อื่นๆ

เลี้ยงลูกคนเดียวยังไงไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา

163
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เลี้ยงลูกคนเดียวยังไงไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา

ภาพจากเว็บไซต์ pixabay.com

เมื่อต้องดูแลลูกเพียงตัวคนเดียว คุณพ่อหรือคุณแม่ก็คงเริ่มเกิดอาการกังวลใช่ไหมคะ ว่าควรเลี้ยงลูกยังไงให้ลูกโตมาเป็นเด็กที่ไม่มีปัญหา

ขอบอกไว้ก่อนนะคะว่าบทความนี้ไม่ใช่บทความแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญค่ะ เพราะแม้คุณพ่อคุณแม่จะเรียนรู้วิธีการเลี้ยงลูกจากผู้เชี่ยวชาญก็ใช่ว่าลูกๆ ที่โตมาจะไม่มีปัญหาอะไรเลยตามผลวิจัยของผู้เชี่ยวชาญทุกอย่าง ซึ่งบทความนี้เป็นบทความจากประสบการณ์จริงในฐานะลูกที่โตมาด้วยการเลี้ยงดูอย่างดีของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงลูกคนเดียวมาตลอด โดยเลี้ยงลูกด้วยหนังสือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงลูก และคำแนะนำมากมายจากคนรอบข้าง และผลที่เกิดขึ้นเป็นผลที่ค่อนข้างดีเพราะลูกอย่างผู้เขียนใช้ชีวิตได้ดีมาตลอด มีความสุขกับการมีคุณแม่เป็นผู้เลี้ยงคนเดียวมาตลอดและอยากอยู่กับคุณแม่ตลอดเวลา แต่ผลที่ไม่คาดคิดจากการเลี้ยงลูกตามกรอบของหนังสือแนะนำ และคำแนะนำจากผู้คนรอบข้าง ก็ทำให้ลูกอยู่ในกรอบมากเกินไป และไม่สามารถเล่าทุกอย่างให้คุณแม่รับรู้ได้ โดยสุดท้ายลูกกลายเป็นคนดีที่มีโรคซึมเศร้าติดตัว

Advertisement

Advertisement

ดังนั้น บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางและคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ควรทราบไว้ว่า วิธีการเลี้ยงลูกคนเดียวที่ดีควรทำอย่างไร และควรหลีกเลี่ยงวิธีการใดบ้าง

ภาพจากเว็บไซต์ pixabay.com

1.การเลี้ยงลูกตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะด้วยการอ่านจากหนังสือ การเข้าดูเว็บไซต์ต่างๆ หรือจากการเข้ารับคำปรึกษากับคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะก็ตาม ซึ่งเป็นข้อแรกที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านมักจะให้ความสำคัญและเลี้ยงลูกตามแนวทางนี้กัน

ข้อดีของการเลี้ยงลูกตามคำแนะนำข้อนี้ คือลูกๆ จะมีพัฒนาการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในเรื่องพัฒนาการด้านสุขภาพร่างกายและความรู้ แน่นอนว่าวิธีการนี้คือวิธีการที่ดีเลยทีเดียว

แต่มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสียเช่นกัน การใช้วิธีการที่มาจากความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวซึ่งมักนำผลวิจัยจากเด็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันมาอ้างอิงเท่านั้น ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องยืนยันไม่ได้ว่าลูกๆ จะได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับเด็กคนอื่นที่ได้รับการเลี้ยงดูตามวิธีนี้ทุกคน

Advertisement

Advertisement

2.การเลี้ยงลูกตามแบบอย่างของคนรอบข้าง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีประสบการณ์ในการมีลูกหรือไม่นั้น ถ้าพูดภาษาไม่ทางการก็เรียกได้ว่า เป็นเรื่องของคนข้างบ้าน นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะข้อดีมีเพียงคุณพ่อคุณแม่ได้รู้ว่าคนอื่นเขาเลี้ยงลูกของเขายังไง และคุณพ่อคุณแม่อาจทำตามได้ในกรณีที่ไม่มีวิธีการอื่นในการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของตัวเองแล้ว

แต่ข้อเสียในข้อนี้ถือว่ามีเยอะพอสมควร เพราะทุกคนที่เลี้ยงลูกของตนเองไม่มีใครเล่าผลลัพธ์ให้คนอื่นฟังแน่นอนว่าวิธีการเลี้ยงลูกของตนมันได้ผลดีหรือไม่ ดังนั้นนอกจากผลลัพธ์ภายนอกที่คุณพ่อคุณแม่มองเห็นจากครอบครัวอื่นเท่าที่เขาให้เห็นแล้วคุณพ่อคุณแม่จะไม่เห็นผลลัพธ์อื่นอีกเลยจึงบอกไม่ได้เลยว่าการเลี้ยงลูกตามคนอื่นจะได้ผลดี และยิ่งการได้รับคำแนะนำจากผู้ไม่มีประสบการณ์หรือจากผู้มีประสบการณ์แต่สถานะครอบครัวของเขาแตกต่างจากคุณพ่อคุณแม่นั้นยิ่งควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกของครอบครัวที่มีครบทั้งคุณพ่อคุณแม่ เพราะคุณพ่อคุณแม่ต้องรำลึกเสมอว่าคุณพ่อคุณแม่นั้นกำลังเลี้ยงลูกด้วยตนเองเพียงคนเดียวอยู่นะคะ จะนำวิธีการแบบครอบครัวเขามาใช้อาจหนักไปสำหรับการเลี้ยงลูกตัวคนเดียว

Advertisement

Advertisement

3.การเลี้ยงลูกโดยคำนึงถึงการให้ความรัก ความอบอุ่นเป็นสำคัญ ในเรื่องนี้คือปัญหาค่อนข้างใหญ่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียวใช่ไหมคะ คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงกังวลว่าลูกๆ จะไม่ได้รับความรักที่เพียงพอใช่หรือไม่ แต่ปัญหานี้มันสามารถหมดไปได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว หากว่าคุณพ่อคุณแม่เลือกที่จะเติมความรักความอบอุ่นนั้นด้วยตัวท่านเองเพียงคนเดียว เพราะผู้เขียนยืนยันว่าเพียงคุณพ่อหรือคุณแม่เพียงคนเดียวที่เลี้ยงดูลูกก็เพียงพอแล้วค่ะ

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกได้รับความรักความอบอุ่นจากฝ่ายตรงข้ามด้วย คือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวอยากให้ลูกได้รับความรักความอบอุ่นจากผู้เป็นแม่ หรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอยากให้ลูกได้รับความรักความอบอุ่นจากผู้เป็นพ่อ ไม่ว่าจะด้วยการมีครอบครัวใหม่หรือเปิดโอกาสให้คุณพ่อหรือคุณแม่ที่แท้จริงมาดูแลลูกได้นั้น ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของฝ่ายตรงข้ามทันที ถ้าเขารักเหมือนที่เรารักนั่นคือสิ่งที่ดี แต่ถ้าเขาให้ทุกอย่างได้แต่ยกเว้นมอบความรักให้ลูกเราไม่ได้ ถึงคุณพ่อคุณแม่จะต้องการเริ่มต้นใหม่ ผู้เขียนก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลในส่วนของลูกแยกออกมานะคะ และยิ่งหากฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ที่แท้จริงมีครอบครัวใหม่แล้วแม้เขาจะพร้อมดูแลลูกและมอบความรักให้ลูกเราได้ ก็อย่าปล่อยให้ลูกไปพบกับความลำบากใจเลยค่ะ เพราะมันจะเป็นปัญหาว่าถึงคุณพ่อคุณแม่จะมอบความรักให้ลูกมากเท่าไร ลูกก็จะมองไม่เห็นเพราะลูกได้มองเห็นความทุกข์ความลำบากใจที่คุณหยิบยื่นให้เพียงหวังให้ลูกได้รับความรักความอบอุ่นนั้นไปแล้ว

4.การเลี้ยงลูกโดยคำนึงถึงอนาคตของลูก เรื่องนี้ก็คงสำคัญไม่แพ้ข้ออื่นใช่ไหมคะคุณพ่อคุณแม่ เหตุผลที่ต้องการเลี้ยงลูกให้ไม่มีปัญหา ให้ลูกเป็นคนดี ก็เพราะอยากให้ลูกโตไปมีอนาคตที่ดีใช่ไหมคะ หากคุณพ่อคุณแม่บอกลูกตลอดว่า "โตไปลูกต้องเป็นคนดีนะ" "โตไปลูกต้องตั้งใจเรียนนะ" "โตไปลูกต้องมีงานทำที่ดีนะ" แน่นอนว่าลูกรับรู้ค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่หวังดี แต่ได้โปรดพูดแค่คำโปรยนะคะอย่าใส่รายละเอียด อย่าไปชี้บอกว่าเขาควรทำอะไร ทำยังไง และทำแบบไหนถึงจะดี และอย่าพูดถึงมันบ่อยเกินไปด้วยนะคะ เพราะถึงแม้การที่คุณพ่อคุณแม่พูดซ้ำนั้นแค่เพราะคิดว่ามันเป็นคำพูดให้กำลังใจที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ แต่สำหรับลูกๆ ที่กำลังทำหน้าที่ของเขาอยู่นั้นอาจไม่คิดแบบนั้นนะคะ ยิ่งหากเขากำลังท้ออยู่เมื่อได้รับฟังคำพูดเดิมๆ ซ้ำๆ มากระตุ้นยิ่งท้อเข้าไปใหญ่เลยค่ะ จากกำลังใจอาจเปลี่ยนไปกลายเป็นความกดดันได้นะคะ ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ควรระวังให้ดีเลยค่ะ

ภาพจากเว็บไซต์ pixabay.com

5.การสื่อสารกับลูกๆ ข้อสุดท้ายที่สำคัญมากๆ มากที่สุด เพราะผู้เขียนเคยเปรยไว้ว่าผู้เขียนถูกเลี้ยงมาดี อยู่ในกรอบ มีความสุข แต่สุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้าซะงั้น ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น คำตอบก็อยู่ในข้อที่ผ่านมาทั้งหมดนั่นล่ะค่ะ เพราะนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกได้ดีมากๆ ตามแบบข้อ 1- 4 แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้คำนึงถึงข้อเสียของมันเลย คุณพ่อคุณแม่ทำตามแบบฉบับการเรียนรู้พื้นฐานโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลจากลูกๆ และไม่ถามความคิดเห็นใดๆ จากผู้ที่ถูกเลี้ยงดู นั่นจึงเป็นต้นเหตุที่ลูกไม่สามารถพูดทุกอย่างออกมาได้ และเมื่อปัญหามันจุกอกมันก็จะสะสมจนกลายเป็นคนเก็บทุกอย่างไว้กับตัวเอง เริ่มเก็บตัว เริ่มกลัวที่จะพูด และก็เลือกที่จะไม่พูดอีกเลย

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่คะ คุยกับลูกทุกเรื่องเถอะค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับลูกช่วยบอกลูกก่อน และช่วยฟังความคิดเห็นของเขา หากมันไม่ดีให้นั่งอธิบายให้ยกเหตุผลทั้งหลายมาคุยกัน แต่หากมันเกี่ยวกับลูกแล้ว สำหรับตัวผู้เขียนผู้เขียนคิดว่าการตัดสินใจของลูกนั้นเขาคิดมาแล้วเสมอ และที่สำคัญค่ะคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว….หากคุณพ่อคุณแม่พบเจอปัญหา หากลูกท่านโตพอควรจะรับรู้มันได้ ก็ให้บอกเขาไปตรงๆ แม้ลูกจะช่วยไม่ได้ แต่ลูกจะรับรู้ได้ว่าเขาสามารถอยู่ข้างคุณพ่อคุณแม่ได้ นั่นแปลว่าเมื่อเขามีปัญหาเขาก็สามารถหันมาหาคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่เคียงข้างเขาเสมอได้เหมือนกันค่ะ

ขอบคุณรูปภาพจาก Pixabay : ภาพหน้าปก / ภาพประกอบที่ 1 / ภาพประกอบที่ 2 / ภาพประกอบที่ 3

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์