ไลฟ์แฮ็ก

สร้างวินัยลูกวัยรุ่นด้วยการดูแลห้องส่วนตัว

316
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
สร้างวินัยลูกวัยรุ่นด้วยการดูแลห้องส่วนตัว

ผู้เขียนมักจะได้รับคำบ่น คำบอกเล่าและการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลลูกวัยรุ่นในเรื่องวินัยของลูกโดยเฉพาะ "ลูกชาย" เพราะผู้เขียนเองได้ทำงานเป็นครูแนะแนวในระยะหนึ่ง หลายครั้งก่อนที่ลูกตัวเองจะโตเป็นวัยรุ่น ผู้เขียนมักจะตอบไปตามหลัก"ทฤษฏี" จนกระทั่งลูกของตัวเองโตเป็นวัยรุ่น ก็พบว่าการจะทำตามทฤษฎีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ความคาดหวังของพ่อ แม่

ช่วงแรก ๆ ที่ลูกชายแยกห้องนอนในระดับชั้นประถมศึกษา ผู้เขียนเป็นคนเก็บห้องดูแลห้องให้ลูกเพราะคิดว่าเขายังเด็ก รอสักประมาณมัธยมต้นก็จะให้ดูแลห้องเอง ผู้เขียนจะปราณีตจัดผ้าปูที่นอนให้ลูกเหมือนโรงแรมเลยทีเดียว  เวลาลูกเปิดห้องมาในตอนเย็นก็จะตื่นตา ตื่นใจ ตื่นเต้นสักหน่อยในช่วงแรก ๆ เราเองก็ยังบ้าเห่อกับการที่ลูกแยกห้องนอน มีความสุขกับการจัดเตียงจัดห้องให้ลูกมาก ๆ และหวังไว้ว่าลูกจะติดการเห็นที่นอนที่เรียบร้อยแบบนี้ วันหนึ่งเมื่อเขาเก็บที่นอนเองก็จะทำได้สวยเหมือนเรา

Advertisement

Advertisement

ภาพที่นอนของลูกผู้เขียนที่ผู้เขียนจัดให้ในช่วงแรก ๆ หากลูกไม่สามารถทำตามความคาดหวังของเราได้

เมื่อลูกขึ้นชั้นม. 3 ผู้เขียนก็ตกลงกับลูกให้ลูกจัดที่นอนเองและดูแลห้องของตัวเอง  แรก ๆ ลูกก็พยายามที่จะทำที่นอนให้เรียบร้อยเหมือนที่แม่ทำ แต่ด้วยความที่ลูกเองก็อยากไปโรงเรียนแต่เช้าก็มักจะไม่ค่อยมีเวลา ผู้เขียนก็จะตามเก็บตามจัดที่นอนให้เรียบร้อย จนกระทั่งช่วงหลัง ๆ ลูกก็ไม่ค่อยจัดที่นอนสักเท่าไรแล้ว  วันหนึ่งผู้เขียนเริ่มเบื่อที่จะจัดที่นอนให้ลูก  วันนั้นเลยใช้ไม่แข็งโดยการถอดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนปลอกหมอนข้างทั้งหมดออกมา เพื่อเป็นการลงโทษที่ลูกไม่พับผ้าห่มให้เรียบร้อย (ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนจะเป็นคนเปลี่ยนผ้าปูที่นอนให้ลูกเอง) ขณะยืนมองลูกใส่ผ้าปูไปก็สงสารไปเพราะลูกไม่เคยทำ ก็ได้แต่คิดว่าด้วยความโมโห ความใจร้อนของเราและความผิดของเราเองที่ไม่เคยสอนลูกให้ทำอะไรแบบนี้เลยแต่กลับ "คาดหวังว่าลูกจะทำอะไรเป็นได้ด้วยตัวเอง"

Advertisement

Advertisement

ภาพห้องนอนปัจจุบันการพูดคุยกันคือทางออกหนึ่ง

ผู้เขียนตัดสินใจพูดคุยถึงสาเหตที่ลูกไม่พับผ้าห่มให้เรียบร้อย ได้คำตอบว่า "บางทีก็ลืมบ้าง แต่จริง ๆ ก็ยังสงสัยว่าทำไมต้องเก็บที่นอนเพราะยังไงก็นอนคนเดียว ไม่เก็บก็ยังนอน ยังนั่งเล่นได้อยู่ดี" วันนัั้นจึงได้อธิบายและบอกลูกว่า ถ้าวันนี้ลูกไม่เก็บที่นอนก็มีแนวโน้มว่า วันหนึ่งลูกก็จะไม่เก็บห้องต่อไปเมื่อลูกมีบ้านเป็นของตัวเอง บ้านลูกก็จะเป็นบ้านที่ "รก" ไปหมดเพราะลูกก็จะรู้สึกว่า "ไม่เก็บ" ก็อยู่ได้" ลูกฟังแล้วก็ตอบว่า "ไม่จริงหรอก ลูกไม่มีทางเป็นแบบนั้นแน่นอน"

เติมเต็มส่วนที่ลูกยังไม่เข้าใจ

ผู้เขียนจึงได้บอกลูกเสริมไปว่า ถ้าคิดว่าจะไม่มีทางเป็นแบบนั้นวันนี้ก็ต้องแสดงให้เห็นก่อนว่า ลูกสามารถเก็บที่นอนเล็ก ๆ ของลูกได้ ดูแลห้องของตัวเองในพื้นที่เล็ก ๆ นี้ได้  เก็บพับผ้าห่มในทุก ๆ วันได้ จึงจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าต่อไปลูกจะไม่มีบ้านที่ "รก" แม้บ้านเราไม่ได้หลังใหญ่หรือว่าหรูหราอะไร แต่เราก็สามารถทำให้บ้านของเราน่าอยู่ได้ แม่รับผิดชอบส่วนอื่น ๆ ของบ้านทั้งหมด ลูกแค่รับผิดชอบในส่วนเล็ก ๆ ที่เป็นห้องนอนของลูกเท่านั้น เวลาเก็บที่นอนเก็บบ้านเรียบร้อยกลับมาเหนื่อย ๆ ก็จะได้สบายหูสบายตา สบายใจรู้สึกภูมิใจกับห้องกับบ้านของเราเองที่เราได้ดูแลเอง

Advertisement

Advertisement

ภาพห้องนอนภาพโต๊ะที่ทำขึ้นปลายเตียง

เมื่อเกิดความเข้าใจการกระทำก็ตามมา

ได้ผลค่ะ ตั้งแต่วันนั้นลูกชายก็พิสูจน์ว่าเขาสามารถเก็บที่นอน ดูแลห้องของตัวเองให้เรียบร้อยได้ ช่วงประมาณปลายม. 4 ลูกก็คิดวิธีทำชั้นเป็นโต๊ะที่ปลายเตียงเพื่อช่วยให้ห้องดูกว้างขึ้น แม้จะขัดกับความรู้สึกของผู้เขียนที่เห็นลูกนั่งเล่นคอม นั่งทำการบ้านอยู่บนเตียง แต่ก็ต้องทำใจยอมรับในความคิดของลูกเพราะวิธีนี้ก็ช่วยทำให้ห้องกว้างขึ้นได้จริง ๆ

การใช้พื้นที่แนวตั้งที่ลูกออกแบบที่เก็บกีตาร์เปิดใจยอมรับสิ่งที่ลูกเลือก

ลูกวัยรุ่นจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความชอบ ความสนใจส่วนตัว บางครั้งก็ขัดกับความรู้สึก ขัดกับสิ่งที่คนเป็นพ่อ เป็นแม่ ซึ่งมีช่วงวัยที่ห่างกันได้เรียนรู้และถูกปลูกฝังมา ลูกชายของผู้เขียนขอที่จะเลือกผ้าปูที่นอนเอง ซึ่งในอดีต ผ้าปูที่แม่เลือกให้ในตอนเป็นเด็ก ก็เน้นการ์ตูนที่ลุกชอบ พอลูกโตขึ้นก็พยายามคุมโทน ให้อยู่ในสีฟ้า สีเทา ที่สว่างสะอาดตา  แต่ลายและสีผ้าปูที่ลูกเลือกนั้นปัจจุบันเป็นสีโทนเข้ม โทนดำทั้งหมด แม้จะมองดูแล้วขัดใจ เพราะคิดว่า สีดำอาจเกิดอันตรายเวลามีของอะไรตกหล่นมองไม่เห็น ก็ต้องสร้างความเข้าใจด้านความปลอดภัยให้ลูก จนกระทั่งลูกรับปากว่า จะดูที่นอนดีดี ไม่ให้มีอะไรตกหล่นอยู่บนที่นอนก็ที่จะนั่งเล่น นอนเล่นบนที่นอน

ภาพผ้าปูที่นอนสีดำเลี้ยงลูกวัยรุ่นจะไม่ยากเท่าไรถ้าเราได้มีโอกาสถามให้เขาได้บอกความคิดของเขาบ้างว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น เพื่อเรียนรู้ทำความรู้จักลูกของเราให้มากขึ้น เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย และช่วยปรับความคิดเข้าหากัน อยู่ที่เราคนเป็นพ่อ แม่ด้วยว่าจะเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้บอก ความคิด ความในใจของเขาหรือเปล่า ถ้าความคิดบางอย่างของเขาไม่ถูกกับความคิดของเรา อย่าเพิ่งโวยวายว่ากล่าว เพราะอีกหน่อยเขาจะไม่พูดความในใจอะไรให้เราฟังเลย เมื่อนั้นเราจะไม่มีสิทธิ์รู้จักลูกของเราอย่างแท้จริงได้เลย

ภาพทุกภาพโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์