อื่นๆ

อดีตเลขาฯ มาเล่าให้ฟัง

1.4k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
อดีตเลขาฯ มาเล่าให้ฟัง

อดีตเลขาฯมาเล่าให้ฟัง

มุมมองชีวิตคุณเลขา...

ผ่านกรอบแว่นตา สู่ปลายปากกา Miss Olive

ผู้ใหญ่หลายคนชอบถามเด็กว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร" ตลกไหมคะหากเราจะบอกว่าการตอบคำถามนี้ในวัยอนุบาลหรือชั้นประถม มันง่ายกว่าเมื่อตอนเรียนมัธยม หรือมหาวิทยาลัยมากเลย ตอนอยู่อนุบาลเรารู้จักอาชีพแค่หมอ พยาบาล ตำรวจ ครู พอประถมก็เริ่มมีอาชีพที่ฟังดูแปลก ๆ เก๋ ๆ มาเกทับกับเพื่อนในชั้นอย่าง สถาปนิก วิศวกร หรือมัคคุเทศก์ เหตุผลหน่ะหรือคะ ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ หรอกว่าเขาทำอะไรกัน รู้แค่ว่ามันฟังแปลกหูดี ซึ่งข้อนี้ช่วยเรียกคะแนนความพยายามจากคุณครูได้ ขึ้นชั้นมัธยมต้นเราถูกส่งไปอยู่ห้องเตรียมพร้อม สำหรับแผนวิทย์-คณิตตามคะแนนสอบเข้า แต่เนื้อแท้เราไม่ใช่เด็กสายนี้เลย พอขึ้นมัธยมปลายเราพุ่งไปสายภาษา โดยไม่สนใจเสียงคนรอบข้าง ที่พูดมาสมัยเด็กเป็นไม่ได้สักข้อแล้วค่ะ เพราะข้อแลกเปลี่ยนของเด็กแผนศิลป์ คือการเข้าเรียนหลาย ๆ คณะในมหาวิทยาลัยไม่ได้ไล่ตั้งแต่ แพทย์ พยาบาล เภสัช วิศวะ เป็นต้นมา

Advertisement

Advertisement

มาถึงตรงนี้เกรงว่าทุกท่านจะเข้าใจผิด ว่าโอลีฟนึกเสียใจกับการเลือกแผนการเรียนในวันนั้น ขอแก้ต่างแบบไม่แก้ตัวว่าไม่เสียใจเลยค่ะ แต่ประเด็นคือตอนนี้เริ่มโตขึ้นมากแล้ว รู้ความขึ้นมาก ตอบได้หรือยังโตขึ้นไปอยากเป็นอะไร สารภาพว่านางสาวโอลีฟที่มีอะไรให้คิดเยอะขึ้นตามวัยยิ่งไม่มีคำตอบเข้าไปอีก แต่ข้อนี้ไม่โทษสังคม ไม่โทษระบบการศึกษา หรือพ่อแม่เลยค่ะ ไม่ใช่คนทุกคนที่ชอบสิ่งเดียวตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ใช่ทุกความชอบที่สร้างอาชีพชนิดประสบความสำเร็จเลี้ยงตัวได้ และไม่ใช่ทุกคนที่ชอบเอางานอดิเรกมาเป็นอาชีพ เพราะฉะนั้นหากเด็กคนนึงนึกไม่ออกว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ค่อย ๆ ถามถึงสิ่งที่เขาชอบ สนใจ ถนัด และให้เวลาเขาค่ะ

กลับมาที่นางสาวโอลีฟผู้เลื่อนลอย เธอพบว่าเธอเก่งภาษา สนทนาลิงหลับ แต่เธอก็ชอบการจัดการ ชอบการตลาด ชอบเศรษฐศาสตร์ และการเงินประยุกต์ คือที่วิเคราะห์มาแล้วไม่ใช่แบบโยนมาทั้งสูตร สรุปว่าเธอโตมาเป็น 'เป็ด' ค่ะ และแย่กว่าโตมาเป็นเป็ดคือการที่เธอพบว่าตัวเองโตมาเป็น 'ลูกเป็ดขี้เหร่' เป็ดตัวนี้ไม่ชอบทำอาหาร ไม่อยากเป็นเชฟ เป็ดอ้วนตัวนี้นึกไม่ออกเลยค่ะว่าอยากเป็นอะไรเมื่อจบไปแล้ว ขณะที่เพื่อนร่วมภาควิชาล้วนสวยดูดี และมีความฝันจะโบยบินเป็นนางฟ้าพนักงานต้อนรับบนเครื่อง เวลาถูกถามเรากล้าตอบ (ทั้งที่ไม่ได้อยากเป็น) แค่ว่า "อ๋อ จะเป็นนักแปลค่ะ" เคยไหมคะ คุณทำบางอย่างได้ดี แต่ก็ไม่ได้อยากอยู่กับมันชั่วชีวิต โอลีฟกับงานแปลก็เป็นแบบนั้นแหละค่ะ จากนั้นนางสาวโอลีฟก็เริ่มฝันอยากเป็นเลขานุการท่านทูต อยากทำงานสถานทูตมาก แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านเกณฑ์ความงามค่ะ ข้อนี้ไม่โทษใคร อาชีพที่ต้องเข้าสังคมบ่อยครั้งเป็นภาพลักษณ์ เป็นหน้าตาของเจ้านายระดับตัวแทนประเทศ ย่อมต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อมเป็นธรรมดา

Advertisement

Advertisement

แล้วสุดท้ายจบออกมาเธอได้ทำอะไรล่ะแม่เป็ดน้อย? แม่ลูกเป็ดขี้เหร่ตัวนี้ก็ได้เป็นเลขานุการจริง ๆ ค่ะ แม้ไม่ได้ขึ้นตรงต่อท่านทูต แต่ก็ได้เป็นเลขาฯ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ มุมมองชีวิตคุณเลขา...ผ่านกรอบแว่นตาสู่ปลายปากกา Miss Olive

รูปวันจบการศึกษา

อาชีพเลขานุการเหมือนในละครไหม วัน ๆ ทำอะไรบ้าง

คำถามนี้เราถูกถามบ่อยมาก แล้วเราก็ต้องย้อนถามกลับว่า "ละครเรื่องไหนล่ะ?" เก็บละครไว้ส่วนละครดีกว่าค่ะ เราขอตอบคำถามในส่วนที่สองว่าวัน ๆ เราทำอะไรบ้าง สำหรับเราเลขาฯ ไม่ใช่เจ้าแม่พิมพ์ดีด แต่คือมือขวามือซ้ายที่คอยช่วยให้เจ้านายบรรลุความประสงค์ ในกิจการงานต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ธุรกิจเปลี่ยน เจ้านายเปลี่ยน ความรู้รอบโต๊ะของเลขาก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยค่ะ งานของเลขามีตั้งแต่ความเรียบร้อยของโต๊ะทำงาน ปากท้องของเจ้านาย ตลอดไปจนถึงความลับสุดยอดของบริษัท เคยมีคนถามเราว่าทำไมต้องยอมดูแลจัดการเรื่องส่วนตัวต่าง ๆ ของเจ้านาย ทั้งที่มันดูไม่ใช่งาน ในฐานะอดีตเลขาฯ เรามองว่ามันเป็นเรื่องของทัศนคติ ที่คนสมัครงานเลขา ฯ ซึ่งจริง ๆ ก็พ่วงความเป็นผู้ช่วยส่วนตัว(PA) ได้เตรียมใจในข้อนี้ไปแล้ว เรื่องประเภทการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) อะไรแนวนี้มากกว่าที่ควรจะเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง และโชคดีมากที่เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับเรา

Advertisement

Advertisement

รูปคอมพิวเตอร์

เป็นเลขาเนี่ยนะ เบ๊ชัดๆ!

อีกข้อหนึ่งที่อยากนำเสนอ เป็นมุมองต่างสำหรับหลายคนที่อาจมีอคติกับอาชีพนี้ คือ 'ข้อแลกเปลี่ยน' ค่ะ สำหรับโอลีฟในวันนั้น เด็กน้อยจบปริญญาตรีไร้ประสบการณ์การทำงาน การได้เดินตามหลัง ถือสูท หิ้วกระเป๋า จัดเตรียมอุปกรณ์ข้าวของจิปาถะ มันคือข้อแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่ามาก เมื่อสิ่งที่ได้มาคือการพบปะคนสำคัญในแวดวงธุรกิจ ได้เข้าร่วมฟังอบรม สัมนา หรือการประชุมสำคัญ ๆ ได้รับฟังข้อคิดเห็นและบทสนทนาสุด exclusive ระหว่างผู้บริหาร แม้จะมีหน้าที่เก็บเป็นความลับเอาไปอวดต่อกับใครไม่ได้ แต่หากไม่ได้เข้าไปในฐานะผู้ติดตาม คุณจะต้องใช้เวลากี่ปีเพื่อจะเป็นคนที่ถูกเชิญ เรายอมรับว่าใจร้อนและไม่เชื่อมั่นในความสามารถตัวเอง ว่าจะเป็นคนคนนั้นได้ในเร็ววัน จึงสมัครใจเดินทางลัดอันสุจริตดีงามนี้ค่ะ และหากคุณทำตัวเป็นผู้ช่วยที่น่าเอ็นดูและไว้วางใจได้มากพอ คุณจะได้เรียน MBA ฉบับรวบรัด เพราะเจ้านายจะสอนคุณเอง เขาจะบรีฟงานกับคุณ สอนวิชาที่ไม่มีในตำราให้คุณ และส่งคุณไปเป็นตัวแทนประชุมหรือต้อนรับคนสำคัญในโอกาสต่าง ๆ นี่ไม่รวมโอกาสที่ได้เรียนรู้งานในภาพกว้าง เห็นและวิเคราะห์ปัญหารวมถึงผลกระทบต่างอย่างเต็มกระบวนการ มีครูสอนงานเป็นผู้จัดการแผนกต่าง ๆ คุ้มไหมหล่ะคะ แค่แลกกับการชงกาแฟหนึ่งแก้วทุกเช้าเอง

กับอีกหนึ่งประโยคโลกจารึกที่ไม่รู้ใครเป็นต้นคิดแต่ได้ยินบ่อยมาก "เลขาฯ ก็เหมือนเมียในที่ทำงาน" ก็ใช่ค่ะ แล้วคุณเคยได้ยินคำที่ว่า "ลูกสาวก็เหมือนแฟนตัวน้อยของพ่อไหม" สิ่งที่เขาเปรียบคือลูกสาว คือ ผู้หญิงที่พ่อคอยดูแลเอาอกเอาใจ และคอยหวงเวลาหนุ่มไม่น่าไว้ใจมาเข้าใกล้ ฉันใดก็ฉันนั้น เลขานุการก็คอยช่วยงานดูแลเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ให้งานในบ้านนอกบ้านคือบริษัทและลูกค้าหรือบุคคลภายนอก เป็นไปโดยสวัสดิภาพ อำนวยความสะดวกให้เจ้านายทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ให้สมาชิกในปกครองได้อยู่ดีกินดี หากเรื่องผิดศีลจะเกิดมันเกิดได้กับทุกวงการค่ะ โปรดอย่าเอาอคติมาใส่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง

เป็นเลขาต้องสวย หุ่นดี เป๊ะเว่อร์

เป็นเลขาต้องสวย หุ่นดี เป๊ะเว่อร์จริงไหม เรามองว่าอันนี้ขึ้นอยู่กับงานของเจ้านาย และบริษัทนั้น ๆ ค่ะ เราคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหานี้จริง ๆ คือเราต้องเป็นตัวแทนเจ้านายบ่อยมาก ผู้จัดการฝ่ายบุคคลท่านหนึ่งเคยสอนเราว่า "คำว่า 'เก่ง' เมื่ออยู่คู่กับคำว่า 'สวย' คำเชื่อมของมันคือ 'และ' ในขณะที่คำว่า 'เก่ง' เมื่ออยู่คู่กับคำว่า 'อ้วน' คำเชื่อมของมันคือ 'แต่' โอลีฟเลือกเอาเองว่าอยากเป็นคนคนไหน ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับ Body Shaming นะคะ บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าในบางสาขาอาชีพและบางงาน บางสถานที่ก็มีความคาดหวัง หรือคุณสมบัติที่ต้องการ ทั้งสองฝ่ายย่อมมีสิทธิ์เลือกซึ่งกันและกัน แล้วโอลีฟหล่ะทำได้ไหม สารภาพว่าทำไม่ได้ค่ะ แต่ไม่ได้เป็นผลให้ถูกกดดัน หรือเป็นเหตุให้ลาออกอะไร โอลีฟอำลาอาชีพเลขาฯ เนื่องจากศึกษาต่อปริญญาโทและอยากทำงานตรงสายที่จบ กลับมาเรื่องความเป๊ะและภาพลักษณ์ของเลขาฯ หลายคนชอบถามเราเรื่องแต่งหน้าแต่งตัว เราถือคติตามนี้ค่ะ หนึ่ง ดูลักษณะนิสัยนายค่ะ นายแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบเป๊ะแบบภาพลักษณ์องค์กรใหญ่ บางคนชอบสบาย ๆ ยกเว้นไปงานข้างนอก นายบางคนชอบให้เตรียมพร้อมอยู่ในชุดออกศึก (Business Dress Code) ตลอดเวลา สอง(ข้อนี้สำคัญค่ะ) หากนายเป็นผู้หญิงอย่าแต่งเกินนาย และหากนายเป็นผู้ชายอย่าแต่งเกินงาม

รูปถ่ายลำลองสมัยเป็นเลขา

ย่อหน้าสุดท้าย...อยากบอกอะไรกับอดีตคุณเลขาฯ ของตัวเอง

คนเราไม่จำเป็นต้องชอบอะไรสักอย่างแล้วทำมันชั่วชีวิต ลูกเป็ดขี่เหร่ตัวนั้นจบมหาวิทยาลัยมา ได้งานเลขานุการแบบออกจะบังเอิญ แต่มันคือจุดเริ่มต้นให้เป็ดได้แสดงออกและได้รับการพัฒนาศักยภาพแบบเป็ด จากเจ้านายคนไทยและต่างชาติ ทั้งบริษัทใหญ่ถึงสตาร์ทอัพ เจ้านายทุกคนคือผู้ให้โอกาส ฝึกฝนขัดเกลามาทั้งทางตรงทางอ้อม ทุกย่างก้าวที่เคยเดินตามคือการเปิดโลกทัศน์กว้างใหญ่ จากวันนั้นถึงวันนี้ความรู้ความสามารถ ไม่มีสิ่งใดไม่เกี่ยวข้องกัน แม้ความฝันวัยเด็กไม่ชัดเจน เส้นทางที่เดินก็คดเคี้ยวแวะพักท่องเที่ยวไปทั่ว แต่คนคนหนึ่งที่แม้ไม่ถึงกับ 'น่าภูมิใจ' แต่ก็ไม่เกินค่าว่า 'น่าพอใจ' ก็เริ่มต้นวัยทำงานจากอาชีพตกสำรวจนี้... 'เลขานุการ'

เครดิต : ภาพปกและภาพประกอบ Miss Olive

แต่งภาพ Canva

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์