อื่นๆ

รถเมล์นายเลิศ

863
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
รถเมล์นายเลิศ

รถเมล์วิ่งวันนี้ตอนเช้าฉันเตร็ดเตร่หาซื้อของกินมารองท้อง ก็มองดูอะไรไปเรื่อยเปื่อย เห็นรถเมล์วิ่งก็นึกย้อนไปถึงในอดีต ว่ารถเมล์บ้านเราก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ เท่าที่เคยนั่งมา ก็มีตั้งแต่รถเมล์ร้อนธรรมดา ที่มักเรียกกันว่าเบนซ์ 2 ประตู 20 หน้าต่าง รถปรับอากาศแบบสีน้ำเงิน ที่บางคันเก่าขนาดแอร์ไม่ค่อยมีความเย็น นั่ง ๆ ไปมีฝุ่นดำ ๆ ร่วงลงมาด้วย แล้วก็มานั่งรถเมล์ครีมแดงช่วงแรกก็ใหม่ดี มีประตูเปิดปิดอัตโนมัติ และล่าสุดมีรถเมล์ไฟฟ้า ที่นั่งแล้วไม่ต้องกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศ หายใจกันอย่างโล่งสบายปอด

นายเลิศ เศรษฐบุตรคุณผู้อ่านทราบไหมคะว่า บ้านเมืองเรามีรถเมล์ใช้กันมา 111 ปีแล้วค่ะ ผู้ริเริ่มให้บริการรถเมล์ขนส่งผู้โดยสารรายแรกก็คือ นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ ที่ชาวบ้านจะเรียกรถเมล์ของท่านว่า รถเมล์ขาว หรือรถเมล์นายเลิศ มีลักษณะพิเศษก็คือ มีสีขาวตลอดทั้งคัน และที่ฉันชอบมากก็คือมีโลโก้รูปขนมกงติดอยู่บนตัวรถ จะว่าไปรูปร่างก็คล้ายกับยี่ห้อเบนซ์ แต่โลโก้ขนมกงมี 4 แฉก แต่ของเบนซ์มี 3 แฉก

Advertisement

Advertisement

ขนมกงตามประวัติแล้ว ฉันเห็นว่านายเลิศเป็นผู้ประกอบการตัวยงคนหนึ่งเลยทีเดียว ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจเดินรถเมล์โดยสารประจำทางที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย โดยได้เป็นผู้ริเริ่มกิจการขึ้น รถเมล์โดยสารนี้ช่วยให้ผู้คนในสมัยนั้นเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น แล้วยังเป็นการปูพื้นฐานกิจการเดินรถโดยสารสาธารณะให้กับประเทศในเวลาต่อมา

ก่อนหน้าที่จะมาเปิดกิจการรถเมล์ นายเลิศเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงในยุคนั้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรถเช่า ม้าเช่า ขายจักรยาน ธุรกิจส่งออก-นำเข้า ธุรกิจที่ดิน โรงน้ำแข็ง ตั้งบาร์ขายเหล้า กิจการเดินเรือเมล์ในคลองแสนแสบ นายเลิศทำมาแล้วทั้งนั้นและก็ล้วนไปได้สวยอีกด้วย กิจการรถเมล์จึงเป็นอีกกิจการที่ต่อยอดขึ้นมาจากธุรกิจที่ประกอบการอยู่ นั่นคือเพื่อเชื่อมต่อกับเรือเมล์ที่นายเลิศให้บริการอยู่นั่นเอง ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็เป็นแบบใช้บัตรแมงมุมขึ้นรถไฟฟ้าสายนี้แล้วต่อด้วย MRT สายนั้น แล้วมาต่อวินมอเตอร์ไซต์รับจ้างอะไรทำนองนี้ คือมีผู้ให้บริการขนส่งผู้โดยสารทุกช่วงของการเดินทางโดยไม่สะดุด สมัยของนายเลิศก็มองเครือข่ายการเดินทางไว้ไม่แพ้กัน

Advertisement

Advertisement

รถเมล์ขาวนายเลิศในเรื่องต้นแบบรถเมล์ขาวนั้น นายเลิศเป็นผู้ออกแบบด้วยตัวเอง ไม่ได้ลงกระดาษเขียนแบบ แค่หยิบถ่านหุงข้าวมาขีดเขียนแบบที่คิดไว้บนพื้น แล้วจ้างช่างไม้ชาวเซี่ยงไฮ้ต่อให้ ส่วนหัวลากกับเครื่องยนต์สั่งมาจากอังกฤษ หน้าตาของรถเมล์นายเลิศก็เหมือนกับรถของฝรั่งในสมัยนั้น ถ้าสมัยนี้ก็หาดูได้จากรถรุ่นโบราณตามพิพิธภัณฑ์รถเก่า รถเมล์ของนายเลิศเป็นที่ยอมรับของคนสมัยนั้น และได้รับความนิยมจากผู้คน

รถเมลขาวสาย 8รถเมล์สายแรกของนายเลิศ วิ่งจากประตูน้ำไปสี่พระยา เมื่อกิจการเจริญก้าวหน้าจึงขยายออกไปจนเกือบทั่วกรุงเทพมหานคร ให้บริการ ตามสโลแกน "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย" เถ้าแก่ใหญ่ก็ต้องเข้าไปนั่งในใจของลูกค้าแบบนี้ล่ะคะถึงจะอยู่ได้ยาว สิ่งนี้คงจะเป็นเคล็ดลับที่ทำให้บริษัทอยู่มายาวนานและเจริญรุ่งเรือง กิจการรถเมล์นายเลิศดำเนินการอย่างยาวนานถึง 70 ปี ได้สัมปทานเดินรถประจำทางในกรุงเทพฯ 36 สาย มีรถประมาณ 700 คัน มีพนักงาน 3,500 คน นับเป็นธุรกิจรถเมล์ที่ใหญ่โตไม่ใช่น้อย จวบจนเมื่อปี พ.ศ. 2520 บริษัทรถเมล์นายเลิศจึงได้เลิกกิจการไป เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการขนส่งสาธารณะทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน แล้วให้รัฐเข้ามาดำเนินงาน จึงมีประกาศให้เอกชนหยุดเดินรถเมล์ ยกเลิกสัมปทานเดินรถประจำทางทุกสาย และให้ขายรถเมล์ให้กับรัฐ คือใช้อำนาจรัฐโอนกิจการรถเมล์นายเลิศมาดำเนินการเอง รัฐบาลก็คงเล็งเห็นว่าการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ควรจะมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด รถเมล์ขาวจึงต้องปิดฉากลง เหลือไว้ก็เพียงตำนานที่เคยสร้างความประทับใจแก่ผู้คน

Advertisement

Advertisement

ฉันขอยกให้นายเลิศ เศรษฐบุตรเป็นไอดอลในเรื่องการมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการอย่างเต็มเปี่ยม ที่มองเห็นโอกาสแล้วลงมือทำ เมื่อได้ผลสำเร็จระดับหนึ่งแล้วต้องขยายความสำเร็จนั้นออกไป เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของกิจการ ถึงแม้นายเลิศจะล่วงลับไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีกิจการที่ทายาทยังคงชื่อไว้ให้ระลึกถึงท่าน อย่างที่เราเคยได้ยิน โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ ที่อยู่แถวถนนวิทยุ กรุงเทพฯ หรือจะเป็น บ้านปาร์คนายเลิศ เรือนไม้สักหลังใหญ่อายุ 105 ปี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรือนรับรองส่วนตัวของนายเลิศ เศรษฐบุตร ตอนนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศ เป็นต้น เมื่อเห็นชื่อ ผู้คนจะได้นึกได้ว่า ครั้งหนึ่งนามนายเลิศผู้นี้ได้สร้างคุณูปการฝากไว้กับแผ่นดินไทย


รูปปก ขอบคุณ เพจ Nai Lert Park Heritage Home / ภาพประกอบ 1 โดย บุษบาบรรณ / ภาพประกอบ 2 ขอบคุณ เพจ Nai Lert Park Heritage Home / ภาพประกอบ 3 โดย บุษบาบรรณ / ภาพประกอบ 4 ขอบคุณ เพจ Nai Lert Park Heritage Home

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์