ไลฟ์แฮ็ก

เตรียมพร้อมรับการสัมภาษณ์ เพื่อสร้างโอกาสได้งานทำ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เตรียมพร้อมรับการสัมภาษณ์ เพื่อสร้างโอกาสได้งานทำ

การสัมภาษณ์ผู้สมัครงานเป็นกระบวนการที่สำคัญในการคัดเลือกบุคลากรที่ผู้สมัครงานไม่ควรมองข้าม หลายคนเสียโอกาสที่จะได้งานอันเนื่องมาจากการสัมภาษณ์ ดังนั้นคุณควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและสร้างความมั่นใจ การให้สัมภาษณ์เป็นก้าวแรกของความสำเร็จในหน้าที่การงานที่คุณปรารถนา

จากที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์สัมภาษณ์ผู้สมัครงานมาหลายร้อยคน จึงต้องการถ่ายทอดโดยเขียนบทความเรื่อง เตรียมพร้อมรับการสัมภาษณ์ เพื่อสร้างโอกาสได้งานทำ เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อไป

หลังจากสำเร็จการศึกษาไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี หรือปริญญาโทแล้ว ภารกิจต่อไปคุณก็จะต้องนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงกับสถานประกอบการประเภทต่างๆ ตามตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ความถนัดและความสนใจของตัวคุณเอง

Advertisement

Advertisement

เขียนใบสมัครงานหลังจากสมัครงานด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะสมัครงานผ่านเว็บไซต์ ส่งประวัติทางอีเมล์ หรือเดินเข้าไปเขียนใบสมัครในสถานประกอบการ ขั้นตอนต่อไปก็คือรอการนัดหมายเพื่อรับการสัมภาษณ์พูดคุยกับหัวหน้างานหรือผู้จัดการ เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเขียนใบสมัครหรือการจัดทำประวัติส่วนตัวหรือเรซูเม่ (Resume) ซึ่งเป็นเอกสารสรุปข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้ประกอบการสมัครงาน

เริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลพื้นฐานของสถานประกอบการที่นัดหมายคุณให้เข้าไปสัมภาษณ์ ได้แก่ ชื่อบริษัท ประเภทของธุรกิจ สินค้า ผลิตภัณฑ์หรือบริการ รายละเอียดงานในตำแหน่งที่คุณสมัคร (ระบุไว้ในประกาศรับสมัครงาน) และต้องเตรียมเหตุผลที่คุณเลือกสมัครงานในสถานประกอบการแห่งนี้ไว้ด้วย

ไม่ว่าโอกาสหรือความหวังจะได้งานมีมากน้อยเพียงใด คุณจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ก่อนวันที่จะเข้าไปรับการสัมภาษณ์ การแต่งกายต้องสะอาดเรียบร้อย สุภาพบุรุษตัดผมทรงสุภาพ สุภาพสตรีที่ไว้ผมยาวควรรวบผมให้เรียบร้อย แต่งหน้าให้ดูเป็นธรรมชาติ ก่อนนอนควรจัดเตรียมเสื้อผ้าไว้ให้พร้อม ควรสวมใส่เสื้อเชิ้ตสีสุภาพ ผูกไท กางเกงผ้าหรือกางเกง Slacks สีดำเข้ม (ไม่ควรสวมใส่กางเกงยีนส์) คาดเข็มขัดสีดำหรือสีน้ำตาล สวมรองเท้าหนังสีสุภาพ สิ่งที่ควรต้องระวังคือ กลิ่นกาย และกลิ่นปาก

Advertisement

Advertisement

สัมภาษณ์งานเมื่อถึงวันสัมภาษณ์ให้ไปถึงสถานประกอบการก่อนเวลาประมาณ 30-45 นาที เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่นตั้งใจ อย่าลืมทักทายยกมือไหว้สวัสดีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณประตูทางเข้า ยิ้มแย้มให้กับผู้คนในสถานประกอบการที่เดินผ่านไปมา สังเกตบรรยากาศโดยรอบเพื่อเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นแผ่นป้ายนโยบายคุณภาพ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และระบบบริหารคุณภาพ เป็นต้น ระหว่างรอให้อยู่ในอาการสงบนิ่ง สุขุม เรียบร้อย สร้างบุคลิกภาพที่ดี ไม่ใช้เครื่องมือสื่อสาร

เมื่อเข้าไปในห้องประชุมหรือสถานที่สำหรับดำเนินการสัมภาษณ์ ในระหว่างนั่งรอให้สำรวมกิริยาท่าทาง รักษาภาพลักษณ์และบุคลิกภาพ ตลอดจนตั้งสติ ไม่ตื่นเต้นตกใจ ทำใจให้สบาย ปิดเครื่องมือสื่อสาร เมื่อผู้สัมภาษณ์เข้ามา ให้ลุกขึ้นยกมือไหว้สวัสดีโดยก้มศีรษะเล็กน้อยพองาม หากมีผู้สัมภาษณ์มากกว่า 1 คน ให้ยกมือไหว้สวัสดีให้ครบทุกคน

Advertisement

Advertisement

เมื่อผู้สัมภาษณ์เชิญให้นั่งจึงนั่งลง โดยนั่งตัวตรงตลอดเวลา เอามือประสานกันหรือวางไว้บนหน้าขา ห้ามนั่งไขว่ห้าง ห้ามเอามือวางบนโต๊ะ ห้ามเขย่าขาหรือเท้า

ต่อไปเป็นประเด็นคำถามที่ผู้เขียนรวบรวมไว้จำนวน 22 ข้อ คุณต้องเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าก่อนวันไปสัมภาษณ์ ดังนี้

  1. แนะนำตัวเองหรือเล่าประวัติของคุณสัก 1 นาที
  2. ทำไมคุณจึงเลือกเรียนสาขาวิชาชีพนี้?
  3. ในช่วงที่คุณเรียนหนังสือ คุณเคยทำกิจกรรมใดบ้าง?
  4. คุณรู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับบริษัทบ้าง?
  5. ทำไมคุณจึงสนใจงานในตำแหน่งนี้? หรือ คุณคิดว่างานนี้เหมาะกับคุณอย่างไร?
  6. ทำไมคุณจึงอยากทำงานที่นี่?
  7. เหตุผลที่บริษัทควรรับคุณเข้าทำงานมีอะไรบ้าง?
  8. คุณคิดว่าจะนำความรู้ที่เรียนจบมา หรือนำประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำประโยชน์อะไรให้กับบริษัทได้บ้าง?
  9. คุณชอบทำงานคนเดียว หรือชอบทำงานเป็นกลุ่ม เพราะอะไร?
  10. คุณไม่เคยมีประสบการณ์แล้วจะทำงานได้จริงหรือ? (กรณีนักศึกษาจบใหม่ หรือไม่เคยทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร)
  11. คุณมีวิธีจัดการกับความกดดันหรือความเครียดอย่างไร?
  12. จุดด้อยของคุณมีอะไรบ้าง?
  13. เป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร?
  14. ทำไมคุณจึงลาออกจากที่ทำงานเดิม? (กรณีเคยทำงานมาแล้ว)
  15. หากบริษัทรับคุณเข้าทำงาน คุณคิดว่างานในหน้าที่ของคุณมีอะไรบ้าง?
  16. ถ้ามีการฝึกอบรมในวันหยุดโดยบริษัทไม่จ่ายค่าล่วงเวลา คุณคิดว่าอย่างไร?
  17. คุณมีวิธีการปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานที่หลากหลายได้อย่างไร?
  18. หากพบว่างานที่รับผิดชอบมีปัญหา คุณจะดำเนินการอย่างไรบ้าง?
  19. ถ้าได้ทำงานที่นี่ คุณจะทำนานแค่ไหน?
  20. คุณพร้อมจะเริ่มงานได้เมื่อไร?
  21. เงินเดือนที่คุณคิดว่าน่าจะเหมาะสมกับตำแหน่งงานของคุณ? หรือ เงินเดือนที่คุณคาดหวัง?
  22. คุณมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบอะไรหรือไม่?

โดยคุณจะต้องเตรียมข้อมูลสำหรับตอบคำถามทั้ง 22 ข้อ ตอบตามความเป็นความจริง มีเหตุผล เชื่อมโยงสัมพันธ์กับข้อมูลในใบสมัครและเรซูเม่ ให้คุณใช้วิจารณญาณและกระบวนการคิดของคุณเตรียมคำตอบที่กระชับ ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ก่อนจะตอบทุกครั้งต้องตั้งสติคิดก่อนตอบ ไม่ควรตอบสั้นเกินไป เช่น ใช่/ไม่ใช่ ได้/ไม่ได้ ในระหว่างการสัมภาษณ์ให้มองหน้าและสบตาผู้สัมภาษณ์ตลอดเวลา ตอบด้วยน้ำเสียงหรือโทนเสียงอ่อนโยน มีหางเสียงครับ/ค่ะทุกประโยค

สัมภาษณ์งานนอกจากนี้ อาจจะมีคำถามเกี่ยวกับข่าวสาร เหตุการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้คุณแสดงความคิดเห็น หรือคำถามที่ต้องการวัดเชาวน์ปัญญา ปฏิภาณไหวพริบ ทัศนคติ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานในตำแหน่งที่สมัคร จึงมีความจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของงานในตำแหน่งที่สมัครซึ่งระบุไว้ในประกาศรับสมัครงาน ตอบคำถามตามความเป็นจริง ใช้คำพูดหรือประโยคเชิงบวก ห้ามพูดถึงที่ทำงานเดิมในเชิงลบเด็ดขาด ให้พูดเฉพาะสิ่งที่ดีๆ และพูดให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันความผิดพลาด

หลังจากเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์แล้ว คุณควรกล่าวขอบคุณและยกมือไหว้ผู้สัมภาษณ์อย่างนอบน้อม เมื่อลุกจากเก้าอี้ควรสอดเก้าอี้ไว้ใต้โต๊ะหรือจัดเก้าอี้ให้ชิดกับโต๊ะ จากนั้นเดินออกมาจนพ้นหน้าประตูสถานประกอบการแล้วจึงเปิดเครื่องมือสื่อสาร ไม่แน่หรอกว่าทุกอิริยาบถของคุณภายในบริเวณสถานประกอบการ อาจจะถูกบันทึกภาพไว้ด้วยกล้องวงจรปิดก็ได้

สุดท้ายที่ผู้เขียนอยากจะฝากไว้คือ การสร้างความประทับใจครั้งแรกระหว่างคุณกับผู้สัมภาษณ์เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้สัมภาษณ์อาจจะเป็นหัวหน้างาน หัวหน้าแผนก หรือผู้จัดการ ซึ่งอาจจะเป็นผู้พิจารณารับคุณเข้าทำงาน ดังนั้น คุณจึงควรให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์งานให้มากที่สุด "เตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" ขอให้คุณโชคดี


ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ https://pixabay.com

รูปภาพปก / รูปภาพประกอบที่ 1 / รูปภาพประกอบที่ 2 / รูปภาพประกอบที่ 3

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ศิวกร
ศิวกร
อ่านบทความอื่นจาก ศิวกร

ชีวิต การเดินทาง และประสบการณ์

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์