ไลฟ์แฮ็ก

โมโหลูกนั้นดีรึก็เปล่า!

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
โมโหลูกนั้นดีรึก็เปล่า!

ใครไม่เคยโมโหลูกเลยแม้แต่ครั้งเดียว ยกมือหน่อยครับ นั่นไง! ผมรู้อยู่แล้วว่าต้องไม่มี

พอโมโหแล้วคุณทำยังไงครับ

ก. โมโหแต่ไม่แสดงออก

ข. ปรี๊ดก็ว๊ากกันเลย ด่าได้ด่า ตีได้ตี ไม่ต้องกดข่มอะไรทั้งนั้น

ค. ดับความโมโห

ถ้าคุณตอบ ข้อ ก. คุณรู้ไหมครับว่าไม่นานมันจะปะทุออกมาเหมือนลาวาที่อัดแน่นอยู่ในภูเขาไฟ แต่ถ้ามันไม่ระเบิดนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมันจะกลายเป็นตะกอนอารมณ์ที่นอนนิ่งอยู่ในใจคุณ หนักเข้ามันจะกลายเป็นตะกรันอารมณ์ที่คอยกัดกินจิตใจคุณเหมือนสนิมที่กัดกินเหล็ก เจ้าตะกรันอารมณ์นี่มันอาจทำให้คุณเป็นโรคเครียดและอาจผลักดันคุณไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว

ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเก็บหรือไม่เก็บความโมโหเอาไว้ ลูกก็สัมผัสถึงความโกรธนั้นได้อยู่ดี

ถ้าอย่างนั้นก็ว๊ากเลยดีไหม ด่าได้ด่า ตีได้ตี

ดีครับ!

การที่คุณแสดงความโมโหออกมาตรงๆ มันช่วยให้คุณได้ปลดปล่อย เมื่อระบายออกมาแล้ว ครู่เดียวก็หาย ไม่ต้องรอนาน แถมลูกยังยอมทำตามความต้องการของคุณได้ง่ายๆ สบายพ่อแม่อีกต่างหาก

Advertisement

Advertisement

นี่แหละครับ สาเหตุเพียงข้อเดียวที่คุณควรโมโหลูก แต่คุณรู้ไหมครับ ผมมีเหตุผลถึง 3 ข้อ ที่จะบอกคุณว่าทำไมคุณถึงไม่ควรใช้อารมณ์กับลูก

I. คุณจะกลายเป็นคนขี้โมโห แม้ว่าก่อนมีลูก คุณจะเป็นคนใจเย็น เป็นพนักงานที่ดี เป็นเพื่อนที่น่ารัก แต่การที่คุณโกรธลูกบ่อยๆ นั่นคือ คุณเทรนตัวเองให้เป็นคนขี้โมโห ในที่สุดความโมโหของคุณจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่กับลูก แต่กับคู่ชีวิต ลูกค้า พ่อแม่ เพื่อน หรือแม้แต่สิ่งต่างๆ รอบตัว และในที่สุดมันก็จะกลายเป็นบุคลิกติดตัวคุณนั่นแหละครับ

คุณคิดว่าความหงุดหงิด ขี้วีน โมโหไปทั่วจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เงินเดือนขึ้น เป็นที่รักของทุกคนได้ไหมละครับ

เก็บไว้ แสดงออก หรือดับมันดีครับ?ภาพโดย KERBSTONE จาก Pixabay

II. โมโหไม่ช่วยให้เด็กดี

มีอยู่วันหนึ่ง ลูกสาวของผมหยิบลิปสติกจากโต๊ะเครื่องแป้งของภรรยาผมมาเล่นจนเสียหาย ภรรยาผมโมโหมาก เธอกัดฟันกรอดแล้วเดินเขาห้องไป ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรใช่ไหมครับ ความจริงคือเธอเข้าโหมด ข้อ ก. โมโห แต่บังคับกดข่มเอาไว้

Advertisement

Advertisement

ผมรู้อยู่แล้วว่าเธอโกรธลูกมาก เลยเดินตามเข้าไปถามเธอว่า โกรธลูกเพราะอะไร เธอก็บรรเลงเลยครับ

“ก็มันของของเขานะตัวเอง เขาซื้อมาแพงๆ บรา บรา บรา มันต้องรู้บ้างซิของใครเป็นของใคร ทำอย่างนี้มันไม่เคารพกันเลย เขาก็คนนะตัวเอง บรา บรา บรา แล้วข้าวของเสียหายเนี่ยะ เห็นมั้ย ฯลฯ”

ทีนี้ผมถามกลับง่ายๆ เลยครับ

“แล้วลูกจะรู้ได้ยังไงว่าการหยิบของของแม่มาใช้ มันไม่ถูกต้อง”

โอเคครับ นัดนั้นผมโดนเมียด่าเละ โทษฐานที่ไม่เห็นใจและไม่เข้าถึงความทุกข์ของเธอ แต่ผมพูดถูกเรื่องลูก

ความถูกผิดดีชั่ว มันเป็นบรรทัดฐานที่สังคมสร้างขึ้นมา ผู้ใหญ่ถูกหล่อหลอมโดยสังคมแล้ว ถึงรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่เด็กเป็นผ้าขาวที่ไม่เคยผ่านกระบวนการทางสังคมมาก่อนเลย การที่ลูกหยิบของส่วนตัวของคนอื่นมาเล่นตามอำเภอใจ เขาไม่ได้เป็นเด็กไม่ดีนะครับ เขาจะไม่ดีได้ยังไง ในเมื่อเขายังไม่รู้เลยว่าดีคืออะไร

Advertisement

Advertisement

นี่แหละครับที่ผมบอกคุณว่า การที่พ่อแม่โมโห ไม่ได้ทำให้ลูกดี เพราะโมโหไปลูกก็ไม่ว่าอะไรควรไม่ควรอยู่ดี ตรงกันข้ามถ้าอยากให้เขารู้ก็ต้อง ‘หล่อหลอม’ เขาครับ

ด่าคือการตอกย้ำข้อด้อย มันจะยิ่งทำให้เขาเป็นตามนั้นภาพโดย John Hain จาก Pixabay

ทีนี้มาพูดถึงกระบวนการหล่อหลอมกันนะครับ

1. อธิบายเหตุผล วิธีนี้ทำใจเลยครับว่า ไม่มีทางที่พูดครั้งเดียวแล้ว ลูกจะรู้ดีชั่วในทันที เนื่องจากสมองส่วนเหตุผลของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กเล็กจึงไม่สามารถใช้เหตุผลควบคุมพฤติกรรมได้ ยิ่งเรื่องถูกผิดดีชั่วนี่มันเป็นนามธรรม จึงยิ่งเข้าใจยากมากๆ สำหรับเด็ก

คุณต้องใช้วิธีอธิบายให้ฟังในครั้งแรก จากนั้นพูดให้ฟังซ้ำๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ สิ่งที่คุณพูดมันจะค่อยๆ ซึมลงไปในจิตใต้สำนึกของลูก เหมือนกับการฝังเมล็ดแห่งความถูกต้องลงในจิตใจลูก เมื่อเขาโต เจ้าเมล็ดเหล่านี้ก็จะเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่หยั่งรากในจิตใจเขาด้วยครับ

กรณีนี้ ผมพูดให้ลูกฟังครับว่า ของส่วนตัวของแม่ มีแม่คนเดียวที่ใช้ได้ คนอื่นจะหยิบใช้โดยไม่ขอแม่ไม่ได้ ของของลูกก็เหมือนกัน อยู่ดีๆ พ่อจะมาหยิบใช้โดยไม่ขอหนูก็ไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ซับซ้อนอะไร ลูกเข้าใจ แต่พอผมอธิบายลึกลงไปอีกว่าถ้าอยากเล่นของของแม่ ก็ต้องขอแม่ ถ้าแม่ให้ก็เล่นได้ ถ้าแม่ไม่ให้ก็ต้องยอมรับ (อดเล่น) เพราะมันเป็นของของแม่ ตรงนี้ละครับที่ลูกรับไม่ได้ เพราะเด็กเล็กยังเอาเหตุผลมาควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ ไม่เป็นไรครับ อาศัยพูดซ้ำๆ เอา ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองไปก่อนก็ยังดี (ความจริงผมถือว่าเรื่องนี้เป็นโอกาสดีที่ผมจะได้สอนให้ลูกรู้จักความผิดหวัง เอาไว้ผมจะเขียนบทความแนะนำวิธีสอนให้ลูกรู้จักและยอมรับอารมณ์ของตัวเองนะครับ)

การพูดซ้ำๆ ไม่ใช่การพูดถึงความผิดพลาดเดิมบ่อยๆ นะครับ แต่คือการหาช่วงเวลาและโอกาสที่เหมาะสม สอนหลักการไปแบบเนียนๆ เช่น ผมอาจจะแกล้งเดินไปขอยืมตุ๊กตาที่ลูกหวงมากมาเล่น ซึ่งผมรู้อยู่แล้วว่าแกไม่ให้ พอแกปฏิเสธ ผมก็จะยอมรับมัน และถือโอกาสพูดถึงหลักการข้อเดิมว่า เห็นไหมเวลาที่เราอยากได้อะไร เราต้องขอ แต่ถ้าเจ้าของเขาไม่ให้ เราก็ต้องยอมรับ

ผมไม่เคยสอนลูกนะครับว่าให้คนอื่นเสมอ ถ้ามันเป็นของของเรา และเรามีความสุขที่จะแบ่งปัน จึงจะแบ่งปันได้ แต่ถ้าไม่ เราก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะปฏิเสธ ไม่มีใครมีหน้าที่ต้องทำให้คนอื่นมีความสุขโดยที่ตัวเราเป็นทุกข์ครับ ใครที่ยังติดกับดักนี้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “กับดักของการ ‘ให้’ สายเปย์ต้องอ่าน” คลิก

การวางกฎเกณฑ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กภาพโดย Виктория Бородинова จาก Pixabay

2. วางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน การปลูกฝังตามข้อ 1. ใช้เวลานาน เราต้องหาทางแก้เฉพาะหน้าเอาไว้ก่อน ผมใช้วิธีวางกฎเกณฑ์เลยครับว่า ของทุกอย่างบนโต๊ะแม่ ห้ามหยิบมาเล่น หรือ โทรศัพท์ของพ่อ ห้ามเล่น ใช้คำสั่งที่สั้น และเข้าใจง่ายกับลูกนะครับ

3. ลงโทษ กฎตามข้อ 2 จะไม่มีประโยชน์เลยครับถ้าไม่มีการลงโทษที่เหมาะสม อย่างที่ผมบอกไปแล้วในข้อ 1. ว่าเด็กเล็กยังใช้เหตุผลควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ แต่การลงโทษที่เหมาะสมช่วยได้ครับ สำหรับผม ผมใช้วิธีตัดลายเซ็นในสมุดสะสมความดี (อ่านเกี่ยวกับสมุดสะสมความดี ในบทความ “เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอนั้นดี” คลิก)

ทั้งนี้หนึ่งในเคล็ดลับการลงโทษที่สำคัญที่สุดในสามโลกก็คือ คุณจะต้องลงโทษด้วยอารมณ์ที่สงบ จะขุ่นมัวหรือโมโหไม่ได้เด็ดขาด คุณต้องทำให้ลูกรู้ครับว่าคุณลงโทษเพราะเขาทำผิดกฎ ไม่ใช่เพื่อระบายความโกรธของตัวคุณเอง

เมื่อมีการลงโทษแล้วก็ต้องมีการชมเพื่อเสริมแรงลูกให้ทำในสิ่งที่ถูกครับ เช่น ถ้าลูกเข้ามาขอนาฬิกาของผมไปเล่น ผมไม่ให้ แล้วลูกยอมรับโดยการเดินกลับไปเล่นของเล่นของตัวเอง อันนี้ต้องรีบชมเลยครับ อยากรู้วิธีชมลูกอย่างถูกต้อง อ่านบทความ “ชมลูก...อันตราย” คลิก

การตั้งกฎแล้วลงโทษหรือชมเชยอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความถูกผิดดีชั่วในใจเขาเองโดยอัตโนมัติ

ยังครับผมยังไม่ลืมว่าบทความนี้ผมจะพูดถึง 3 เหตุผลที่คุณไม่ควรโมโหลูก มาครับ มาดูข้อ 3. กันเลย

ครอบครัวและลูกเป็นสิ่งสวยงาม อย่าให้ความโมโหมาทำลายพวกเขาเลยครับภาพโดย Anastasia Gepp จาก Pixabay

III. โมโหไม่มีอยู่จริง

เห็นคำว่าโมโหไม่มีอยู่จริงแล้ว บางท่านอาจจะสงสัย หรือบางท่านอาจจะโมโหให้ผมดูเลยก็ได้ว่ามันมีอยู่จริงนี่ไงล่ะ

ผมขอเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังก่อนนะครับ สุภาพสตรีข้างบ้านของผมชื่อนก อยู่มาวันหนึ่งผมเห็นนกยืนอยู่ที่สนามหญ้าและใช้มือตีลูกอย่างแรง 2-3 ที ติดๆ กันด้วยความโมโห พอดูท่าว่าไฟโทสะเธอจะมอดลงแล้ว ผมจึงเดินเข้าไปถามดูว่านกตีลูกเพราะอะไร เธอบอกครับว่าเมื่อกี้อยู่ดีๆ ลูกก็เดินมาบอกว่า “นก ขอน้ำกินหน่อย”

ผมถามนกว่าอะไรที่ทำให้นกโกรธ เธอบอกว่าการที่ลูกเรียกชื่อเฉยๆ ไง

เอานะครับ ตั้งธงไว้ตรงนี้ก่อนว่า การที่เด็กเรียกชื่อเราเฉยๆ คือสิ่งที่ทำให้เราโกรธ

ทีนี้มาอีกกรณีหนึ่ง ลูกสาวผมเรียนภาษาอังกฤษกับครูฝรั่ง แกเดินไปถามครูว่า “Sam, can I get more sticker?” (แซม หนูขอสติกเกอร์เพิ่มได้ไหม)

ลูกสาวผมเรียกครูว่าแซมเฉยๆ แทนที่ครูจะโมโห กลับหยิบสติกเกอร์ให้อย่างอารมณ์ดี

ถ้า ‘เรียกชื่อเฉยๆ ทำให้คนถูกเรียกโกรธ’ มันเป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ งั้นก็ต้องโกรธกันทุกบ้าน ทุกชาติ ทุกภาษาซิครับ

ความจริงแล้วกระบวนการโกรธเป็นอย่างนี้ครับ เวลาที่เราเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่าง เราจะตีความสิ่งนั้น โดยเราอาจจะนำประสบการณ์ เหตุการณ์ร้ายในอดีต หรือการหล่อหลอมทางสังคม มาตีความสิ่งนั้น และการตีความก็ก่อให้เกิดอารมณ์ ซึ่งแน่นอน คนเราตีความไม่เหมือนกัน นกตีความว่าลูกก้าวร้าว เธอจึงโมโห ครูแซมตีความว่าลูกสาวผมเป็นกันเองกับเขา เขาจึงยิ้มแย้มแจ่มใส

คุณจะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดกับคุณ มันไม่ได้เป็นตัวปัญหา การตีความของคุณต่างหากที่เป็นปัญหา และความโกรธจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคุณไม่ตีความไปในทางนั้น

เห็นหรือยังครับว่าโมโหไม่มีอยู่จริง หรือถ้าจะพูดอีกนัยยะหนึ่ง โมโหเกิดที่เรา ดับที่เรา คนอื่นเขาไม่ได้ทำอะไรเรา เป็นเราที่ทำตัวเอง เพราะอย่างน้อยเราก็เป็นคนที่ตีความเอง ใช่ไหมล่ะครับ

กลับมาถึงคำถามข้างต้นของผมนะครับ คราวนี้ผมขอเปลี่ยนโจทย์เล็กน้อย แต่ช้อยส์ยังเหมือนเดิม

เวลาโมโหลูก คุณ ‘ควร’ ทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด

  • โมโหแต่ไม่แสดงออก
  • ปรี๊ดก็ว๊ากกันเลย ด่าได้ด่า ตีได้ตี ไม่ต้องกดข่มอะไรทั้งนั้น
  • ดับความโมโห

มาถึงขั้นนี้ ผมคงไม่ต้องตอบให้แล้วมั้งครับ บอกแล้วว่าคุณมีเหตุผล 1 ข้อที่จะโมโหลูก แต่ผมมีถึง 3 ข้อที่จะไม่โมโห

เครดิตภาพปก ภาพโดย Prawny จาก Pixabayและ mohamed Hassan จาก Pixabay

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์