที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกัน 12 ท่วงท่า มาจากความเชื่อที่ว่า พระอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านกลุ่มดาว (จักราศี) ทั้ง 12 และพระนามของพระอาทิตย์จะเปลี่ยนไปตามตำแหน่งของดาวเป็น 12 พระนามด้วย
ไหว้พระอาทิตย์ตอนไหน
แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นการไหว้พระอาทิตย์ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำเฉพาะตอนพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก เราสามารถไหว้ตอนไหนก็ได้ตลอดวัน แต่การไหว้พระอาทิตย์เป็นการกระตุ้นพลังงาน ฉะนั้นหากทำในตอนเช้าก็จะเป็นการช่วยให้กายและใจของเราพร้อมไปตลอดวัน หากทำในช่วงค่ำให้เคลื่อนไหวและหายใจแบบช้าๆ จะทำให้ร่างกายผ่อนคลาย
ประโยชน์ของการไหว้พระอาทิตย์
ถ้าฝึกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ปลอดโรคและมีสุขภาพดีเพราะ...
- สร้างความสมดุลในร่างกายทั้งกายใจ
- กระตุ้นการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร และอวัยวะภายในอื่น ๆ
Advertisement
Advertisement
- ลดความอ้วนได้ :
จากประโยชน์ข้างต้นจะเห็นว่าเราสามารถใช้ Flow ไหว้พระอาทิตย์สำหรับลดน้ำหนักได้ เพราะได้ออกกำลังในทุกส่วนของร่างกาย และเป็นไปอย่างสมดุลเพราะได้ทั้งการยืดและการใช้กล้ามเนื้อ
- ผมจะสวย :
การไหว้พระอาทิตย์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปที่หนังศีรษะและทำให้เส้นผมแข็งแรง ไม่ร่วงง่าย และชะลอผมหงอก
- ผิวก็เปล่งปลั่ง :
การไหว้พระอาทิตย์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังทุกส่วนของร่างกาย จึงทำให้ผิวอ่อนเยาว์ ดูมีชีวิตชีวา ใบหน้าของคุณเปล่งปลั่งกระจ่างใส คงความกระชับ ป้องกันการเกิดริ้วรอย เพราะระหว่างไหว้พระอาทิตย์จะช่วยให้เราบรรเทาความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจไปโดยอัตโนมัติ
Advertisement
Advertisement
- Tips :
การไหว้พระอาทิตย์จะเคลื่อนไหวตามลมหายใจ 3 ระดับ ซึ่งจะได้ประโยชน์หลักต่างกัน...
- แบบเร็ว : จะทำเป็นการกระตุ้นให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดีและแข็งแรงขึ้น บริหารกล้ามเนื้อ และช่วยสลายไขมัน
- แบบปกติ : จะช่วยเน้นไปที่การมวลกล้ามเนื้อให้กระชับและแข็งแรง
- แบบช้า : จะเพิ่มความยืดหยุ่น
ไหว้พระอาทิตย์มีท่าอะไรบ้าง (POSE/ ASANA)
ก่อนเราจะไหว้พระอาทิตย์ ควรรู้จักกับอาสนะต่างๆ ที่อยู่ใน Flow รวมถึงประโยชน์ของแต่ละท่ากันเสียหน่อย ซึ่งในการไหว้พระอาทิตย์แบบดั้งเดิมนั้น จะประกอบด้วยอาสนะทั้งหมด 9 ท่าด้วยกัน จากที่บอกไปแล้วว่ามี 12 ท่วงท่า ฉะนั้นจะมีบางท่าที่ทำทำซ้ำกัน
*ชื่อเรียกแต่ละท่ามีอยู่มากกว่า 1 ชื่อ จึงอาจเจอที่ต่างออกไปไปจากบทความนี้
1. Tadasana, Samasthiti
ชื่อ :
- สันสกฤต - ตาฑาสนะ หรือ สมาสถิติ
- อังกฤษ - Mountain Pose
- ไทย - ท่าภูเขา
คำว่า "ตาฑา" (tada) แปลว่า ภูเขา ส่วนอีกชื่อของท่านี้ก็คือ Samasthitihi ซึ่ง "สมะ" (sama) แปลว่า เหมือนกัน/ เท่าเทียม "สถิติ" (sthiti) แปลว่า ยืน/ ตั้งมั่น รวมแล้วได้ว่า ท่ายืนที่มั่นคงสมดุลเท่ากันทุกส่วนนั่นเอง
ประเภท : Standing - ท่านี้มักใช้เป็นท่าเตรียม หรือท่าจบของ Flow หรือจะใช้เป็นท่าทำสมาธิก่อนฝึกโยคะก็ได้
การเข้าท่าตามลำดับ :
- ผนึกเท้าทั้ง 2 ข้างให้มั่นคง
- กระจายน้ำหนักไปยัง 3 จุดบนฝ่าเท้า คือ เนินนิ้วโป้งเท้า เนินนิ้วก้อยเท้า และส้นเท้า
- กระชับต้นขา โดยหมุนต้นขาเข้าด้านใน
- เก็บก้นกบ แขม่วท้อง
- ยกอกขึ้น
- ลดไหล่ โดยหมุนหัวไหล่ไปด้านหลัง
- แขนตรงแนบข้างลำตัว หงายฝ่ามือ นิ้วมือชี้ลงพื้น
- คางขนานพื้น
- ตามองตรงไปข้างหน้า
ประโยชน์ : กระชับกล้ามเนื้อต้นขา, เพิ่มความยืดหยุ่นข้อต่อหัวเข่าและข้อเท้า
2. Pranamasana, Tadasana Namaskarasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - ประนะมะสนะ
- อังกฤษ - The Prayer Pose, Tadasana Variation
"ประนะมะ" (Pranam) ก็คือประนมหรือไหว้ บางครั้งก็เรียกท่านี้ว่า Tadasana Namaskarasana ซึ่งมีคำว่า "นมัสการ" (namaskar) เพิ่มเข้าไป เป็นการไหว้ในท่าภูเขา หรือ Mountain Pose Namaste
ประเภท : Standing - เป็นท่าแรกและท่าสุดท้ายในการไหว้พระอาทิตย์ จะใช้ในการยืนสวดมนต์ก่อนฝึกก็ได้
การเข้าท่าตามลำดับ :
- จากท่าภูเขา / จากท่า Urdhva Hastasana
- ประนมมือระหว่างหน้าอก ศอกแนบข้างลำตัว
- ผ่อน คลาย คอบ่าไหล่
- ตามองตรงไปข้างหน้า
ประโยชน์ : ร่างกายและจิตใจได้รับการผ่อนคลายและรักษาสมดุล, กระชับกล้ามเนื้อต้นขา, เพิ่มความยืดหยุ่นข้อต่อหัวเข่าและข้อเท้า
3. Urdhva Hastasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - อูรธวะ หัสตาสนะ
- อังกฤษ - Upward Salute
"อูรธวะ" (urdhva) แปลว่า ขึ้นไป และ "หัสตา" (hasta) คือมือ รวมกันตรงๆ ก็คือท่าที่ชูมือขึ้นไป
ประเภท : Standing/ Backbend - มีการดัดแปลงท่าด้วยการโค้งหลัง
การเข้าท่าตามลำดับการไหว้พระอาทิตย์ :
ลมหายใจเข้า
- จากท่า Pranamasana / ยกลำตัวขึ้นมาจากท่า Uttanasana
- ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ ท้องแขนแนบหลังใบหู
- โค้งหลัง โดยการยืดจากหน้าขา และผลักสะโพกมาด้านหน้า
- ดึงสะดือ ยกอกขึ้น
- หน้าเชิด ตามองมือ
ประโยชน์ : จัดระเบียบโครงสร้างกระดูกสันหลัง, เสริมมวลกล้ามเนื้อต้นขา หน้าท้อง และก้น, เพิ่มความยืดหยุ่นข้อต่อหัวเข่าและข้อเท้า
4. Uttanasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - อุตตนาสนะ
- อังกฤษ - Standing Forward Bend
อุต (ut) แปลว่า มีพลัง/ มากมาย/ ถึงขีดสุด และ ตัน (tan) แปลว่า ยืดเหยียด Uttanasana คือการยืดของร่างกายส่วนหลังทั้งหมด รวมทั้งฝ่าเท้า Hamstring ขึ้นมาจนถึงคอและใบหน้าด้วย
ประเภท : Standing/ Forward bend
การเข้าท่าตามลำดับการไหว้พระอาทิตย์ :
ลมหายใจออก
- จากท่า Urdhva Hastasana / ก้าวมาจากท่า Anjaneyasana
- พับตัวลงไปข้างหน้าจากข้อต่อสะโพก
- วางมือข้างเท้า นิ้วมืออยู่ในระดับเดียวกับนิ้วเท้า
- หน้าท้องแนบชิดต้นขา
- หน้าผากจรดหัวเข่า
- ขาเหยียดตรง (งอเข่าได้เล็กน้อยสำหรับคนขาตึง)
- เทน้ำหนักตัวมาด้านให้สะโพกอยู่เหนือข้อเท้า
- ตามองปลายจมูก ผ่อนคลายคอ บ่า ไหล่
ประโยชน์ : ยืดเอ็นร้อยหวาย Hamstring, จัดระเบียบโครงสร้างกระดูกสันหลัง, กระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร, ปรับสมดุลระบบจิตประสาทและทำให้ผ่อนคลาย
5. Ardha Anjaneyasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - อรรธอัญชเนยาสนะ
- อังกฤษ - Low Lunge Varation Pose
"อัญชเนยะ" (anjaneya) เป็นคำเรียกขานของตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์นั่นคือ หนุมาน (มาจากแม่ของหนุมานมีชื่อว่า anjani) เติมคำว่า "อรรธ" (ardha) ที่หมายถึง ครึ่งหนึ่ง เข้าไป จึงหมายถึงการทำท่า Anjaneyasana ที่แปลว่า ลูกชายของ anjani แบบครึ่งเดียว ซึ่งท่าเต็มของ Anjaneyasana จะต้องชูมือขึ้นเหนือศีรษะ และมีการ Backbend ด้วย แต่ในการไหว้พระอาทิตย์จะวางมือที่พื้นแทน
ประเภท : ท่ากึ่งนั่งกึ่งยืน - เหมือนท่ากำลังเตรียมวิ่ง
การเข้าท่าตามลำดับการไหว้พระอาทิตย์ :
ลมหายใจเข้า
- ก้าวเท้าไปด้านหลังจากท่า Uttanasana/ ก้าวเท้ามาด้านหน้าจากท่าสุนัขแลลง > มือวางอยู่ในตำแหน่งเดิม
- ขาด้านหลังวางเข่าลงที่พื้น ปลายเท้าวางราบ ผนึกหน้าเท้ากับพื้นเพื่อไม่ให้น้ำหนักลงที่หัวเข่า
- ขาด้านหน้าตั้งฉากกับพื้น เข่าไม่ล้ำปลายเท้า
- ดิ่งสะโพกลงให้ต่ำ ยืดสะโพกและหน้าขา
- อกเปิด ไหล่เปิด หน้าเชิด ตามองต่ำ
ประโยชน์ : ทำให้ข้อต่อสะโพกและข้อเท้ายืดหยุ่น, สร้างมวลกล้ามเนื้อให้กับกล้ามเนื้อที่รองรับเข่าและน่องที่ขาหลัง, บรรเทาอาการปวดที่สะโพก
6. Santolanasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - ซันโตลานาสนะ
- อังกฤษ - Balancing Pose, Plank Pose
- ไทย : ท่าไม้กระดาน
"ซันโตลานะ" (santolana) หมายถึง การสมดุล ในภาษาไทยว่าตามลักษณะตรงๆ เหมือนไม้กระดาน
ประเภท : Balancing/ Arm Support
การเข้าท่าตามลำดับการไหว้พระอาทิตย์ :
กลั้นหายใจ
- ก้าวขาด้านหน้าไปวางคู่เท้าที่อยู่ด้านหลังจากท่า Ardha Anjaneyasana > มือวางอยู่ในตำแหน่งเดิม
- แขนเหยียดตรง โยกลำตัวมาข้างหน้าให้ข้อมือตรงกับหัวไหล่ โก่งสะบักออกเพื่อผ่อนน้ำหนักไม่ให้ลงที่ข้อมือ
- ลำตัวตรงเหมือนไม้กระดาน เกร็งแกนกลางลำตัว สะโพกไม่ยกสูง
- active ต้นขา ส้นเท้าดันไปด้านหลังเหมือนกำลังถีบกำแพงอยู่
ประโยชน์ : เพิ่มความแข็งแรงให้แกนกลางลำตัว ข้อมือ หัวไหล่ สะบัก รวมถึงต้นขา
7. Ashtanga Namaskarasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - อัษฎางคะ นมัสการาสนะ
- อังกฤษ - Eight Limbed Pose
- ไทย - กราบอัษฎางค์
ในท่านี้มีคำว่า "นมัสการ" ที่หมายถึงการไหว้หรือทำความเคารพอยู่ "อัษฎะ" (ashta) หมายถึง 8 และ "อังคะ" (anga) หมายถึง ส่วนหนึ่ง ดังนั้น Ashtanga Namaskar จึงเป็นการทำความเคารพที่ร่างกายจะสัมผัสกับพื้น 8 จุด ได้แก่ เท้า 2 ข้าง เข่า 2 ข้าง มือ 2 ข้าง หน้าอก และคาง
ประเภท : ท่านอนคว่ำ/ Arm Support
การเข้าท่าตามลำดับการไหว้พระอาทิตย์ :
ลมหายใจออก
- จากท่า Santolanasana > มือวางอยู่ในตำแหน่งเดิม
- วางเข่า เลื่อนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อวางอก และคางลงที่พื้นตามลำดับ (มือจะอยู่ในตำแหน่งระดับอกพอดี)
- ศอกแนบข้างลำตัว
- สะโพกโด่งสูง
ประโยชน์ : ทำให้ร่างกายมีความสมดุล, การเสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนและแกนกลาง, ยืดพังผืดที่ฝ่าเท้าและยืดเหยียดนิ้วเท้า, ป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่าง
8. Bhujangasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - ภุชงคาสนะ
- อังกฤษ - Cobra Pose
- ไทย - ท่างู
"ภุชงคะ" (bhujanga) แปลว่า งู เป็นท่าที่ได้จากการเคลื่อนไหวของงู
ประเภท : ท่านอนคว่ำ/ Backbend/ Arm Support
การเข้าท่าตามลำดับการไหว้พระอาทิตย์ :
ลมหายใจเข้า
- จากท่า Ashtanga Namaskarasana > มือวางอยู่ในตำแหน่งเดิม
- ก้มหน้าคางชิดอก แล้วเลื่อนตัวไปข้างหน้า ยกอกขึ้น
- ไหล่หมุนไปด้านหลัง ออกแรงยืดจากท้องเพื่อไม่ให้หลังล่างบาดเจ็บเมื่อโค้งตัวขึ้น เก็บก้นกบ
- ข้อศอกงอแนบข้างลำตัว
- สะดือลอยขึ้นจากพื้นได้เล็กน้อย สะโพกอยู่ชิดติดพื้น
- ปลายเท้าวางราบชิดกัน ผนึกน้ำหนักลงที่หน้าเท้า
ประโยชน์ : สร้างความยืดหยุ่นกระดูกสันหลัง, การยืดกล้ามเนื้อหน้าท้อง อก และไหล่, กระตุ้นการทำงานของปอด
9. Adho mukha svanasana
ชื่อ :
- สันสกฤต - อะโธ มุขะ สวานาสนะ
- อังกฤษ - Downward-Facing Dog Pose
- ไทย - ท่าสุนัขแลลง, สุนัขก้มหน้า
อะธะ (adhas) แปลว่า ลง มุขะ (mukha) แปลว่า หน้า และ สวานะ (svana) แปลว่า สุนัข นำมาจากท่าของสุนัขที่ทำเหมือนกำลังบิดขี้เกียจนั่นแหละ
ประเภท :
- ท่ากึ่งนั่งกึ่งยืน
- Forward bend
- Arm Support
การเข้าท่าตามลำดับการไหว้พระอาทิตย์ :
ลมหายใจออก
- จากท่างู > มือวางอยู่ในตำแหน่งเดิม
- ตั้งปลายเท้า โด่งสะโพกขึ้งสูง แขม่วท้อง ผลักสะโพกไปด้านหลัง
- ส้นเท้าวางลงบนพื้น เท้าชิดกัน ขาเหยียดตรง Active ต้นขา
- กระจายน้ำหนักที่ฝ่ามือโดยกางนิ้วออกให้กว้าง แขนเหยียดตรง ผ่อนไหล่ แผ่สะบัก
- คางชิดอก ตามองสะดือ ไม่เกร็งคอ
ประโยชน์ : เสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนและขา, ยืดเหยียด Hamstring น่อง และเอ็นร้อยหวาย
Flow การไหว้พระอาทิตย์
เนื่องจากท่าที่อยู่ใน Flow ไหว้พระอาทิตย์จดจำง่ายไม่ซับซ้อน จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งกับโยคีมือใหม่ ซึ่งจะได้ฝึกการจัดระเบียบร่างกาย เพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และฝึกควบคุมลมหายใจจากท่าต่างๆ และจากประโยชน์นี้ การไหว้พระอาทิตย์จึงนิยมนำมาใช้ในเซ็ตการวอร์มในการฝึกโยคะด้วย โดยไหว้พระอาทิตย์ตั้งแต่ 3 รอบขึ้นไป
ซึ่งการไหว้พระอาทิตย์แบบดั้งเดิม มี Flow ใน 1 รอบ ดังนี้ :
เตรียม หายใจเข้า : Tadasana
- หายใจออก : พนมมือกลางหว่างอก Pranamasana
- หายใจเข้า : ชูมือขึ้น ท้องแขนแนบหลังใบหู ผลักสะโพกมาด้านหน้า Urdhva Hastasana
- หายใจออก : ก้มพับลำตัว วางมือ Uttanasana
- หายใจเข้า : ก้าวเท้าขวาไปด้านหลัง วางเข่าขวา ปลายเท้าวางราบ Ardha Anjaneyasana
- กลั้นหายใจ : ก้าวเท้าซ้ายคู่เท้าขวา Santolanasana
- หายใจออก : วางเข่า อก คาง Ashtanga Namaskarasana
- หายใจเข้า : สไลด์ ยกลำตัวขึ้น Bhujangasana
- หายใจออก : ตั้งปลายเท้า โด่งสะโพก Adho mukha svanasana
- หายใจเข้า : ก้าวเท้าขวามาด้านหน้า วางเข่าซ้าย ปลายเท้าวางราบ Urdhva Hastasana
- หายใจออก : ก้าวเท้าซ้ายคู่เท้าขวาหน้าหน้า ก้มพับลำตัว Uttanasana
- หายใจเข้า : ยกลำตัว ชูมือขึ้น ท้องแขนแนบหลังใบหู ผลักสะโพกมาด้านหน้า Urdhva Hastasana
(เปลี่ยนไปทำข้างซ้ายตั้งแต่ข้อ 3) - หายใจออก : พนมมือกลางหว่างอก Pranamasana
กลับมายืน Tadasana และเริ่มทำรอบต่อไปตั้งแต่ข้อ 1
ข้อควรระวัง
แม้ว่าการไหว้พระอาทิตย์จะมีสารพัดประโยชน์ต่อร่างกายและใจ แต่ก็มีข้อยกเว้น...
- ระวัง : ควรฝึกช้าๆ หลายๆ ลมหลายใจ / ปรึกษาแพทย์ / ฝึกกับครูที่เชียวชาญ
ได้แก่ ผู้มีประจำเดือน คนแก่ คนท้อง ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท หมอนรองกระดูก ปวดหลัง ปวดเอว - หลีกเลี่ยง : จะเกิดอันตรายแก่ตนเอง / ผู้อื่น
ได้แก่ คนเป็นความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับหัวใจ เส้นเลือดในสมอง เพราะจะเกิดกระกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดจนอาจเกิดอันตราย ผู้ป่วยติดเชื้ออย่างรุนแรง เป็นผื่น เป็นวัณโรค เป็นไส้เลื่อน
จากความเชื่อในการไหว้เทพเจ้าในอดีต ถูกประยุกต์เป็นการบริหารร่างกายและจิตใจ กระทั่งกลายมาเป็นท่าการออกกำลังกายแบบหนึ่งในปัจจุบัน จึงเห็นได้ว่าการไหว้พระอาทิตย์นั้นเป็น Timeless อยู่มาได้อย่างยาวนานหลายยุคสมัย ก็หมายความว่าเหล่าโยคี/ โยคินี่นั้นไม่ใช่คนตกยุคแน่นอน
แต่ก็อย่าลืมว่าทุกอย่างควรทำอย่างพอดีเหมาะสม อะไรที่มากไปอาจเกิดผลเสียได้ การไหว้พระอาทิตย์ก็เช่นกัน
เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์