อื่นๆ

แชร์ประสบการณ์ตรง "มนุษย์ฟรีแลนซ์ ยื่นแบบภาษีอย่างไร?"

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
แชร์ประสบการณ์ตรง "มนุษย์ฟรีแลนซ์ ยื่นแบบภาษีอย่างไร?"

'มนุษย์ฟรีแลนซ์ ยื่นแบบภาษีอย่างไร? '

ถึงแจ๊ดจะเป็นฟรีแลนซ์ แต่ก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษีตามกฎหมายเหมือนมนุษย์เงินเดือนนั่นแหละค่า

PixabayCr. https://pixabay.com/photos/income-tax-calculation-calculate-491626/

หลาย ๆ คนที่เป็นฟรีแลนซ์เหมือนกันอาจจะกำลังงง ๆ ว่า เป็นฟรีแลนซ์ ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แล้วเวลายื่นแบบภาษีล่ะจะทำไง โอ้ยปวดหัว

ใจเย็น ๆ ค่ะ ไม่ต้องปวดหัว เพราะวันนี้แจ๊ดจะมาแชร์ประสบการณ์ตรง กับการยื่นแบบภาษีในแบบฉบับมนุษย์ที่ไม่มีเงินเดือนให้ฟัง

บอกเลยว่าแรก ๆ แจ๊ดก็งง ๆ เหมือนกัน เพราะปรกติสมัยทำงานประจำ พอถึงเวลา บริษัทก็จะให้สำเนาภาษีหัก ณ ที่จ่ายมา ก็แค่ลอกตัวเลขบนเอกสาร กรอกลงไปบนภ.ง.ด เสร็จละก็คลิ๊กยื่นแบบ จบ!

pixabay Cr. https://pixabay.com/photos/money-bills-calculator-save-256312/

Advertisement

Advertisement

แต่พอมาเป็นฟรีแลนซ์มันไม่เหมือนกัน เป็นฟรีแลนซ์แจ๊ดไม่มีเอกสารสำเนาภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีแต่หลักฐานการโอนเงินจากลูกค้า เพราะส่วนใหญ่มักดิลงานกับลูกค้าที่มาในฐานะบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ในฐานะบริษัท เลยไม่มีการหัก ณ ที่จ่ายแจ๊ด หรือไม่ก็หักแต่ไม่ให้เอกสารแจ๊ดบ้าง(อันนี้บ่อย)

แรก ๆ ก็งง ๆ ว่าเราจะยื่นแบบได้ยังไง สุดท้ายก็เลยปิ๊งไอเดียง่าย ๆ คือยก Statement ธนาคารมาทั้งปีเลยค่า อันนี้เคยโทรไปปรึกษาสรรพากรมาแล้ว สรรพากรบอกว่าใช้ Statement ได้ เพราะถึงยังไง Statement ก็เป็นของบัญชีที่แจ๊ดใช้รับเงินจากลูกค้าอย่างเดียว ดังนั้นมันเลยแสดงรายได้ทั้งหมดที่แจ๊ดได้รับในปีนั้น ๆ เวลายื่นแบบ เราก็กรอกตัวเลขที่ท้าย Statement ไปเลย ว่าปีนั้นทั้งปีเราหาเงินได้เท่าไหร่

pixabay Cr. https://pixabay.com/illustrations/financial-analysis-accounting-4560047/

Advertisement

Advertisement

แต่ส่วนที่หลายคนน่าจะปวดหัวมากกว่าก็คือ 'ประเภทของเงินได้'​ เพราะตามกฎหมายภาษีแล้ว เงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 8 ประเภทด้วยกัน (**ขอยกข้อความมาจากเว็บไซต์กรมสรรพากรทั้งหมด http://www.rd.go.th/m/553.0.html <<ลิงค์ต้นฉบับ)

pixabay Cr. https://pixabay.com/photos/money-bills-calculator-save-256312/

1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น

- เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
- เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
- เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น

Advertisement

Advertisement

2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น

- ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
- เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
- เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
- เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

3. เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร   เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมี หลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน กับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ
(ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
(จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน
(ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
(ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
เงินได้ประเภทที่ 4 ในหลาย ๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษี ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย สามารถประหยัดภาษีได้

5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก
- การให้เช่าทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว

6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

... มนุษย์ฟรีแลนซ์ทั้งหลายก็คงมึนตึ้บไปตาม ๆ กัน ว่าเอ... แล้วรายได้ของฉันจะจัดอยู่ในประเภทไหนกันนะ ถ้าไม่รู้ประเภทก็ยื่นแบบไม่ได้

ที่จริงแล้วประเภทรายได้ของฟรีแลนซ์ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เพราะฟรีแลนซ์เป็นเพียงคำกว้าง ๆ หมายถึงคนที่ทำงานอิสระ ไม่มีนายจ้าง ไม่มีเงินเดือน แต่จะทำอะไรนั้นก็อีกเรื่อง เช่น บางคนเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์อิสระ บางคนเป็นทนายความอิสระ บางคนเป็นผู้รับเหมาอิสระ บางคนเป็นหมอฟันอิสระ(เปิดคลินิคเอง)​ หรืออย่างแจ๊ดก็เป็นนักเขียนอิสระ ดังนั้นประเภทรายได้ของฟรีแลนซ์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

ในส่วนของแจ๊ด แจ๊ดเป็นนักเขียนอิสระ แจ๊ดเลือกรายได้ประเภทที่ 2 คือรายได้จากการรับจ้างหรือทำงานให้ อันนี้ก็เคยโทรไปปรึกษาสรรพากรแล้วเหมือนกัน บอกว่าแจ๊ดรับเขียนงานแบบนี้นะ อธิบายรูปแบบอาชีพให้ฟัง สรรพากรก็บอกว่า งั้นประเภทสองก็โอเค

อย่าลืมยื่นแบบให้ตรงเวลา! ปรกติแล้วสรรพากรจะเปิดให้ยื่นช่วงประมาณมกราถึงกลางเมษาของทุกปี แจ๊ดแนะนำให้ยื่นออนไลน์สะดวกสุด เพราะมันรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาขับรถไปที่สำนักงานสรรพากรด้วย ยื่นเสร็จก็พิมพ์หลักฐานเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ง่ายมาก!

แต่ข้อควรระวังคือ ฟรีแลนซ์คนไหนที่รายได้อยู่ในประเภท 5-8 จะต้องมีการยื่นแบบภาษีครึ่งปี หรือ ภ.ง. ด. 94 ด้วย ง่าย ๆ คือ ปี ๆ นึงต้องยื่นแบบ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการยื่นในช่วงมกรา-เมษาซึ่งเป็นการแสดงรายได้ทั้งปีของปีก่อนหน้า กับอีกครั้งคือยื่นตอนช่วงประมาณกรกฎา-กันยา ซึ่งเป็นการยื่นแสดงรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงมกรา-มิถุนาของปีนั้น ๆ (อ้างอิงจาก http://www.rd.go.th/m/558.0.html) ไม่ต้องหงุดหงิดว่าทำไมประเภทอื่นยื่นครั้งเดียว แต่ฉันต้องยื่นตั้งสองรอบ เสียภาษีตั้งสองรอบ เพราะนี่ก็เพื่อความยุติธรรมแก่ผู้มีเงินได้ทุกคน ใครมีเงินได้มากก็ต้องเสียภาษีมากเป็นธรรมดา และเงินได้ประเภท 5-8 ก็เป็นเงินได้ที่มีจำนวนมากกว่าเงินได้ประเภทอื่น ๆ ดังนั้นต้องยื่นแบบสองรอบ เสียภาษีสองรอบ ก็ไม่แปลก

ยังมีฟรีแลนซ์หลายคนที่ไม่เคยยื่นแบบภาษีเลย บางคนก็เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย แต่บางคนก็จงใจไม่ยื่นจริง ๆ เพราะประมาทคิดว่าไม่มีสำเนาหัก ณ ที่จ่ายส่งผ่านไปที่สรรพากร ยังไงก็ตรวจไม่เจอแน่ ๆ

pixabay Cr. https://pixabay.com/illustrations/prison-shut-in-jailed-internal-1548012/

เอ่อ... แจ๊ดจะบอกว่า ถ้าจะตรวจจริง ๆ สรรพากรก็สามารถตรวจได้นะ อย่านิ่งนอนใจไป เพราะบางครั้งลูกค้าอาจหัก ณ ที่จ่ายเรา แต่ไม่ส่งสำเนามาให้ หรือไม่ก็ถ้ารายได้เราล่อตาล่อใจมาก ก็อาจมีคนแจ้งให้สรรพากรเข้ามาตรวจสอบก็เป็นได้ ละถ้าหากถูกจับได้ว่าเราจงใจไม่ยื่นแบบละก็ โทษสูงสุดคือปรับ 5,000 บาท ติดคุก 6 เดือนเลยทีเดียว! ถ้าถูกจับได้อีกว่าจงใจหนีภาษี โทษก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ สูงสุดคือปรับ 200,000 ติดคุก 7 ปี แถมยังต้องเสียเบี้ยปรับเสียภาษีย้อนหลังอีกหน้ามืด (**อ้างอิงจาก https://www.itax.in.th/pedia/บทลงโทษ)​

หรือถ้าใครไม่ได้ยื่นแบบภายในกำหนด อันนี้คือคนที่ยื่นแบบเลท หรือไม่ก็ไม่ได้ยื่นแบบแต่ไม่มีเจตนาหลบหนีภาษี โทษสูงสุดคือปรับ 2,000 บาท และบังมีเบี้ยปรับจุกจิกอีกเพียบ ( **อ้างอิงจาก https://www.itax.in.th/pedia/บทลงโทษ)​

รู้อย่างนี้แล้ว ก็ยื่นแบบให้ตรงเวลา ยื่นตามจริง เสียภาษีให้ครบ เสียภาษีให้ตรงเวลา ชีวิตจะง่ายขึ้นอีกเยอะ(นะจ๊ะ)

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์