ไลฟ์แฮ็ก

รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ใช่ เหตุบรรเทาโทษ

2.0k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
รู้เท่าไม่ถึงการณ์  ไม่ใช่  เหตุบรรเทาโทษ

“รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ไม่ใช่  เหตุบรรเทาโทษ

เขียนโดย Window  M

credits from freepik.com

เมื่อก่อเหตุเป็นคดีความขึ้นช่วงนี้มักได้ยินคำแก้ตัวทั้งในที่เกิดเหตุ หลังจับกุม หรือ อยู่ต่อหน้าสื่อมวลชน ว่า เขาทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ตัวอย่างเช่น  คนเมาขับรถชนคนอื่น คนถูกตำรวจยึดยาเสพติด  คนถูกจับขณะเล่นไพ่ในบ่อนพนัน คนชกเหยื่อ โจรบุกปล้นธนาคาร คนฉกชิงทรัพย์ของเหยื่อ คนข่มขืนหญิงอื่น นักเลงข่มขู่นักเรียนเพื่อเงิน  เป็นต้น หลายคนมักอ้างว่า “ทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” โดยไม่เข้าใจความหมายหรือวิธีใช้คำนี้ อ้างหวังว่าจะได้ลดโทษตามความผิดของเขา ทั้งที่คำนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย

“รู้เท่าไม่ถึงการณ์”หมายถึง  ทำไปโดยคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุร้ายหรือเกิดปัญหาจากการกระทำของตน หรือ โง่เขลา ตัวอย่างการใช้คำนี้ เช่น มีคนฝากของสิ่งหนึ่งให้เราช่วยเก็บไว้ บอกว่าจะมารับของคืนในอีกสามวัน ต่อมาตำรวจจับเราและตั้งข้อหา รับของโจร เพราะของสิ่งนั้นเป็นของคนอื่นที่ถูกขโมยหรือปล้นไป เราจึงถือว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ของนั้นเป็นของโจร นั่นคือ เราไม่รู้ตั้งแต่แรกว่ากำลังทำความผิดทางกฎหมาย อีกตัวอย่างใช้เปรียบเทียบกันคือ  เรานัดกับเพื่อนขี่มอเตอร์ไซด์ที่แต่งประดับและปรับความเร็วรถไว้เพื่อแข่งความเร็วกันบนถนนสายหนึ่ง แล้วถูกตำรวจจับยึดรถ เรารู้ดีว่าการแข่งรถบนถนนมีความผิดตามกฎหมายก็ยังทำ จึงไม่อาจอ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์  ได้  เรายังต้องรับโทษอาญาตามกฎหมายโดยไม่มีข้ออ้างบรรเทาโทษหรือให้พ้นผิด

Advertisement

Advertisement

credits from freepik.com เหตุบรรเทาโทษตามกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนและใช้เพิ่มหรือลดโทษให้จำเลยในคดี ถ้าเป็นไปตามเหตุบรรเทาโทษศาลใช้ดุลพินิจว่าจะลดโทษหรือไม่ อย่างไร ขอย้ำว่า แม้มีเหตุบรรเทาโทษ แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจจะลดหรือไม่ลดก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าถ้าเข้าเหตุบรรเทาโทษแล้ว ศาลจะต้องลดโทษเสมอ

เหตุบรรเทาโทษทางกฎหมายมีดังนี้

1 ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์สาหัส เหตุนี้ต้องมีองค์ประกอบครบคือ คนเขลาเบาปัญญา คือ ณ เวลาก่อเหตุผู้นั้นมีสติหรือปัญญาไม่ครบถ้วน ระดับไอคิวต่ำ และ เขาหรือเธอต้องอยู่ในความทุกข์สาหัส ตัวอย่างเช่น  เด็กสาวออทิสติคเคยถูกตี ทุบ ทำร้ายจากพ่อเลี้ยงหรือแม่ตลอดเวลาที่อยู่ในบ้านเดียวกัน วันหนึ่งเธอกำลังถูกพ่อเลี้ยงบังคับข่มขืนก็ต่อสู้ขัดขืนใช้มีดฟันคอผู้กระทำผิดขาดและตายคาที่  เป็นต้น เราจะเห็นองค์ประกอบนี้ที่อาจใช้เป็นเหตุบรรเทาโทษเพื่อลดโทษได้สำหรับเด็กสาวคนนี้ ส่วนศาลจะลดโทษตามเหตุบรรเทาโทษนี้หรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล

Advertisement

Advertisement

2 มีคุณความดีมาแต่ก่อน เหตุนี้อาศัยประวัติหรืออดีตของผู้กระทำผิด  ตัวอย่างเช่น เคยเป็นตำรวจชายแดนมา 10 กว่าปี หรือ เคยกระทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง หรือ เคยเป็นทหารไปรบในสงครามต่างๆในนามประเทศ หรือ มีประวัติการบริจาคหรือเข้าร่วมในงานกุศลต่างๆนานหลายสิบปีจนเป็นที่ยอมรับทางสังคม หรือ เคยบริจาคตับ ไต ให้คนที่เดือดร้อนอย่างสมัครใจ เป็นต้น ทั้งนี้ยังขึ้นกับดุลพินิจของศาลว่าจะยอมให้ใช้เป็นเหตุลดโทษได้หรือไม่

3 รู้สึกความผิดและบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด เหตุนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมภายหลังการกระทำผิดแล้ว เช่น เราขับรถชนผู้อื่นหรือทรัพย์สินของคนอื่น แล้วไม่ขับหนี แต่พยายามอยู่ช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างเต็มที่ ด้วยการพาส่งโรงพยาบาล จ่ายค่ารักษาพยาบาล กล่าวคำขอโทษต่อครอบครัวผู้เสียหาย จ่ายค่าชดเชยต่อครอบครัวของผู้เสียหายโดยไม่อิดเอื้อนและอย่างจริงใจ เป็นต้น

Advertisement

Advertisement

4 ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน เหตุนี้เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดยอมรับในความผิดโดยดี ไม่มีการโต้แย้ง ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อ เจ้าพนักงาน มีความสำนึกในความผิด ณ เวลาหรือสถานที่ก่อเหตุ ยอมมอบตัวกับตำรวจโดยดี

5 ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เหตุนี้เมื่อผู้กระทำความผิดยอมรับข้อเท็จจริงในคดี ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือ ให้ข้อมูลสำคัญช่วยให้การพิจารณาคดีง่ายขึ้น หรือ ช่วยคลี่คลายคดีอื่นได้ ตัวอย่างเช่น การยอมรับสารภาพความผิดและให้การคลี่คลายข้อสงสัยในคดีจนกระจ่างชัด หรือ ให้การเป็นประโยชน์ในการจับผู้กระทำความผิดร่วมได้

6 เหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน ข้อนี้ถือเป็น ดุลพินิจเปิดกว้างให้ศาลนำข้อเท็จจริงในคดีไปพิจารณาเพื่อใช้บรรเทาโทษได้ตามยุคสมัย โดยข้อเท็จจริงนั้นต้องมีความคล้ายคลึง ใกล้เคียง เป็นประโยชน์ตามเหตุบรรเทาโทษในกฎหมาย  เหตุข้อนี้จึงยืดหยุ่นตามยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองได้ ตัวอย่างเช่น ผู้กระทำความผิดยอมร่วมมือล่อหัวหน้าโจรให้ตำรวจโดยยอมเสี่ยงภัยด้วยตัวเองหรือผ่านความเชี่ยวชาญส่วนตัวด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

หลักกฎหมายมีเหตุบรรเทาโทษที่ใช้อ้างเพื่อลดโทษในขอบเขตจำกัดและต้องตีความโดยเคร่งครัด เมื่อการลงโทษอาญานั้นกระทำต่อชีวิต ร่างกาย และจิตใจ การตีความตัวบทกฎหมายจึงต้องทำโดยเคร่งครัดและจำกัด จะเห็นว่า ไม่มีเหตุบรรเทาโทษใดเขียนว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ เหตุลดโทษหรือยกเว้นโทษ ได้  หลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้าอ้าง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะไม่มีความผิดหรือได้ลดโทษทันทีเพราะดูเสมือนว่าเราไม่รู้ว่ากำลังทำความผิดหรือไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำคือความผิดหรืออ้างว่าไม่รู้กฎหมาย

credits from freepik.com

กฎหมายไทยบังคับชัดว่า คนไทยต้องรู้กฎหมายไทย จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ นั่นหมายความว่า ทุกคนที่ทำความผิดจะอ้างว่า ทำไปโดยไม่รู้ว่ามีกฎหมายนั้นหรือไม่รู้จักกฎหมายนั้น ย่อมอ้างไม่ได้ คำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เป็นเพียงข้ออ้างทางสังคมซึ่งอยากใช้เป็นเหตุให้สังคมหรือผู้เสียหายให้อภัยแก่ผู้ก่อภัย แต่ไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อบรรเทาโทษทางกฎหมาย

ตัวอย่างที่มักใช้อ้าง “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” บ่อยมาก หลายคนรู้ว่าไร้ผลทางกฎหมาย หรือ ไม่ได้สำนึกผิดจริง หรือ หวังจะได้รับการบรรเทาโทษทางกฎหมายแต่ไม่ได้สำนึกผิดเลย เช่น นาย เอ ขับรถชน นาย บี แล้วซิ่งหนีไปหรือให้คนอื่นมารับเขาหนีไปจากจุดเกิดเหตุโดยไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บหรือผู้ตาย เมื่อจับได้คาบ้านที่ใช้ซ่อนตัวก็อ้างว่า เขาชนโดยไม่รู้ว่าเป็นคนด้วยเหตุเมาเหล้าหนักและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าชนคน หรือ นาย สี ขับรถซิ่งแข่งบนถนนทางหลวง เมื่อตำรวจไล่จับก็ขับไปชนเสาไฟของการไฟฟ้าฯและกำแพงบ้านคนอื่น เขาอ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าแข่งบนถนนเป็นความผิด หรือ นาง ซี ขับรถเร็วบนทางด่วนแล้วก้มเก็บมือถือหรือพิมพ์แชทกับเพื่อน จึงขับไปชนรถของ นาย กอหญ้า จนรถผู้ตายกระเด็นหลุดร่วงลงไปจากทางด่วนและตาย เธออ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเก็บของจะไปชนคนได้ ไม่ตั้งใจชน หรือ นาย คมคาย ขับรถหรูไปชนมอเตอร์ไซด์ที่จอดเสียข้างทางเพราะมัวสนใจคุยมือถือกับเพื่อนแล้วซิ่งหนีกลับบ้าน เมื่อตำรวจตามไปจับก็ส่ง ลูกจ้างในบ้าน ไปรับสมอ้างเป็นคนขับรถที่ก่อเหตุ  เป็นต้น  พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนบอกชัดว่า ผู้กระทำไม่มีความสำนึกผิด ไม่คิดจะยอมรับผิดชอบในความเสียหายที่ตนก่อไว้ ไม่คิดจะมอบตัวเพื่อแสดงความสำนึกผิดตั้งแต่แรก ถ้าวิญญูชนรู้ว่า พฤติกรรมใดคือความผิดทางกฎหมาย บุคคลใดจะอ้างว่าไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นคือความผิด ย่อมอ้างไม่ได้ มันหมายความว่า คนทั่วไปรู้ว่า การขับรถชนคนอื่นถึงตายหรือบาดเจ็บ ย่อมเป็นความผิดทางกฎหมายและต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น คนที่กระทำเรื่องนั้นจะอ้างว่า ไม่เคยรู้ว่าการขับรถชนคนอื่นจะเป็นความผิดทางกฎหมายได้ หรือ คนทั่วไปรู้ว่าการขับรถแข่งบนถนนทางหลวงเป็นความผิด เราจะอ้างว่าไม่เคยรู้ว่าขับรถแข่งบนทางหลวงเป็นความผิด ย่อมอ้างไม่ได้ หรือ คนทั่วไปรู้ว่าการเสพย์ยาบ้าเป็นความผิด เราเสพย์ก็อ้างว่า ไม่รู้ว่าทำไม่ได้ ไม่รู้ว่ามีกฎหมายแบบนี้ ย่อมอ้างไม่ได้  ดังนั้น  คำอ้าง “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ซึ่งจะใช้ทางสังคมสำหรับความใสซื่อ บริสุทธิ์เพราะทำด้วยความไม่รู้กฎหมายหรือไม่รู้ว่าจะเป็นความเดือดร้อนของใคร ในทางสังคมอาจใช้ได้เมื่อพิสูจน์ได้ชัดว่าปุถุชนคนทั่วไปไม่รู้เรื่องนั้นด้วย เราก็อาจไม่รู้ได้ เช่นเดียวกับการพิสูจน์ทางกฎหมายที่มองว่า วิญญูชนรู้เรื่องนั้นหรือไม่ ถ้าวิญญูชนรู้ ทุกคนก็ต้องรู้ด้วย อีกทั้ง กฎหมายไทยบังคับชัดว่า คนไทยต้องรู้กฎหมาย ผู้ใดจะอ้างว่าไม่รู้จักกฎหมายไทยไม่ได้ แม้จะไม่เคยอ่านกฎหมายนั้นมาก่อนก็ตาม

credits from freepik.com

เมื่อกระทำความผิดต่อกฎหมาย ย่อมมีบทลงโทษทางกฎหมาย เหตุบรรเทาโทษจึงเป็นทางเดียวที่ทำให้ผู้นั้นลดโทษได้ นอกเหนือจากการพิสูจน์ในการพิจารณาคดีว่า ไม่ได้ทำความผิดหรือได้รับการยกเว้นโทษ  ดังนั้น  เมื่อก่อเหตุร้ายจนมีความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินแล้ว การสำนึกผิดเสียใจ  การไม่หนีจากจุดเกิดเหตุ การแสดงความจริงใจกับผู้เสียหาย การให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่ผู้เสียหาย การยอมรับความผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ  เป็นเรื่องที่พึงกระทำก่อน มิฉะนั้น เมื่อมีการดำเนินคดี ผู้ก่อเหตุอาจเดือดร้อนกับบทลงโทษหนัก

รู้เท่าไม่ถึงการณ์  ไม่ใช่ข้ออ้างใช้กับกฎหมาย  เหตุบรรเทาโทษที่เขียนในกฎหมาย ใช้อ้างเพื่อลดโทษของผู้กระทำความผิดได้ ความสำนึกผิดเสียใจต่อการกระทำของตนเป็นเรื่องต้องแสดงให้ชัดเจนเพื่อใช้ประโยชน์ในชั้นศาล ต้องไม่ลืมว่า เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งความตายของบุคคลหรือต่อทรัพย์สิน จะต้องมีคนก่อเหตุนั้นเพื่อรับโทษตามกฎหมายหรืออย่างน้อยก็ต้องมีการพิจารณาในศาลว่าได้กระทำผิดหรือไม่ หรือเป็นอุบัติเหตุที่ยากจะเลี่ยงได้  เมื่อใช้กฎหมายควบคุมพฤติกรรมของคนไทย หากมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ก็ต้องให้คำตอบแก่สังคมไทย คนไทยได้ว่า ผู้ใดกระทำและต้องรับโทษ หรือ เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีฝ่ายใดต้องรับผิด ตัวอย่างเช่น  รถชนกันเสียหายเป็นแถวต่อเนื่องกัน การพิจารณาคดีจะบอกได้ว่า ผู้ใดก่อเหตุนั้นก่อน หรือ ลมพายุเกิดกะทันหัน ทำให้พัดพารถชนกระแทกกัน หรือ หลังน้ำท่วมหนัก เสาไฟล้มทับรถยนต์ เป็นต้น

ตัวบทกฎหมายอาจดูเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่บางครั้งด้วยกระบวนการหรือผู้เกี่ยวข้องก็อาจบิดเบือน ปัดเป่า ให้ความเดือดร้อนคลายลงด้วยสารพัดเครื่องมือทางสังคมหรือการเงินก็ได้ หลายครั้งก็ให้โทษมหันต์กับผู้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์มิชอบแก่ตนก็ได้ ดังนั้น  การบรรเทาโทษทางกฎหมาย หากได้กระทำก่อน อย่างน้อยโอกาสลดโทษด้วยความสำนึกผิดของเราก็เป็นหลักประกันที่แน่นอนมากกว่ารอคอยความหวังที่คนอื่นอาจให้หรือไม่ให้ก็ได้  อย่าแน่ใจว่าทำเหมือนเขาแล้วจะได้อิสรภาพเหมือนเขา บางครั้งก็ต้องมีจังหวะ โอกาส และอื่นๆที่สอดคล้องกัน เสรีภาพจึงเป็นของเราได้

Credits

พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ประมวลกฎหมายอาญาไทย

Freepik.com

******************************************

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Manee
Manee
อ่านบทความอื่นจาก Manee

ชอบคิด ชอบเขียน ไร้กรอบ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์