อื่นๆ

เปิดทุกมุมมองของ ‘การทำแท้งเสรี’ กับเหตุผลที่ไทยควร ‘เปลี่ยนกฎหมาย’!

511
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เปิดทุกมุมมองของ ‘การทำแท้งเสรี’ กับเหตุผลที่ไทยควร ‘เปลี่ยนกฎหมาย’!

สวัสดีค่ะทุกคน พบกับโลลิอีกเช่นเคยนะคะ วันนี้โลลิจะมาเล่าถึงประเด็นเรื่องของ ‘การทำแท้งเสรี’ ที่เคยเกิดเป็นประเด็นใหญ่ที่คนไทยให้ความสนใจอย่างมากเรื่องของกฎหมายในช่วงปี พ.ศ. 2,517-2,524 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการทำแท้งก็ยังคงเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอแม้จะเบาลงก็ตาม แต่สำหรับทุกวันนี้ด้วยความที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตขึ้นมากมายทำให้ประเด็นนี้ค่อยๆ ถูกลืมเลือนกันไปจนแทบจะไม่มีใครพูดถึง วันนี้โลลิจึงขอนำประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง เพื่อที่จะเป็นการรื้อฟื้นความสำคัญของมัน เพราะในปัจจุบันก็ยังคงมีคนที่เผชิญกับปัญหานี้อยู่ และเพื่อเป็นการเปิดมุมมองที่หลากหลายกับผู้คนที่สนใจ อยากแลกเปลี่ยนความเห็นอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเริ่มกันเถอะ!

Highlight

  • ประเทศไทย กับการไม่ยอมรับกฎหมายทำแท้งเสรี
  • มุมมองในแต่ละประเทศที่มีต่อการทำแท้งเสรี
  • มุมมองจากแพทย์
  • มุมมองจากผู้หญิงคนหนึ่ง

Advertisement

Advertisement


ประเทศไทย กับการไม่ยอมรับกฎหมายทำแท้งเสรี

‘การทำแท้ง’ นั้น มีมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ในตอนแรกหลายๆ ประเทศนั้นถือว่าการทำแท้งผิดต่อหลักศาสนาและกฎหมาย แต่ในปัจจุบันนี้ หลายๆ ประเทศได้มีการปรับกฎหมายเปิดให้มีการทำแท้งเสรีได้ แต่สำหรับประเทศไทยนั้นการทำแท้งถือว่ายังผิดกฎหมายอยู่ตามมาตรา 301 และ 302 แต่ยังมีข้อยกเว้นตามมาตรา 305 ในกรณีของ ‘ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีปัญหาทางสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ’ และในกรณีของ ‘ผู้หญิงที่ถูกกระทำชำเรา’ จะสามารถทำแท้งได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยมีการเรียกร้องให้แก้กฎหมายเรื่องการทำแท้งเสรีเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง แต่ในปี 2014 ได้มีผู้คัดค้านการแก้กฎหมายที่นำโดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง (ยศในตอนนั้นคือพันเอก) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และด้วยเหตุการณ์หลายๆ อย่างทำให้ประเทศไทยลงเอยด้วยการใช้กฎหมายตามมาตรา 301-305 ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

Advertisement

การทำแท้ง

อะไรล่ะคือสาเหตุหลักที่ทำให้ ‘การทำแท้งเสรี’ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในไทย?

‘การทำแท้งมันบาปนะ’ ‘การทำแท้งคือการฆ่าคน’ ‘การทำแท้งมันผิดศีลธรรม’ ในหลายทศวรรษมานี้ เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วนจนฝังหัว และอดที่จะยอมรับไม่ได้เลยว่าแนวคิดเรื่องศีลธรรมนี่แหละที่มันแทรกซึมเข้าไปเป็นรากลึกฝังอยู่ในกฎหมายไทย พร้อมกับเหตุผลที่คนไทยประดิษฐ์ขึ้นมาเองว่าประเทศไทยเป็นประเทศเมืองพุทธ การเปิดให้ทำแท้งเสรีจึงไม่เหมาะสม ขัดต่อภาพลักษณ์ ซึ่งเหตุผลนี้ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็เคยเอามาใช้อ้างในตอนที่มีการคัดค้านการแก้กฎหมายเช่นกัน

ซึ่งถ้าหากจะให้มองถึงหลักของศาสนาจริงๆ แล้วล่ะก็ ศาสนาพุทธ ‘ไม่ได้มีบัญญัติเอาไว้ชัดเจน’ เสียด้วยซ้ำว่าห้ามทำแท้ง หรือการทำแท้งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งแตกต่างจากศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาธอลิคและกรีกออโธดอกซ์ ที่จะเข้มงวดต่อต้านการทำแท้งทุกกรณี ดังนั้น การนำศาสนาพุทธมาอ้างและต่อต้านการทำแท้งเสรีในประเทศไทย เป็นอะไรที่สมเหตุสมผลหรือมีรูปธรรมชัดเจนแล้วจริงๆ หรือ?

Advertisement

Advertisement


มุมมองของแต่ละประเทศที่มีต่อการทำแท้งเสรี

โลลิจะขอยกตัวอย่างเฉพาะบางประเทศที่เคยมีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งเสรีนะคะ

อย่างในประเทศ อังกฤษ เองก็เคยมีกฎหมายห้ามทำแท้งเช่นกัน จนเกิดกรณีที่นายแพทย์ Alec Bourne ได้ทำแท้งให้กับเด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกทหารข่มขืนหมู่ นายแพทย์คนนั้นจึงถูกจับกุม แต่เขาได้อ้างในชั้นศาลว่า สาเหตุที่ทำไปก็เพื่อรักษาชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเอาไว้ ซึ่งโชคดีที่ผู้พิพากษาเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งนี้จึงกลับมาพิจารณาถึงกฎหมายใหม่อีกครั้งหนึ่ง และได้เกิดการปฏิวัติกฎหมายใหม่ขึ้นมาโดยผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ถ้าได้รับการรับรองจากแพทย์ 2 คน และต้องทำภายใน 24 สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ นอกจากนี้ การทำแท้งจึงรวมอยู่ในประกันสุขภาพที่คนอังกฤษสามารถเข้ารับบริการทำได้ฟรี ซึ่ง Kaitlyn Mccoy ตัวแทนกลุ่มทำแท้ง มูลนิธิมานุษยะ สถานทูตอังกฤษ ก็ได้กล่าวในงานเสวนาว่าตั้งแต่มีการออกกฎหมายการทำแท้งมา ก็ยังไม่มีประชาชนคนไหนออกมาต่อต้าน เพราะเขาให้เหตุผลและข้อมูลสนับสนุนไว้กับประชาชน ต่อมา ได้มีประชาชนชนบางกลุ่มของอังกฤษร่วมกันขับเคลื่อนช่วยกันยกระดับการทำแท้ง โดยให้เหลือแพทย์ผู้รับรองจาก 2 คนเป็น 1 คน ด้วยเหตุผลที่ว่าการดำเนินการอาจล่าช้า และเมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อการทำแท้ง

สำหรับ โรมาเนีย เองก็เช่นกัน โรมาเนีย เคยเป็นประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดมากเรื่องการทำแท้ง แต่ดันเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่อัตราการทำแท้งสูงกว่าอัตราการเกิดเสียอีก ตัวอย่างเช่น ในปี 2003 อัตราการทำแท้งสูงถึง 230,000 ราย ในขณะที่ อัตราการเกิด 212,459 ราย ทำให้การทำแท้งเถื่อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศโรมาเนีย และมีผู้หญิงเสียชีวิตจำนวนมหาศาล แต่หลังจากที่โรมาเนียได้ประกาศให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ด้วยความปลอดภัย ทำให้จำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ลดน้อยลงมาก

แม้ สหรัฐอเมริกา จะเป็นประเทศที่เจริญแต่ก็เคยมีกฎหมายห้ามทำแท้งเกิดขึ้นเช่นกัน จนในปี ค.ศ. 1973 สหรัฐอเมริกาได้ปรับแก้กฎหมายเปิดให้มีการทำแท้งได้อย่างถูกต้อง เพราะนอกจากประเด็นเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้หญิงที่ได้รับการทำแท้งแล้ว สหรัฐอเมริกายังคำนึงถึงสิทธิสตรี โดยมีความคิดเห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม และสิทธินั้นก็เหนือกว่าสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์ที่ยังไม่ถือว่าเป็นมนุษย์ พวกเธอมีสิทธิ์ที่จะจัดการกับชีวิตและร่างกายของตัวเอง ซึ่งการเปิดเสรีการทำแท้งนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยเรื่องความปลอดภัย แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตของเด็กหลังจากเกิดมาอีกด้วย

ในส่วนของประเทศ เนปาล ซึ่งเป็นถึงประเทศเกิดของพระพุทธเจ้าศาสดาของศาสนาพุทธที่คนไทยนับถือเองก็ตาม ได้มีการเปิดให้ทำแท้งเสรีได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2002 และที่สำคัญ การทำแท้งของผู้หญิงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพกายหรือจิตเพราะถือว่าการทำแท้งเป็นทางเลือกของผู้หญิงทุกคน เพียงแต่ต้องเสียเงินสำหรับการทำแท้งเป็นจำนวน 500 บาทไทย ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังช่วยเหลือสำหรับประชาชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ โดยเปิดให้สามารถทำแท้งได้ฟรีในโรงพยาบาลรัฐ และยังมีการให้ความรู้แก่ประชาชนในชนบทเรื่องการทำแท้ง เพื่อให้ผู้หญิงในพื้นที่ห่างไกลทราบถึงสิทธิการทำแท้งอีกด้วย

abortion


มุมมองจากแพทย์

โลลิขอยกตัวอย่างจากบทสัมภาษณ์ของ ผศ.นพ. ธนพันธ์ บุญชู อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ใน WAY MAGAZINE ว่า เมื่อก่อนเขามีทัศนคติต่อการทำแท้งในด้านที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากตั้งแต่สมัยยังเด็กเขาถูกสอนมาว่าการทำแท้งมันไม่ดี เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำให้เขามีความคิดด้านลบต่อผู้หญิงที่คิดจะทำแท้ง บริการทำแท้งจึงไม่ใช่หน้าที่ของเขา เคยมีกรณีท่ีมีแม่ลูกมาขอร้องให้เขาช่วยทำแท้งให้ แต่เขากลับปฏิเสธหลับไปด้วยคำพูดที่ไม่น่าฟังอย่าง ‘หมอทำเธอท้องรึเปล่า’ แต่เพราะ ‘ความตาย’ ที่ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด การที่เขาปฏิเสธเธอคนนั้นไปแบบนั้นอาจเป็นสาเหตุให้เธอตัดสินใจไปพึ่งทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจนำมาสู่ความตาย และตัวเขาเองนั่นแหละที่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการตายโดยไม่รู้ตัว

มีแนวคิดหนึ่งที่โลลิชอบมากของหมอที่ได้ให้ไว้ในบทสัมภาษณ์ที่โลลิอ่าน นั่นก็คือ เขามีความคิดว่า ตัวเขาเองไม่ควรเป็นผู้ที่จะมอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ใครได้ เขาเป็นหมอ ก็ควรให้คำแนะนำกับผู้ที่มาหาตามหน้าที่ ถ้าสิ่งที่ผู้หญิงคนนั้นเลือกมันปลอดภัย ก็แค่ทำ

นอกจากนี้ คุณหมอยังบอกอีกด้วยว่า ตัวเขาเองก็ไม่ได้มีความสุขกับการทำแท้ง แต่สุขใจที่ได้เห็นผู้หญิงตรงหน้ากลับมาใช้ชีวิตได้ต่อ ชีวิตของพวกเธอ สำคัญกว่าบาปบุญคุณโทษ

จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารของ WAY ได้มีถามถึงว่า การเปิดการทำแท้งเสรีจะทำให้เกิดสังคม Free Sex หรือไม่ สำหรับเรื่องนี้คุณหมอก็ได้ให้สัมภาษณ์ในแนวคิดของเขาว่าการที่มนุษย์มีเพศสัมพันธ์กันมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่การยอมรับการทำแท้งจะเป็นการช่วยลดการทำแท้งเถื่อนได้น้อยลง ซึ่งส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต มดลูกทะลุ มดลูกเน่าได้น้อยลงจริงๆ

ขอบคุณบทสัมภาษณ์ ผศ.นพ. ธนพันธ์ บุญชู จาก WAY MAGAZINE อ่านบทสัมภาษณ์ต่อได้ที่ http://www.thaihealthconsumer.org/news/safe-abortion/)


มุมมองจากผู้หญิงคนหนึ่ง

มุมมองจากผู้หญิงคนหนึ่งที่ว่านี่ก็คือมุมมองของโลลิเองค่ะ เนื่องจากก่อนจะมาเขียนบทความนี้ โลลิได้เรียนวิชาหนึ่งที่มหาวิทยาลัยในหัวข้อ Ethic Of Life And Love ซึ่งอาจารย์ก็ได้ให้การบ้านเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนมา และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของการทำแท้งนี่แหละค่ะ ดังนั้น แน่นอนเลยว่าก่อนที่โลลิจะมาเขียนบทความนี้โลลิได้ทุ่มเททำการศึกษาหาข้อมูลมาก่อนจากหลายๆ ที่

ก่อนจะเริ่มแสดงความคิดเห็นของตัวเอง โลลิขอออกตัวก่อนเลยว่าตัวเองเป็น Feminist อาจมีการใช้ภาษารุนแรง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

สำหรับความเห็นของโลลิที่มีต่อการทำแท้งหลายๆ อย่างโลลิก็แอบเขียนแทรกไปในเนื้อหาหลายส่วนของบทความนี้เช่นกัน และโลลิเห็นด้วยอย่างมากในเรื่องของการเปิดเสรีการทำแท้ง ถ้าหากใครจะโต้แย้งโดยการยกเรื่องศาสนาพุทธและศีลธรรมมาอ้างอีกล่ะก็ โลลิก็คงต้องขอถามหาความเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นค่ะว่า ศาสนาพุทธนั้น ‘ไม่ได้มีบัญญัติเอาไว้ชัดเจน’ ว่าห้ามทำแท้ง และถ้าจะบอกว่าการทำแท้งคือการฆ่าคน ก็ขออ้างกลับไปด้วยกฎหมายของไทยซึ่งบัญญัตเอาไว้ว่า ‘สภาพบุคคลย่อมเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย’ การทำแท้งนั้นมีข้อจำกัดเรื่องของอายุครรภ์ ถ้าหากทำในช่วงอายุครรภ์ที่ถูกต้องตามที่แพทย์บอก (ไม่นับรวมการทำแท้งเถื่อน) สิ่งที่ออกมานั้นจึงเรียกว่าเป็นเพียงก้อนเลือด และเนื้อเยื่อที่มีสภาพเป็นคนไม่สมบูรณ์เสียด้วยซ้ำ ถ้าหากจะเรียกร้องถึงสิทธิ สิทธิผู้หญิงคนหนึ่งที่เกิดมาจนถึงวัยเจริญพันธุ์มีสิทธิ์ที่จะเลือกในร่างกายของตนเองและอนาคตมากกว่าไม่ใช่หรือ? ผู้หญิงเขาก็มีพ่อมีแม่ บางคนเป็นความหวังของครอบครัว  กับการผิดพลาดครั้งเดียวในชีวิตเขาจะไม่มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตที่สดใสเหมือนคนอื่นบ้างเลยหรือ

หยุดยัดเยียดข้อกล่าวหา ถ้าคุณช่วยอะไรเขาไม่ได้

บางคนก็กล่าวหาผู้หญิงที่ทำแท้งว่าเป็นผู้หญิงใจง่าย ไม่พร้อมแล้วจะทำให้เขาเกิดมาทำไม เธอจะต้องชดใช้กรรมในสิ่งที่เธอก่อ

หยุดค่ะ! หยุดทำตัวเหมือนเป็นคนดีได้แล้วถ้าคุณช่วยอะไรเขาไม่ได้นอกจากประโคมคำพูดทำร้ายใจจิตใจ ถ้าจะให้ผู้หญิงคนหนึ่งแบกรับเรื่องทั้งหมดคำถามคือ แล้วผู้ชายล่ะ? การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะท้องได้แน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนๆ เดียวแน่ๆ ข้อผิดพลาดที่เกิดมันเกิดจากสาเหตุที่ซับซ้อน ผู้ชายไม่ได้เป็นคนดีทุกคน แค่พวกเธอจะต้องแบกรับการตั้งครรภ์คนเดียวมันก็เป็นปัญหาหนักใจจะแย่อยู่แล้ว และถ้าหากเด็กคนหนึ่งเกิดมาจริงๆ สังคมก็คงช่วยอะไรไม่ได้นอกจากเด็กคนนั้นจะถูกประนามอีกว่ามีแม่ท้องก่อนวัย ไหนจะคุณภาพชีวิตที่เด็กคนหนึ่งพึงได้รับก็ไม่สามารถได้รับอย่างเต็มที่เพราะพ่อแม่ไม่พร้อม ปัญหาอื่นๆ ก็จะตามมาอีกมาก อันนี้ทุกคนย่อมรู้ดี

บางคนอาจคิดว่า ‘ถ้าหากเปิดเสรีการทำแท้งแล้วก็เหมือนเป็นการส่งเสริมการทำแท้งสิ ถ้าเกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก แค่ทำแท้งมันก็จบ’ ก็อย่างที่คุณหมอได้พูดไปในบทสัมภาษณ์ค่ะว่า คนที่มี Sex กันก็เท่าเดิม คนที่ตั้งครรภ์ก็เหมือนเดิม คนที่ทำแท้งก็เหมือนเดิม โลลิคิดว่าการที่คนคนหนึ่งทำแท้ง 1 ครั้ง ต้องสูญเสียอะไรไปมากมาย ทั้งเงิน สภาพร่างกายและจิตใจ คงไม่มีใครอยากเอาตัวเองมาเสี่ยงบ่อยๆ เป็นแน่ การทำแท้งเสรีจึงเหมือนเป็นการเปิดสิทธิให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือก และช่วยลดการทำแท้งเถื่อนมากกว่า

การทำแท้ง

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับเรื่องการทำแท้งเสรี ถ้าหากผู้อ่านมีข้อคิดเห็นอย่างไรเพิ่มเติมสามารถเขียนไว้ใน Comment ได้เลยนะคะ มาแชร์กัน ^^ เพราะประเด็นเรื่องการทำแท้งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงเป็นสิ่งที่ต้องเปิดใจกว้างและมองให้หลายมุม

สำหรับวันนี้โลลิต้องขอตัวลาทุกคนไปก่อน แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่าาา // ไหว้งามๆ


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก isranews.org

ขอบคุณภาพหน้าปก unsplash.com

By. Loli

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Loli
Loli
อ่านบทความอื่นจาก Loli

รีวิวเครื่องสำอางค์-Skincare, ร้านอาหารอร่อยๆ, คาเฟ่สวยๆ น่าไป ฝากติกตามด้วยนะคะ Ig : lly28245

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์