ไลฟ์แฮ็ก

เคล็ดลับ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไร ให้ค่าไฟไม่พุ่ง

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เคล็ดลับ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไร ให้ค่าไฟไม่พุ่ง

สวัสดีค่ะ นักอ่านที่น่ารักทุกท่าน ช่วงนี้หลาย ๆ คน ทำงานอยู่ที่บ้าน ( Work From Home ) กันซะส่วนใหญ่ ทำให้การใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นโดยที่ไม่ทันรู้ตัว เพราะใช้ทั้งเครื่องปรับอากาศ พัดลม คอมพิวเตอร์ ยังไม่รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ใช้อำนวยความสะดวกอยู่ในบ้านของเราอีก ไหนจะบวกกับหน้าร้อนที่ไทยนั้น ร้อนระอุ เหงื่อตกกันเลยทีเดียว ขนาดหลบแดดอยู่ในบ้านแล้วนะเนี่ย

แต่ที่ร้อนแรงกว่าอากาศคือ บิลค่าไฟ ที่ส่งมาเก็บช่วงนี้ ก็พุ่งสูงปรี๊ด ๆ เห็นแล้วหน้าแทบมืด รีบปาดเหงื่อกันเลยใช่ไหมคะ

วันนี้เลยจะมาบอกเคล็ดลับการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนแบบนี้อย่างไร ให้เป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าค่ะ ตามมาอ่านกันเลย


1.       เครื่องทำน้ำอุ่น

ช่วงหน้าร้อนแบบนี้หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นกันสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีหลายบ้านที่ใช้เพื่อลดความหนาวและเพิ่มความสุนทรีย์ในการอาบน้ำ รู้ไหมคะว่า เจ้าเครื่องทำน้ำอุ่นนี้กินไฟมาเป็นอันดับ 1 ของเครื่องใช้ไฟฟ้าเลยค่ะ การใช้งานของเครื่องทำน้ำอุ่นจะกินไฟอยู่ที่ 2,500 – 12,000 วัตต์เคล็ดลับการใช้ให้ประหยัดไฟ คือ เลือกขนาดของเครื่องทำน้ำอุ่นให้เหมาะกับจำนวนของคนในครอบครัว ในการใช้งานให้เปิดอุณหภูมิให้เหมาะกับร่างกาย ไม่ร้อนจนเกินความจำเป็น หลังจากใช้เสร็จแล้วควรปิดสวิตช์ให้เรียบร้อย รวมถึงคอยตรวจสอบรอยรั่วอยู่เสมอ เท่านี้ก็ช่วยให้ประหยัดไฟและปลอดภัยอีกด้วยค่ะ

Advertisement

Advertisement

เครื่องวัดอุณหภูมิ



2.       เครื่องปรับอากาศ (แอร์ )

เชื่อว่าแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสุดฮิตของทุกบ้านในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ค่ะ บางบ้านมีติดตั้งไว้หลายเครื่องตามจุดต่าง ๆ แล้วจะทำอย่างไรดี อากาศก็ร้อน ไม่เปิดก็ไม่ไหวใช่ไหมคะ เคล็ดลับอยู่ตรงที่ก่อนเปิดแอร์ ควรจะเปิดหน้าต่างระบายอากาศและให้ลมได้ถ่ายเทค่ะ จะได้ลดความร้อนที่สะสมภายอยู่ในห้อง เมื่อเปิดแอร์ปุ๊ปก็จะช่วยทำให้แอร์สามารถปรับอุณหภูมิได้รวดเร็ว ไม่ต้องทำงานหนักนั่นเอง แต่ก่อนจะเปิดแอร์ก็อย่าลืมเช็คอีกครั้งว่า ปิดประตู หน้าต่างสนิทรึยังนะคะ ไม่อย่างนั้นจากลดจะกลายเป็นเพิ่มค่าไฟได้ค่ะ อีกอย่างนึงคือ เราควรนำหน้ากากแอร์ออกมาล้างทำความสะอาดบ่อย ๆ สักอาทิตย์ละครั้ง รวมถึงการล้างแอร์เป็นประจำทุก 6 เดือน จะทำให้แอร์ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป เงินในกระเป๋าเราก็ได้พักเหมือนกันค่ะ

Advertisement

Advertisement

เครื่องปรับอากาศ


3.       ตู้เย็น

ทำงานอยู่บ้านแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนต้องตุนเสบียงไว้ในตู้เย็นเพียบเลยใช่ไหมคะ ดังนั้น การเปิด ปิด ตู้เย็นบ่อย ๆ หรือเปิดทิ้งไว้นาน ๆ ทำให้เกิดการกินไฟมากขึ้นค่ะ เพราะความร้อนด้านนอกจะเข้าไปแทนที่อุณหภูมิด้านใน การแช่ของในช่องแช่ควรจัดให้เหมาะสม เช่น ช่องแช่แข็ง สำหรับใส่เนื้อสัตว์ ไม่ให้เน่าเสีย ช่องเก็บผักผลไม้ ก็จะมีอุณหภูมิที่พอดีสำหรับคงความสดของผักผลไม้ไว้ การแช่ของไม่แนะนำให้แช่แบบอัด ๆ กัน เพราะทำให้เราหาของยาก ต้องเปิดตู้เย็นนาน ควรแยกของหรือวัตถุดิบต่าง ๆ ใส่กล่องหรือถุง และแยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน จะได้หยิบใช้ได้สะดวก และหมั่นทำความสะอาดตู้เย็น ชั้นวางอยู่เสมอเพื่อสุขอนามัยด้วยนะคะ

ตู้เย็น


4.       คอมพิวเตอร์

ช่วงกักตัวอยู่บ้าน หรือ Work From Home คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ทำมาหากินของใครหลาย ๆ คน หลังจากทำงานเสร็จเรายังอาจจะใช้เพื่อความบันเทิง ผ่อนคลาย ไปกับการดูหนัง ดูซีรีย์ หรือเล่นเกมอีกด้วย ถึงแม้ว่าคอมพิวเตอร์จะใช้พลังงานไฟฟ้าไม่มากเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ แต่เราก็มีวิธีใช้ให้ประหยัดไฟมาบอกด้วยค่ะ อย่างแรกคือ เมื่อเราไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์นานเกินกว่า 15 นาที แนะนำให้ปิดจอภาพ หรือเปิด Sleep Mode อย่างในช่วงพักกลางวันได้ค่ะ หรือหากไม่ได้ใช้ต่อเนื่องเกินกว่า 30 นาที แนะนำให้ปิดคอมพิวเตอร์ไปเลยก็จะช่วยลดพลังงานได้เยอะค่ะ หากเราทำงานอยู่กับบ้าน การใช้โน้ตบุ๊กแทนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ สามารถลดกำลังไฟฟ้าลดได้ถึง 1 ใน 10 ทีเดียว และเมื่อไม่ใช้แล้ว อย่าลืมถอดปลั๊กออกทุกครั้งนะคะ สุดท้าย การตั้งคอมพิวเตอร์ในที่มีการถ่ายเทความร้อนได้ ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่ทำงานหนัก และประหยัดไฟได้มากขึ้นด้วยค่ะ

Advertisement

Advertisement

ภาพจาก : Pixbay.com


เป็นอย่างไรบ้างคะ ทำตามกันได้ไม่ยากเลย ทั้งหมดนี้เป็นเคล็ดลับง่าย ๆ ในการใช้ไฟฟ้าที่จะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเพื่อน ๆ ได้ไม่มากก็น้อย ลองเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการทำงานของแต่ละบ้าน แค่นี้บิลค่าไฟก็จะไม่สามารถทำให้เราหงุดหงิดได้ในขณะที่เราต้องทำงานอยู่ที่บ้านกันนะคะ

ขอให้เพื่อน ๆ ใช้เวลาอยู่บ้านช่วงนี้กันอย่างมีความสุขค่ะ

ภาพปก : https://pixabay.com/th

ภาพประกอบ 1 : https://pixabay.com/th

ภาพประกอบ 2 : https://pixabay.com/th

ภาพประกอบ 3 : https://pixabay.com/th

ภาพประกอบ 4 : https://pixabay.com/th

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์