อื่นๆ

สุขภาพการเงินวันนี้เป็นอย่างไร

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
สุขภาพการเงินวันนี้เป็นอย่างไร

ในวันที่สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่ามันส่งผลหลายอย่างต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่กระทบเศรษฐกิจและ "ปัญหาปากท้อง" เพราะเศรษฐกิจต้องการความชัดเจน แต่ถ้าปัญหาการแพร่ระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แค่จะเดินทางไปทำงานร่วมกันพบปะผู้คนยังลำบากเลยครับ จึงไม่แปลกอะไรที่เศรษฐกิจทั้งระบบจะชะงักไปด้วย

จะเห็นได้ว่าหลายๆ บริษัทมีนโยบาย Work from home ลดเงินเดือน ปลดกำลังคน หรือแม้กระทั้งปิดกิจการ อาชีพอิสระต่างๆ รายได้ลดลง หรือถึงขั้นขาดรายได้ คุณไม่รู้เลยว่าสถานการณ์แบบนี้จะคงอยู่ไปจนถึงเมื่อไร วันนี้ผมจึงอยากชักชวนให้มาตรวจเช็ค "สุขภาพทางการเงิน" แบบง่ายๆ กันครับ ว่าตัวคุณพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ไปได้นานเท่าไร

ขั้นที่ 1 ตรวจเช็ค"งบดุล"

Advertisement

Advertisement

ภาพงบดุล (ภาพโดย mohamed Hassan และ Clker-Free-Vector-Images จาก Pixabay.com)

ขอบคุณรูปภาพโดย mohamed_hassan และ Clker-Free-Vector-Images

บางคนอาจจะไม่ทราบว่างบดุลคืออะไร คิดง่ายๆ ครับ งบดุลก็คือทรัพย์สมบัติทั้งหมด (รายได้) ลบด้วยค่าใช้จ่าย และหนี้สินที่คุณมีในแต่ละเดือน (รายจ่าย + หนีสินที่ต้องจ่าย) ครับ ซึ่งผลต่างตรงนี้คือความมั่นคงของสุขภาพทางการเงินของคุณนั้นเอง โดยวิธีเช็คงบดุลที่ดีคือการบันทึกรายละเอียดทั้งหมดออกมาใช้ชัดเจน ทั้งในส่วนของรายรับ และรายจ่าย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเรามีรายรับ และรายจ่ายจากช่องทางใดบ้างครับภาพการวางแผนงบดุล (ภาพโดย Shutterbug75 จาก Pixabay.com)

ขอบคุณรูปภาพโดย Shutterbug75

งบดุลเป็นบวก ขอแสดงความยินดีด้วยครับ สุขภาพการเงินของคุณยังดีอยู่ครับ เพราะเมื่อคำนวณรายรับ รายจ่ายแล้วคุณยังมีเงินเก็บ แต่เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ผมมีตัวอย่างงบดุลของนาย B. มาให้ดูครับ ลองมองจากภาพด้านล่างคุณจะเห็นว่างบดุลของนาย B. เป็นบวก แต่เป็นบวกแบบที่เรียกได้ว่าน้อยแสนน้อยครับ บวกแบบนี้ หมด COVID-19 ไปบุพเฟ่ต์มื้อเดียวก็ติดลบแล้วครับ ดังนั้นหากทำได้ก็ควรที่จะรัดเข็มขัดเพิ่มขึ้นอีกนิดครับ เพราะคุณไม่รู้เลยว่าแหล่งที่มาของรายรับที่มีในตอนนี้ จะยังอยู่กับคุณไปเรื่อยๆ จน COVID-19 จากไปหรือไม่ และหากวันใดรายได้ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป... คุณติดลบแน่นอนครับ

Advertisement

Advertisement

ตารางงบดุล (Edit โดยผู้เขียน ผ่าน Canva)ภาพตัวอย่างงบดุลโดยผู้เขียน พื้นหลังรูปโดย TheDigitalWay


และหาก งบดุลเป็นลบ คิดเสียว่าหมอกำลังมากระซิบข้างหูว่าคุณเป็นมะเร็งครับ เพราะถ้าปล่อยผ่านไปไม่สนใจมันวันหนึ่งเชื้อร้ายมันก็จะค่อยๆ ลุกลามจนคุณชักหน้าไม่ถึงหลัง และเงินขาดมือแน่นอน หากรายได้คุณขาดไปซักทาง คุณก็จะต้องนำเงินเก็บมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ทดแทนส่วนที่ขาดหายไป ส่งผลให้งบดุลยิ่งติดลบมากยิ่งขึ้น หากคุณอยู่ในกลุ่มนี้ผมแนะนำว่าให้รีบหาสาเหตุและอุดรอยรั่วทางการเงินโดยด่วนครับ โดยในเบื้องต้นแนะนำว่าให้คุณลองเช็ครายจ่ายทั้งหมดของตัวเองและดูว่ามีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอะไรที่สามารถตัด หรือปรับลดได้หรือไม่ครับ ตัวอย่างเช่น

  • ค่าแพ็กเกจรายเดือนของโทรศัพท์ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับการใช้งาน โปรโมชั่น899 บาท มันสูงไปหรือไม่ คุณสามารถใช้งานได้คุ้มค่ากับโปรโมชั่นที่จ่ายไปหรือเปล่า ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูครับ แต่ละค่ายมือถือมักจะมีโปรโมชั่นลับเพื่อดึงลูกค้าเอาไว้ไม่ให้ย้ายค่ายอยู่เสมอ
  • ค่าอินเตอร์เน็ตบ้านที่คุณจ่าย คุณกำลังจ่ายเงินซ้ำซ้อนกับแพ็กเกจโทรศัพท์มือถือหรือไม่ครับ เรามีอินเตอร์เน็ตบ้านแล้วลดแพ็คเกจมือถือในส่วนของอินเตอร์เน็ตลงก็ดีนะครับ หรือถ้าคุณใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ การยกเลิกอินเตอร์เน็ตบ้าน และใช้โทรศัพท์ปล่อยสัญญาณ Wifi Hotspot ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยครับ
  • ค่า Netflix กับ Viu เลือกอันใดอันหนึ่งได้หรือไม่ หรือ Netflix คุณลองหาเพื่อนหารค่าสมาชิกก็ช่วยประหยัดได้นะครับ

Advertisement

Advertisement

จะเห็นว่าเมื่อคุณแจกแจงรายการออกมา คุณก็จะสามารถรู้ได้ว่ารายจ่ายไหนที่ไม่จำเป็น รายจ่ายไหนที่สามารถลดทอนลงได้ และเมื่อหาทางลดรายจ่ายแล้ว ผมก็อยากเชิญชวนให้คุณลองมองหาทางสร้างหารายได้เพิ่มเติมครับอีกครับ เพื่อให้จะได้มีตัวเลขติดลบน้อยที่สุด หรือกลับมาเป็นบวกในที่สุด

ขั้นที่ 2 ตรวจเช็ค "เงินเก็บสำรองฉุกเฉิน"

ภาพแว่นขยายส่องกระเป๋าเงิน (ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay.com)

ขอบคุณภาพโดย stevepb

นอกจากเงินที่ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายยามปลดเกษียณแล้ว เงินเก็บอีกก้อนที่ทุกคนควรมีเก็บไว้ก็คือ "เงินเก็บสำรองฉุกเฉิน" ครับ ความหมายของน้องก็ตรงตัวครับ เพราะน้องคือเงินออมที่ควรจะมีเอาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ตกงาน เจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ เงินก้อนนี้แหละครับ คือก้อนแรกที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระครับ โดยเงินก้อนนี้คุณควรเก็บไว้ในบัญชีธนาคารที่สามารถฝาก หรือถอนได้ทันที โดยไม่มีความเสี่ยง หรือผลกระทบจากการงทุนครับ และควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปีครับ (หากมีเกิน 1 ปี ก็แบ่งเอาไปลงทุนเพื่อให้ออกดอกออกผลในอนาคตดีกว่านะครับ) ตัวอย่างเช่น นาย B. มีรายจ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 21,142 บาท นาย B. ก็ควรจะมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 126,852 บาท ครับ หรือก็คือ 21,142 บาท x 6 เดือนนั้นเองครับ

ภาพการวางสมดุลระหว่างเงินกับอาหาร (มัน) (ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay.com)ขอบคุณภาพโดย stevepb

เสียเวลาซักนิดหลังจบบทความนี้ ลองเช็คดูว่าสุขภาพการเงินของคุณในวันนี้เป็นอย่างไร เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าคุณมีงบดุลเป็นบวกหรือลบ และเช็คอีกนิดว่าคุณมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินอยู่เท่าไร เพราะสถานการณ์ตอนนี้มันช่างเปราะบางเหลือเกิน คุณไม่อาจรู้ได้เลยว่าวันพรุ่งนี้ทางภาครัฐ หรือบริษัทที่คุณทำงาน รายได้ที่คุณมีจะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างน้อยถ้าคุณได้รู้สุขภาพทางการเงินในวันนี้ คุณก็สามารถที่จะคำนวณได้ว่าหากตกงาน เจ็บป่วย หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น คุณก็จะยังมีแผนสำรองในการเอาตัวรอด และแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร

หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะ และขอให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ด้วยดีครับ

ขอบคุณรูปภาพปกบทความโดย TheDigitalWay

ขอบคุณรูปภาพทั้งหมดจาก Pixabay.com

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์