ไลฟ์แฮ็ก

เคล็ดลับการเขียน Thesis ให้ก้าวหน้า

721
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เคล็ดลับการเขียน Thesis ให้ก้าวหน้า

ภาพโดย pixabay

นิสิตหรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาหลายคนที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเขียนวิทยานิพนธ์ของตัวเองให้สำเร็จ อาจกำลังต่อสู้กับความเหนื่อยที่คุกคามเราอยู่โดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ ความเหนื่อยที่แทรกซึมมาเงียบ ๆ ไม่ใช่อาการเหนื่อยกาย แต่เป็นความเหนื่อยใจที่ต้องค้นคว้าและเขียนงานออกมาให้ก้าวหน้าภายใต้แรงกดดัน งานต้องเสร็จทันเวลาที่อาจารย์ที่ปรึกษานัดรายงานความคืบหน้า ครั้นจะเขียนไปก่อนพอให้มีงานส่งก็รู้ชะตากรรมตัวเองดีว่า “ตายแบบศพไม่สวย” แน่ ๆ  ยิ่งใกล้ถึงกำหนดส่งงานก็ยิ่งรู้สึกว่าโลกมันมืดไปหมด ในวันนี้จึงขอเสนอแนวทางการเขียนThesis ให้ก้าวหน้า ฝากเอาไว้ให้ลองไปปฏิบัติกัน

การจัดโต๊ะทำงานให้สะอาดจะช่วยให้อยากทำงานที่บ้านมากขึ้นภาพโดย pixabay

1. จัดโต๊ะทำงานให้สะอาด ชีวิตของคนทำวิทยานิพนธ์นั้นต้องใช้เวลาอยู่กับโต๊ะทำงานยาวนานกว่าสถานที่อื่น ๆ ดังนั้นโปรดจำไว้ว่า จุดเริ่มต้นของความสำเร็จคือโต๊ะทำงาน โต๊ะทำงานที่สะอาดเรียบร้อยจะจูงใจให้เราอยากนั่งทำงานนาน ๆ ไม่ต้องหาเหตุเสียเวลาย้ายไปนั่งร้านกาแฟบ้าง ร้านอาหารบ้าง ออกจากบ้านทุกวัน หาที่นั่งทำงานทุกวันจนเสียเวลาทำงาน ดังนั้นหากเราจัดโต๊ะทำงานที่บ้านให้สะอาด แยกประเภทหนังสือและเอกสารต่าง ๆ อย่างมีระเบียบ จัดลำดับความสำคัญของงานที่จะต้องส่งก่อนส่งทีหลัง แปะตารางนัดหมายไว้ตรงตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยทำให้บรรยากาศโต๊ะทำงานของเราดีขึ้น น่านั่งทำงานที่บ้านมากขึ้น

Advertisement

Advertisement

ต้องเขียนงานให้ได้ทุกวันภาพโดย pixabay

2. ต้องเขียนงานทุกวัน กว่าวิทยานิพนธ์จะสำเร็จออกมาเป็นเล่ม ผู้เขียนต่างต้องผ่านจุดขี้เกียจครั้งแล้วครั้งเล่า การเขียนแล้วลบซ้ำไปซ้ำมา ทำให้ถอดใจแล้วถอดใจอีก หลายครั้งอาจคิดว่า “ไม่เอาปริญญาแล้วก็ได้” “ชีวิตสุนัขหรือแมวที่บ้านยังดูสบายกว่าเราเลย” “เรียนจบกับตายอะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน” สารพัดความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ แต่การปล่อยให้ความคิดให้ล่องลอยไปเช่นนี้ไม่อาจทำให้วิทยานิพนธ์ของเราคืบหน้า เมื่อตัดสินใจมาเรียนแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้อง อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม จงบอกกับตัวเองไว้ว่า “เราต้องเขียนงานให้ได้ทุกวัน” วันไหนฟิตหน่อยอาจเขียนเป็นหน้าหรือหลายหน้าก็ยิ่งดี วันไหนคิดไม่ออกเลยจริง ๆ ก็ขอให้พิมพ์ลงไปให้ได้อย่างน้อย 1 บรรทัด ก็ยังนับว่าดี แต่ขอให้เขียนออกมาทุกวัน ข้อสำคัญที่ควรจำอีกประการหนึ่งคือ อย่ากังวลว่า "เขียนไปแล้วจะไม่ดีพอ" หรือ "เขียนไปแล้วจะถูกสั่งแก้" นั่นไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องคิด หน้าที่ของเราคือเขียนออกไป ผู้ที่ตัดสินว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้คืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเรา

Advertisement

Advertisement

ศึกษาข้อมูลให้ตรงจุดภาพโดย pixabay

3. ศึกษาข้อมูลให้ตรงกับประเด็นที่วิจัย การค้นคว้าข้อมูลสำหรับเขียนวิทยานิพนธ์นั้นต้องอ่านอย่างมีสติ ระลึกอยู่เสมอว่าหัวข้อวิทยานิพนธ์ของตนเองนั้นศึกษาเรื่องอะไร คำถามวิจัยคืออะไร ควรจัดความสำคัญของเรื่องที่ต้องอ่าน ประเด็นที่โดดเด่นในหัวข้อที่เราทำต้องอ่านเป็นอันดับต้น ๆ  ศึกษาให้ครบถ้วนว่ามีนักวิจัยท่านอื่นเคยศึกษาประเด็นใดไว้บ้าง เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลาหาข้อมูลซ้ำซ้อน ประเด็นใดไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของตนเองให้ตัดออก อย่าหวงข้อมูลจนไม่กล้าตัดอะไรทิ้ง อย่าจมอยู่กับข้อมูลจนไม่เริ่มเขียนงาน อย่าใส่ทุกอย่างลงไปในงานจนกลายเป็นตำราครอบจักรวาล เพราะหากทำเช่นนั้นสุดท้ายก็จะถูกอาจารย์ที่ปรึกษาสั่งตัดเนื้อหาส่วนเกินออกอยู่ดี

อย่าเครียดนานภาพโดย pixabay

4. อย่าเครียดนาน เมื่อทำวิทยานิพนธ์ไปได้สักระยะหนึ่ง สิ่งที่ทุกคนต้องเจอคือความเครียด เครียดเพราะไม่รู้จะเขียนอะไร เครียดเพราะกลัวเขียนได้ไม่ดี เครียดเพราะถูกสั่งแก้ เครียดเพราะเก็บข้อมูลได้ไม่ครบ สารพัดเรื่องจะเครียด ขอให้ระลึกเอาไว้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่คนทำวิทยานิพนธ์จะต้องเผชิญ อย่าจมอยู่กับความเครียดนานเกินไป เพราะความเครียดไม่ช่วยให้ Thesis ของเราก้าวหน้าได้เลย ควรหาทางคลายเครียดตามความถนัดของแต่ละคน อาจจะหาของอร่อย ๆ กิน ออกไปซื้อเสื้อผ้า ซื้อของใช้ ดูภาพยนตร์ ดูละคร หรือออกไปเดินตลาดพบปะผู้คนทั่วไปสักครู่หนึ่ง พอให้สมองได้ผ่อนคลาย แล้วค่อยกลับมานั่งทำงานต่อ เพื่อความสำเร็จที่รอเราอยู่ เพื่อวิทยานิพนธ์อันเป็นที่รักของเรา

Advertisement

Advertisement

พบอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอภาพโดย pixabay

5. ส่งงานอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ สำหรับคนทำวิทยานิพนธ์นั้นการสื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษาสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการค้นคว้าข้อมูลเลยทีเดียว ผู้ที่เริ่มทำวิทยานิพนธ์พึงคิดไว้เสมอว่า อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้มีประสบการณ์ในเรื่องที่เรากำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ อาจารย์สามารถแนะนำหนังสือ หรือแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อวิทยานิพนธ์ของเราได้ การทำงานของเราจะดีขึ้น รวดเร็วขึ้น การเดินทางในเขาวงกตของเราจะสั้นลง หากเราสื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ ควรส่งงานให้อาจารย์ตรวจเป็นประจำ เพื่อจะได้เห็นแนวทางความคิด การทำงาน การตรวจงานของอาจารย์ หากสิ่งที่เรากำลังเขียนนั้นผิดหลักการ อาจารย์ก็จะช่วยแนะนำทำให้เราแก้ไขข้อมูลได้ทันเวลา ผู้ที่ไม่สื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษาอาจต้องเสียใจตอนส่งงาน เช่น พวกที่นาน ๆ ส่งงานที 3 เดือน ส่งไปครั้งเดียว ปรากฏว่าข้อมูลที่เขียนไปนั้นเนื้อความเตลิดออกทะเลไปไกลแสนไกล ก็เท่ากับว่า 3 เดือน นั้นหายไปเปล่า ๆ ต้องตั้งต้นเขียนใหม่เสียเวลาทำงาน วิทยานิพนธ์ก็จะล่าช้าไปอีก

การทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทนั้นเปรียบเสมือนการทดลองใช้ชีวิตในฐานะนักวิจัย อุปสรรคระหว่างการค้นคว้าข้อมูลจะช่วยให้ผู้ทำวิทยานิพนธ์ตัดสินใจได้ว่ารักการทำงานเช่นนี้จริง ๆ หรือไม่ ยังต้องการเป็นนักวิจัยอยู่หรือไม่ อดทนเพียงพอจะเรียนต่อในระดับปริญญาเอกต่อหรือไม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังเขียนวิทยานิพนธ์อยู่ ขอให้ระลึกเสมอว่าการเรียนด้วยความเพียรอย่างสูงสุดนั้นทำเพื่อบรรลุเป้าหมายการวิจัยของตัวผู้เรียนเองและเพื่อผู้อ่านที่จะได้รับความรู้จากงานวิจัยของท่าน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ไอยรา
ไอยรา
อ่านบทความอื่นจาก ไอยรา

ฉันรักอาหารเป็นชีวิตและจิตใจ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์