อื่นๆ

เส้นทางสายเก่า กับเรื่องเล่ามุมมองชนบทที่เปลี่ยนไป

196
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เส้นทางสายเก่า กับเรื่องเล่ามุมมองชนบทที่เปลี่ยนไป

เส้นทาง ฉัน เด็กน้อยผู้เติบโตในหมู่บ้านชนบท ชีวิตในวัยเด็กของฉันถูกใช้ไปกับการพาตัวเองเข้าไปในห้องเรียนใบใหญ่ที่คนในชุมชนฉันใช้เป็นตู้กับข้าว หลังเลิกเรียนฉันกับเพื่อนจะชวนกันไปหาปูนา  ส่วนช่วงวันหยุดจะไปหาปลา  แมงดา  เก็บเห็ด  ขุดกุดจี่  ยิงกิ้งก่า ฯลฯ  ชีวิตในวัยเด็กของฉันอิงแอบไปตามวิถีชนบทฉันรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ออกไปสัมผัสกับโลกใบกว้าง  เสียงคุณยายข้างบ้านที่ชวนออกไปหาปลาในท้องทุ่งเป็นเสียงที่ยังคงดังก้องอยู่ในใจฉันหลงใหลเสียงหยอกล้อกันในกลุ่มผองเพื่อนระหว่างที่ไปเก็บเห็ดเป็นเสียงที่ฉันอยากจะได้ยินมันบ่อยครั้งภาพของลุงป้าน้าอาที่แบกจอบกับตะกร้าที่ข้างในเต็มไปด้วยน้ำดื่มและอาหารเพื่อไปทำงานในผืนนาเป็นภาพที่ฉันยังอยากจะเห็นทุกครั้งที่มีโอกาส  แต่ภาพต่างๆพร้อมกับเรื่องราวที่ฉันได้พบเจอในช่วงวัยเด็กค่อยๆเลือนไปตามกาลเวลาใครกันหนาที่ทำให้ภาพวิถีมันเปลี่ยนไปจากเดิม  หรือตัวเราเองที่มองภาพของวิถีชนบทเปลี่ยนไป

Advertisement

Advertisement

ภาพวิวระหว่างเดินทาง

หลังจากหอบหิ้วกระเป๋าออกจากบ้านเพื่อออกไปตามหาความฝันที่สถาบันการศึกษาในเมืองใหญ่  ความรู้สึกในตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ออกไปเรียนรู้โลกกว้างและรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ออกไปวิจัยชีวิตในเมืองใหญ่เพราะก่อนหน้านี้ตั้งใจแล้วว่าจะขอเข้าไปเรียนในเมืองใหญ่เพื่อที่อยากจะเรียนรู้วิถีชีวิตของคนเมืองว่าเหมือนหรือแตกต่างกับคนชนบทอย่างไร  แล้วเมืองมีดีอะไรทำไมคนถึงชอบอพยพเข้ามาอยู่ หลากหลายคำถามที่ทำให้ฉันอยากค้นหาคำตอบ  นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่

ฉันเลือกเรียนในสาขาที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน เพราะฉันเติบโตมาจากครอบครัวที่ทำงานด้านนี้โดยตรง  คุณปู่เป็นแกนนำในการก่อตั้งกลุ่มชูชกสะอื้น(กลุ่มที่ส่งเสริมการทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองโดยทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่)ให้กับชาวบ้าน  ส่วนคุณพ่อเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่คอยให้ความรู้กับชาวบ้านที่สนใจวิถีการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  ประกอบกับความสนใจส่วนตัวที่คิดว่าสาขานี้จะช่วยไขคำตอบที่อยากจะรู้เกี่ยวกับการพัฒนา  เมื่อฉันเรียนไปได้สักพักฉันรู้สึกว่ามุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนของฉันค่อยๆชัดขึ้น  แต่สิ่งที่สวนทางกลับกลายเป็นว่าฉันค่อยๆห่างจากวิถีชนบท  วิถีเดิมๆที่ฉันเคยใกล้ชิด แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว  ฉันเริ่มตั้งคำถามอีกครั้งว่าใครกันนะที่ทำให้รู้สึกว่าวิถีชุมชนเป็นเรื่องที่ค่อยๆไกลตัวออกไปๆ หรือว่าการศึกษากันนะที่แยกคนออกจากพื้นที่ความเป็นชุมชน  หรือตัวเรากันแน่นะที่กำลังเดินออกห่างความเป็นชุมชนโดยที่เราไม่รู้ตัว

Advertisement

Advertisement

ในช่วงที่ฉันเรียนฉันมีโอกาสกลับบ้านอยู่บ่อยครั้งในช่วงเทศกาลสำคัญๆและในช่วงที่หัวใจฉันเรียกร้องให้กลับบ้าน  ฉันรู้ซึ้งถึงคำว่าไม่มีที่ใดสุขใจเท่าบ้านเราก็เมื่อวันที่ฉันก้าวเก็บกระเป๋าออกจากบ้านเพื่อไปตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ทุกๆครั้งที่กลับบ้านฉันมักจะมองลอดผ่านกระจกออกไปยังสองข้างทางภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน พื้นที่ที่เคยเป็นป่าบัดนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย  ร้านรวงต่างๆผุดขึ้นมากมาย  ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น  แต่ฉันก็ได้แค่คิดและเก็บความสงสัยเอาไว้เพื่อหาคำตอบ  ความแปลกใจและเครื่องหมายคำถามที่เกิดขึ้นในหัวไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แม้แต่หมู่บ้านที่ฉันเติบโตก็มิวายทัดทานกระแสของการเปลี่ยนแปลง  ถนนหนทางที่เคยเป็นดินลูกรัง กลับถูกแทนที่ด้วยถนนคอนกรีต  ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวต่างมุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อไปหางานทำ  ฉันอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับความเป็นชุมชนในปัจจุบัน  แต่ฉันก็พอจะมีคำตอบที่สำรองอยู่ในใจแล้วว่าวิถีชุมชนที่เปลี่ยนไปมันคงจะมีขึ้นเพื่อให้ผสานไปกับการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก  ไม่แน่นะเครื่องหมายคำถามที่เกิดขึ้นในหัวของฉันมันอาจจะเป็นผลมาจากการที่ฉันไปหยุดภาพของความเป็นชนบทไว้ด้วยสายตาในวัยเยาว์

Advertisement

Advertisement

เย็นย่ำวันหนึ่งในห้วงวันของวันที่หัวใจกลับบ้าน ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับพ่อตามประสาพ่อลูก  นานเท่าไหร่แล้วนะที่ไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกัน  เราต่างไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน  ความห่างไกลทำให้ประโยคสนทนาขาดช่วงอยู่หน่อยๆ  พ่อคนที่ฉันแทบจะไม่ค่อยได้พูดคุยอะไรด้วยมาก ตั้งแต่ฉันจำความได้ฉันเห็นพ่อทำงานพัฒนาชุมชนมาโดยตลอด   ทำตั้งแต่ตอนที่พ่อรับราชการครูจนปัจจุบันพ่อผันตัวเองมาเป็นปราชญ์ชาวบ้านอย่างเต็มตัว  งานหลักๆของพ่อคือการให้ความรู้เกษตรกรโดยการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับวิถีการเกษตร   ด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นเครื่องชี้ชัดว่าวิถีการปฏิบัติดังกล่าวสามารถทำได้จริงและไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ  นอกจากนั้นพ่อยังได้ถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรด้วยการเปิดอบรมหลักสูตร วปอ. ภาคประชาชน(ที่เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรที่เข้าอบรมผ่านหลักอริยะสัจ 4)  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานร่วมกันคิดค้นขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร  จริงๆแล้วรูปแบบของการอบรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่แค่เอามาเรียงร้อย  จัดระบบให้เห็นได้ชัด และให้สามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น

พ่อคนที่คอยทำให้ฉันเห็นว่าวิถีเกษตรพึ่งตนเองและอิงแอบไปกับภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเป็นสิ่งที่จะต่อสู้กับความยากจนของเกษตรกรได้   ฉันเชื่อว่ามันจะคานกับกระแสของวิถีการพัฒนาในปัจจุบันได้   วิถีการพัฒนาที่อิงแอบไปกับภูมิปัญญา  วิถีการพัฒนาที่เราอาจจะหลงลืม  การที่จะฟื้นให้วิถีดังกล่าวกลับมามีพลังอีกครั้งมันอาจจะจำเป็นต้องมีผู้ที่หยิบยกเรื่องราวที่เป็นวิถีภูมิปัญญาที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมามาทำให้มันเป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง  “ ปราชญ์ชาวบ้าน ” คงจะเป็นหนึ่งในนั้นที่ทำให้ชาวบ้านตระหนักเห็นว่าวิถีที่เราเคยปฏิบัติกันมา การเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน จะช่วยให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคง  ฉันเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับปราชญ์ เขาบอกว่า “ ปราชญ์ชาวบ้าน คือ บุคคลที่ได้รับการยกย่องเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา ได้แก่ ผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญด้านต่างๆ ซึ่งครอบคลุมไปถึงบุคคลที่พยายามแก้ปัญหาการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ โดยใช้ความรู้จากประสบการณ์ตรงของตนหรือด้วยความเพียร พยายามปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆจนแนวคิดและการปฏิบัติเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและมีการเผยแพร่ให้บุคคลที่สนใจ  หรือ จากบุคคลรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง” ฉันว่าบทบาทปราชญ์ในความเป็นจริงก็เป็นอย่างนั้น ปราชญ์ชาวบ้านไม่ได้เป็นหมากตัวหนึ่งของรัฐที่คอยเอาไว้ขับเคลื่อนการครอบงำให้คนในชนบทเชื่อในแนวทางการพัฒนาที่ตนคิดว่ามันเหมาะสม แต่ปราชญ์ชาวบ้าน คือ ผลผลิตทางภูมิปัญญาของชุมชนที่ช่วยสานต่อและหยิบยกวิถีการดำเนินชีวิตที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อให้ทุกคนเชื่อมั่นในวิถีภูมิปัญญาและไม่หลงลืมรากเหง้าของตนเอง

วิถีชีวิต

หลายต่อหลายครั้งที่ฉันหลงลืมอะไรไปบางอย่างและหลายต่อหลายครั้งที่ฉันเอาสายตาของคนนอกไปตัดสินความเป็นชุมชน พ่อผู้ซึ่งเป็นผู้จุดประกายงานด้านพัฒนาชุมชนให้กับฉันมักเป็นผู้ที่คอยเตือนสติฉันเสมอ  การฝักใฝ่ในความคิดและความเชื่อของตัวเองบางทีมันก็อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์มันก็คงไม่ต่างอะไรกับแนวทางการพัฒนาชุมชนที่มีหลากหลายรูปแบบ  การจะหยิบเอาแนวทางใดแนวทางหนึ่งมาใช้คงจะเป็นเรื่องที่ดูจำกัดนัก ฉันเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วแนวทางการพัฒนารูปแบบใดที่เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ประเด็นสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่าวิถีการพัฒนาแบบใดมันจะดีที่สุด  แต่มันสำคัญที่ว่าวิถีการพัฒนาแบบใดที่จะพยุงให้คนในชุมชนไม่หลงลืมรากเหง้าของตนเอง และในขณะเดียวกันก็สามารถขับเคลื่อนจังหวะของชีวิตล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก  พ่อผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์อีสานเป็นเครื่องสะท้อนที่ทำให้ฉันเห็นว่าพ่อไม่ได้ยึดติดกับวิถีปฏิบัติที่อิงแอบไปกับภูมิปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีการปรับวิถีชีวิตแบบผสมผสาน โดยประยุกต์ระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรดีควรนำมาใช้ทั้งเก่าและใหม่  แนวคิดของพ่อช่วยให้ฉันมองภาพความเป็นชนบทในมุมมองที่เข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น  สรรพสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนมีการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งอย่างเป็นของไม่เที่ยง  เราไม่ควรยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด  แต่สิ่งที่เราควรจะทำคือการทำความเข้าใจและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  อาจจะมีการหยิบยืมแนวความคิดเพื่อนำมาประยุกต์กับแนวคิดเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อให้สามารถล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนสังคมโลกใบนี้  แท้ที่จริงคำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านตามที่หลายคนเข้าใจ  แต่คำตอบอาจจะอยู่ใกล้ๆกับตัวเรา ลองขยับแว่นหน่อยไหมเผื่อจะได้เห็นชนบทที่ไม่ยึดติดกับสายตาในวัยเยาว์

ภาพประกอบโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์