ไลฟ์แฮ็ก

อย่าฝากฝันของเราไว้ที่ลูก

143
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
อย่าฝากฝันของเราไว้ที่ลูก

เพราะที่บ้านป้าเปิดเป็นโรงเรียนสอนดนตรี จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับหลากหลายครอบครัว บางครั้งก็รู้สึกสะท้อนใจ เศร้าใจ และก็เห็นใจ ‘เด็ก’ เพราะกว่าเขาจะเติบโตขึ้นจนถึงวัยผู้ใหญ่ เขาต้องผ่านปากเหยี่ยวปากกา ผ่านร้อนผ่านหนาวสารพัด และจะต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ต้องอาศัย ‘พ่อ-แม่’(ผู้ปกครอง) เป็นคนผลักดัน สร้าง และหล่อหลอม

พ่อแม่ควรรู้บทบาทและหน้าที่ของตัวเอง

พ่อแม่แต่ละครอบครัวก็ควรจะรู้บทบาทและหน้าที่ของตัวเอง ว่าไม่ได้มีแค่หน้าที่หาข้าวหาน้ำให้กิน หาโรงเรียนที่ดี วางอนาคตที่ดี จัดการทุกอย่างที่คิดว่าดีที่สุดให้ แต่พ่อแม่และคนในครอบครัวควร “ดูแลจิตใจ” ของเด็กด้วย

เด็กเล่นดนตรี

ภาพฟรีจาก https://pixabay.com/th/

เวลาพ่อแม่พาลูกมาสมัครเรียน สิ่งที่ป้าจะถามเด็กทุกครั้งก็คือ...

หนูอยากเรียนหรือเปล่าลูก

Advertisement

Advertisement

หนูชอบเครื่องดนตรีอะไร

ป้าจะไม่ถามพ่อแม่ว่าคุณอยากให้ลูกเรียนอะไร เพราะนั่นคือการทำตามใจพ่อแม่ แต่ป้าอยากตามใจเด็ก เพราะ “ดนตรี” ต้องอาศัยทั้งใจและกายเรียน ถ้ากายไปแต่ใจไม่ไหวก็เรียนไม่ได้ เช่นตัวอย่างที่ป้าประสบมา...

ครอบครัวที่ 1

ประสบปัญหาความเครียดมาก ลูกอยากเรียนดนตรี แต่แม่อยากให้เรียนวิศวะ ซึ่งน้องเขาก็ดี พยายามเรียนในสิ่งที่แม่ต้องการ แต่สุดท้าย จากความเครียดหลายๆ ด้าน ทำให้น้องเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก น้องเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้ายทั้งด้าน น้องรักษาตัวอยู่ 1 ปี ปัจจุบันกลับไปเรียนต่อได้แล้ว แต่คราวนี้แม่อนุญาตให้เรียนในสาขาดนตรี สาขาที่น้องชอบ ไม่เครียด และได้ช่วยเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อของน้องด้วย

ครอบครัวที่ 2

ลูกอยู่ ป.2  เรียนพิเศษหลังเลิกเรียนทุกวัน วิชาที่เรียนก็มีภาษาอังกฤษ ภาษาจีน กลอง เทเควนโด้ ฯลฯ ทุกครั้งที่น้องมาเรียน น้องมักจะร้องไห้ ซึ่งคุณครูก็จะสอนไม่ได้ เพราะการเรียนดนตรี อารมณ์ของผู้เรียนต้องค่อนข้างมั่นคงในช่วงเวลานั้นๆ หากน้องร้องไห้หรือเศร้าก็เรียนไม่ได้ ป้าเลยบอกให้พี่เลี้ยงพาน้องกลับบ้านไปก่อน แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ น้องถูกพ่อแม่ดุ ว่าเสียเงินไปแล้วก็ไม่เรียน พี่เลี้ยงก็ถูกพ่อแม่น้องดุว่าไม่รู้จักบังคับน้อง สรุปคือน้องเครียดมาก เรียนก็ไม่อยากเรียน เพราะแต่ละวันก็มีแต่เรียนๆๆๆ

Advertisement

Advertisement

น้องถามว่าขอนั่งอยู่ที่โรงเรียนป้าเฉยๆ จนกว่าจะหมดเวลาเรียนได้ไหม จะกลับบ้านก็ไม่ได้ เพราะแม่ต้องดุแน่นอน ซึ่งป้าก็ทำตามใจน้องแบบนั้นไม่ได้เช่นกัน น้องได้แต่ยืนร้องไห้น้ำตาหยดแหมะ พี่เลี้ยงก็เร่งเร้า ‘จะเอาไง จะเรียนไม่เรียน ไม่เรียนก็กลับ แล้วไปบอกพ่อแม่เองนะว่าตัวเองไม่เรียน พี่ไม่บอกให้หรอก บอกก็ถูกดุว่าไม่ดูแลน้อง ฯลฯ’

แม้ป้าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ป้าก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะแต่ละครอบครัวมีแนวทางการเลี้ยงลูกต่างกัน สิ่งที่ป้าทำก็คือกอดน้องไว้ ซับน้ำตา แล้วให้พี่เลี้ยงพาน้องกลับไป แต่ให้บอกกับพ่อแม่ว่า 'คุณครูอนุญาตให้ไปพัก เพราะวันนี้หนูเหนื่อยมากแล้ว'

ช่วงขณะที่น้องร้องไห้ เสียงหนึ่งที่เร่งเร้าให้ป้าคลี่คลายสถานการณ์ก็คือ เสียงหัวเราะร่วนของลูกป้า (เขากำลังดูรายการตลก)

เด็กร้องไห้ภาพฟรีจาก https://pixabay.com/th/

Advertisement

Advertisement

พ่อแม่รังแกลูกหรือเปล่า???

บางครั้งป้าก็ย้อนถามตัวเองว่าสาเหตุที่เกิดนั้นมาจาก "พ่อแม่รังแกลูกหรือเปล่า???" แต่ป้าก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้ เพียงแต่ป้าคิดว่า พ่อแม่ควรใช้ตาชั่งในหัวใจ พินิจ พิเคราะห์ดูว่า สิ่งใดที่ลูกเราต้องการมากกว่ากัน อย่าเอาความต้องการของพ่อแม่เป็นขั้นต้นอย่าเอาความฝันที่หลุดลอยมาฝากไว้กับลูก ไว้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตลูก เช่น สิ่งที่พ่อแม่อยากทำแล้วไม่ได้ทำ เลยให้ลูกทำแทน , สิ่งใดที่พ่อแม่อยากเรียนแล้วไม่ได้เรียน เลยให้ลูกเรียนแทน

อย่าเอาความฝันของตนเองไปฝากไว้กับลูก

ป้าก็ไม่รู้ว่าป้าเลี้ยงลูกดีหรือเปล่า เพราะป้าก็เลี้ยงลูกตามใจตัวเองเหมือนกัน ป้าอยากให้ลูกมีความสุข อยากได้ยินเสียงหัวเราะของลูกมากกว่าเสียงร้องไห้ เพราะป้าเคยมีประสบการณ์ลูกติดอ่างเพราะกลัวครูมาก เนื่องจากเขาทำการบ้านไม่เสร็จ เลยไม่อยากไปโรงเรียน ไม่กล้าพูด กลัวครูจนลนลาน พูดติดขัด ซึ่งป้าแก้ไขปัญหาครั้งนั้นด้วยการย้ายโรงเรียนให้ลูก ไปอยู่ในสังคมใหม่ โรงเรียนใหม่

กว่าป้าจะเปลี่ยนแนวคิดของตัวเองได้ ก็เกือบสายไป เดิมป้าเคยคิดว่าลูกควรเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ป้าลืมคิดไปว่า 'ดีที่สุด' ของป้า อาจจะไม่ใช่ดีที่สุดของลูก เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่าง และความถนัดของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

ป้าไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องประกอบอาชีพอะไร ป้าอยากให้ลูกเรียนรู้และมีความสุขไปกับทุกสิ่งที่อยากทำ เพราะป้าเชื่อว่า หากเรียนรู้อย่างมีความสุข เรียนรู้อย่างถ่องแท้เชี่ยวชาญ ทุกสิ่งย่อมเป็นอาชีพได้อย่างแน่นอน

"บ้านที่มีเสียงหัวเราะ คือ บ้านที่มีความสุข"

"เด็กเหมือนท้องฟ้าที่สดใส ไม่ใช่ท้องฟ้าอึมครึมยามฝนตั้งเค้า" และป้าเชื่อว่า... ทุกคนอยากเห็นท้องฟ้าที่สดใส

เพียงแค่เรา... รับฟัง เรียนรู้ และสนับสนุน ให้ลูก 'สานฝัน' ของเขาให้ดีที่สุด

เด็กวิ่งเล่นในทุ่งหญ้า

ภาพฟรีจาก https://pixabay.com/th/

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์