ไลฟ์แฮ็ก

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร ให้สำเร็จ?

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร ให้สำเร็จ?

ขึ้นชื่อว่า "แม่" ทุกคนอยากมอบสิ่งดี ๆ ให้ลูกทั้งนั้นค่ะ วันนี้แม่มีเคล็ดลับที่ไม่ลับมาฝาก ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนสำเร็จ มาฝาก เผื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ดังนี้

  1. เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ให้ตกลงร่วมกันกับคุณพ่อของน้องให้เข้าใจก่อนเลยว่า “ครอบครัวเราจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ให้คุณพ่อมีความเข้าใจที่สำคัญต้องเห็นพ้องต้องกัน และพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณแม่ให้เลี้ยงน้องด้วยนมแม่ให้สำเร็จแม่ลูก
  2. ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และชูเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนก็ได้ตามที่คุณพ่อและคุณแม่สะดวก ที่เหลือก็คือปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลไปพบหมอตามนัด
  3. ศึกษาหาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไว้บ้างเบื้องต้น เมื่อถึงเวลาจริง จะได้ไม่กังวลมากนัก
  4. เมื่อถึงวันคลอดในคุณแม่ที่คลอดเองอาจไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำนมมากนัก เพราะน้ำนมมักจะไหลทันทีซะเป็นส่วนใหญ่หลังจากที่ได้มีการให้น้องดูดเต้ากระตุ้นหลังคลอด
  5. คุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีการผ่าตัด น้ำนมอาจยังไม่มาในทันทีทันใด ขอให้คุณแม่ใจเย็น ๆ ให้ลูกเข้าเต้าดูดกระตุ้นสม่ำเสมอ ทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง หรือถี่กว่านั้นในระดับที่คุณแม่ไหว อย่ากังวลว่าลูกจะหิวไม่ได้ทานนม เพราะเด็กทารกแรกเกิดจะสะสมพลังงานตุนก่อนออกมาจากท้องแม่ไว้พอสมควรแล้ว ที่สำคัญวันแรกกระเพาะน้องใหญ่แค่ขนาดเท่าลูกแก้ว วันที่ 3 ขนาดเท่าลูกวอลนัต วันที่ 7 ขนาดเท่าแอปปริคอต และครบ 30 วันจึงจะมีขนาดเท่าไข่ไก่
  6. แนะนำให้ปรึกษาคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลจะมีผู้เชี่ยวชาญสอน เรื่องท่าทางการอุ้มลูกเข้าเต้าให้ถูกวิธี  มีทั้งแบบนั่ง แบบนอน เลือกฝึกได้ตามถนัด เคล็ดลับสำคัญคือ ปากลูกต้องอมลึกเต็มลานนม หัวลูกต้องเสมอกับอก ลำตัวขนาดชนกับท้องแม่ขวดนมแม่
  7. ถ้าน้ำนมไม่ไหลจริง ๆ พยาบาลอาจเอานมผสมมาให้คุณพ่อช่วยหยดเข้าปากน้องระหว่างที่คุณแม่กำลังให้น้องดูดกระตุ้น กรณีนี้แม่เจอมากับตัวค่ะ  น้ำนมไม่ไหลน้องดูดกระตุ้นเต้าอย่างเดียว 2 วัน และกินนมผสมหยดผ่านเต้าของแม่ วันที่  3 น้ำนมถึงมาค่ะ ให้คุณแม่อดทนให้มาก ๆ อย่ากังวล เพราะยิ่งกังวลนมก็จะยิ่งมาช้าค่ะ
  8. ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐแนะนำให้นวดกระตุ้นน้ำนมกับแพทย์แผนไทยร่วมด้วยจะช่วยได้ดีมาก ๆ
  9. เมื่อกลับบ้านแล้วต้องขยันให้น้องทานนมจากเต้าคุณแม่ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ถ้าหลับก็ต้องปลุกขึ้นมาทานหนึ่งครั้งอย่างน้อย 15 นาที สังเกตว่าลูกอิ่มหรือยังด้วยการดูพุง ถ้ากดแล้วพุงยังนิ่มอยู่ คือยังทานต่อได้อีกค่ะ แต่ถ้ากดแล้วป่อง ๆ แข็ง ๆ คืออิ่มพอแล้ว แต่ถ้าปล่อยให้พุงหลามเป็นทรงน้ำเต้านี่น้องอาจจะอึดอัด และต่อไปอาจจะเป็น Over feeding คือทานนมมากเกินไปได้
  10. ลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ จะช่วยให้แม่ไม่คัดเต้านม ป้องกันท่อน้ำนมอุดตันอาจทำให้ลุกลามจนเป็นฝีปัญหาใหญ่ของคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมเลยนะคะ
  11. ให้น้องทานนมแม่อย่างเดียวตลอด 6 เดือน ไม่ต้องทานน้ำค่ะ เพราะในนมแม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักอยู่กว่า 80% แล้ว ทารกในช่วงเวลานี้ต้องการภูมิต้านทาน และสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ซึ่งในนมแม่มีอยู่มหาศาล และเพียงพอค่ะ ถ้ากลัวว่าลูกจะคอแห้งไปให้ทานน้ำ อย่างที่บอกไปตอนแรกว่ากระเพาะของน้องเล็กนิดเดียว ทานน้ำจนอิ่ม ก็ไม่ทานนม แล้วน้องจะเอาสารอาหารที่ไหนมาโตกันคะ
  12. อย่าให้น้องเจอขวดนมก่อน 1 เดือน เพราะอาจทำให้น้องสับสนและติดขวดไม่ดูดเต้าแม่อีกเลย
  13. หากอยากรู้ว่าลูกได้ทานนมเพียงพอหรือไม่  ให้นับจากอุจจาระและปัสสาวะของลูก หากอุจจาระครบ 2 ครั้ง/วัน และมีขนาดใหญ่เท่าแกนกระดาษทิชชู่  ปัสสาวะครบ 6 ครั้ง/วัน ถือว่าน้องได้รับนมแม่เพียงพอ
  14. ในนมแม่จะมีสารที่ช่วยเรื่องการขับถ่ายของน้อง โดยเฉพาะในกรณีที่น้องมีอาการเหลืองที่เกิดจากมี บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ ตับของน้องยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้กำจัดเจ้าบิลิรูบินได้ไม่สมบูรณ์นัก ในนมแม่ก็จะช่วยให้ขับสารนี้ออกมากับอุจจาระและปัสสาวะได้มากขึ้น เรื่องนี้ก็เจอมากับตัวค่ะ อัดนมแม่ถี่ ๆ น้ำหนักน้องขึ้นดี แข็งแรง และหายเหลืองค่ะ
  15. ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ประเภทโปรตีน และอาหารช่วยเพิ่มน้ำนม อาทิ ไก่ผัดขิง หัวปลี แกงเลียง เป็นต้น
  16. ถ้าคุณแม่ต้องกลับไปทำงานนอกบ้าน แนะนำให้เริ่มปั๊มนมเก็บสต๊อคในช่วง 1 เดือนให้หลัง เพื่อจะได้มีเวลาให้น้องทานนมได้เต็มที่แบบไม่ต้องกังวล เพราะในช่วงเดือนแรกคุณแม่จะเหนื่อยมาก ๆ ค่ะ
  17. คุณพ่อสำคัญมาก ๆ ค่ะ ต้องคอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือคุณแม่ในทุก ๆ เรื่องที่ช่วยได้ เพื่อให้คุณแม่ผ่อนคลายจากความเครียดและความกังวลต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูกค่ะ
  18. แนะนำให้ติดตามเพจของคุณหมอสุธีรา ไพโรจน์กิจ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะมีเทคนิค คำแนะนำดี ๆ ที่ทำตามได้ง่าย ๆ หมดกังวลสารพัดปัญหาหรือข้อสงสัยในการเลี้ยงลูกแน่นอนค่ะเด็กน้อย

Advertisement

Advertisement

หวังว่าประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยเป็นแนวทางให้คุณแม่ทุกท่านได้ไม่มากก็น้อย เป็นกำลังใจให้ทุกคนฟันฝ่าอุปสรรค เพื่ออนาคตสุขภาพที่แข็งแรงของลูกเรานะคะ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองได้จริง ๆ คุณแม่ก็ไม่ผิดและอย่ากังวลจนโทษตัวเอง เชื่อว่าความรัก การดูแล ใส่ใจของแม่และครอบครัวจะต้องทำให้ลูกเติบโตแข็งแรงได้แน่นอนค่ะ

ภาพ : BY ผู้เขียน

Advertisement

Advertisement

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์