อื่นๆ

ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการช่วย “ลด ละ เลิก” จริงหรือ???

110
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการช่วย “ลด ละ เลิก” จริงหรือ???

สภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อประเทศในวงกว้างอย่างรุนแรงในระยะที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนแผนการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นต้นมา ที่ได้น้อมนำหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันและการดำรงชีวิตภายใต้โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จัดการบริหารความเสี่ยง เพื่อนำมาสู่ความสมดุลและยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในระยะหลังๆมานี้แต่ละประเทศกลับมาสนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมกับการดูแลบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซอันเนื่องมาจากการทำลายชั้นบรรยากาศโลก ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ฯลฯ (Dek-d, 2563) (ณรงค์ รัตนนาคินทร์ และ วราพร ชลอำไพ, 2563)

Advertisement

Advertisement

นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัญหาที่ทุกรัฐบาลจะต้องแก้ไขให้ได้และดีที่สุด คือปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งแต่ละรัฐบาลต้องพยายามหานโยบายที่ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจสุขภาพ เนื่องจากในแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอันเกิดกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรคที่โอกาสรักษาแล้วหายสามารถทำได้แต่มีความยากคือโรคมะเร็ง ไม่ได้หมายความว่ารักษาไม่ได้ แต่โอกาสที่จะหายเป็นไปได้ยาก และจากสถิติเราจะพบผู้ป่วยที่ป่วยเป็นมะเร็งอันเนื่องมาจากสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งตับและมะเร็งปอด ที่จากสถิติพบว่ามะเร็ง 2 ชนิดนี้ ถูกพบเป็นอันดับต้นๆของประเทศ (ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ของสถาบันมะเร็ง, 2563)

จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศสูงถึง 20.7 % โดยเฉพาะเพศชาย สูบบุหรี่ถึง 40% และยิ่งไปกว่านั้นอายุของประชากรที่เริ่มสูบบุหรี่กลับเป็นช่วงอายุที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2550 อายุเฉลี่ย 16.8 ปี แต่ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าเด็กที่เริ่มสูบบุหรี่ เริ่มที่อายุเฉลี่ยของผู้สูบบุหรี่อยู่ที่ 15.6 ปี และผู้ที่สูบบุหรี่ประจำจะพบว่าจะต้องเสียเงินเพื่อหาซื้อบุหรี่มาสูบเองเดือนหนึ่งๆประมาณ 423 บาท (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557)รูปบุหรี่ (realworkhard, 2563)

Advertisement

Advertisement

สถานการณ์ในประเทศไทยเองมีความตื่นตัวในการรณรงค์ทั้งด้านการดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เป็นจำนวนมาก อันจะเห็นได้จากการปลูกฝังเด็กตั้งแต่ในโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ในภาครัฐเองก็มีการปรับขึ้นภาษีอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อหวังให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

สินค้าที่ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต การที่รัฐขึ้นภาษีสรรพสามิตด้านสิ่งของประเภทเสพย์ - ติด (ภาษีบาป) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล หรือแม้กระทั่งบุหรี่ที่ใช้สูบ ฝ่ายหนึ่งอยากขายของ ในขณะที่อีกฝ่ายอยากให้ประชาชน "ลด ละ เลิก" ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันมานาน

นโยบายสาธารณะ หมายถึง แนวทางการดำเนินกิจกรรมของรัฐบาล โดยสามารถแยกออกเป็น แนวทางในการดำเนินงาน และ กิจกรรมของรัฐ ซึ่ง “แนวทางการดำเนินกิจกรรม” คือ ทางเลือกที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา บรรเทาปัญหา หรือ ป้องกันปัญหา ตามภาระหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งเราสามารถย้อนกลับไปดูได้จาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนของกระทรวง ทบวง กรม และแผนเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการทำออกมาในลักษณะที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย  ส่วน “กิจกรรมของรัฐ” คือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อสาธารณะ โดยทำออกมาเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการหรือควบคุมดูแลการดำเนินการโดยองค์กรของรัฐ ที่ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (ศุภชัย ยาวะประภาษ, 2552)

Advertisement

Advertisement

ในต่างประเทศมักดึงนโยบายด้านภาษีมาเป็นตัวควบคุมการบริโภคสินค้าและบริการของประชาชน อาทิเช่นประเทศสวีเดน ประเทศแคนนาดา เป็นต้น โดยมองว่านโยบายภาษีเป็นตัวควบคุมการบริโภคที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด ยิ่งไปกว่าการต้องการให้ประชาชน “ลด ละ เลิก” ในสินค้าฟุ่มเฟือยแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลสามารถดูดเงินจากกระเป๋าสตางค์ของประชาชนอย่างมาก ในขณะที่ย้อยกลับมามองประเทศไทย นโยบายภาษีเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าประเภทสินค้าที่ผิดศีลธรรม เช่น สุรา – เบียร์  ที่ในเดือนหนึ่งๆ เฉพาะ อำเภอแก่งคอย อำเภอวังม่วง และอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มียอดขายเบียร์ช้างจากแต่ละร้านค้ารวมกันประมาณ 25,000 ลัง (ข้อมูลจากพูดคุยสอบถามร้านซับเอเย่นต์ในอำเภอแก่งคอย 4 ร้านค้า อำเภอวังม่วง 3 ร้านค้า และอำเภอมวกเหล็ก 4ร้านค้า)

เหล้า เบียร์ บุหรี่

"ภาษีบาป” ที่พูดถึงคือภาษีที่ถูกจัดเก็บจากการบริโภคสุราและยาสูบ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดคุณ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นถึงการขึ้นภาษีจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เนื่องจากมอง “เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้านั้นน้อยลง” ตามหลักกลไกตลาด นอกจากนี้แล้วรัฐบาลยังสามารถนำเงินจากการเก็บภาษีบาปไปสนับสนุนกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น จากแฟ้มการประชุมครั้งที่ 6/2557 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการแปรญัตติ “การจัดตั้งกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ” (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 2563) (พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๙, ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘)

ภาษีสรรพสามิตคือภาษีการขายที่ถูกเรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ร้านค้ารับภาระภาษีที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ มีผลต่อสุขภาพการดำรงชีวิต ผิดต่อศีลธรรม ขนบประเพณีวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งรัฐจัดสินค้านี้เป็นประเภทฟุ่มเฟือย ดังนั้นภาษีสรรพสามิตถือเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้เป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ภาษีประเภทนี้มีฐานแคบและลงลึกเฉพาะเจาะจง และสามารถเก็บในอัตราที่สูงได้

ตามมาตรา ๓๗ ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมาย ว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ

มาตรา ๓๙ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ มีหน้าที่ ส่งเงินบำรุงกองทุนตามอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๓๗ พร้อมกับการชำระภาษีตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด

จากการแจกแบบสอบถามประชาชนในจังหวัดสระบุรี จำนวน 500 ท่าน ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลปรับภาษีบุหรี่ พบว่า ประชาชนในจังหวัดสระบุรีมองว่าการปรับภาษีทั้งเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และภาษีบุหรี่ ไม่ได้มีผลต่อการบริโภค สูงถึงร้อยละ 34.84 และถึงแม้รัฐบาลจะประกาศอัตราภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10 % คนก็มองว่าไม่ได้กระทบกับการบริโภค แต่อาจจะเป็นเพียงปัจจัยในบริโภคน้อยลง เนื่องจากเม็ดเงินในกระเป๋า

ดังนั้นการที่รัฐบาลขึ้นภาษีสรรพสามิตเพียงเพราะต้องการให้ประชาชนลดการบริโภค อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีราคาที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ประชาชนอยากจะเลิกการบริโภค

จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจพบว่าโดยมากการจะบริโภคสินค้าฟุ่มเฟื่อยนี้มักจะดูจากรายได้ของตนเป็นหลัก ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ ในเมื่อรายได้เท่าเดิม แต่สินค้าถูกปรับภาษีเพิ่มขึ้น ราคาสูงขึ้นตามภาษีที่ปรับ การบริโภคก็น้อยลงตามปริมาณรายได้ที่ตนหาได้ แต่ด้วยประชาชนในจังหวัดสระบุรีโดยมากเป็นอาชีพพนักงานโรงงาน และพนักงานที่หาเช้ากินค่ำ ดังนั้นความพยายามในการหารายได้ของผู้ที่ต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยนี้จึงต้องมองรายได้เป็นหลัก อีกทั้งระยะหลังกฎหมาย "ห้ามแบ่งขาย" ที่ทำให้ร้านค้าปลีกหลายๆร้านออกมาเรียกร้องสิทธิ์การขายของตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าเมื่อห้ามแบ่งขายทำให้รายได้ลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากรายได้ผู้ซื้อไม่ได้มีมาก ประกอบกับรายได้ที่หาได้จะต้องแบ่งใช้ในหลายๆส่วน ทำให้ผลที่ตามมาคือการแชร์ในกลุ่ม เช่นบุหรี่ 1 ซองจัดกลุ่มเพื่อนแล้วแชร์กัน ซึ่งในทางกลับกันหลายคนมองว่าการให้แชร์แบบพฤติกรรมดังกล่าวกลับทำให้ประชาชนบริโภคมากขึ้น จากที่เคยมีในกระเป๋า 2 - 3 ตัว ต่อการซื้อ 1 ครั้ง กลับมีถึง 5 - 7 ตัว ต่อการแชร์กับเพื่อน 1 ครั้ง และพฤติกรรมแบบนี้ถูกแชร์ในกลุ่มนักเรียนมากขึ้น จากความต้องการลดการบริโภคของประชาชน แต่กลับเป็นช่องให้สามารถเข้าถึงสิ่งของเหล้านี้ของเด็กมากขึ้น ด้วยบางครั้งผู้ใหญ่ใช้ให้ซื้อแล้วแบ่งให้เด็ก หรือรุ่นพี่ซื้อมาแล้วมากเกินไปแบ่งให้กับเด็ก ในแง่ของเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยมากเรามักจะพบเห็นในชุดของการดื่มสุราขาวมากกว่าสินค้าอื่น เนื่องจากกลุ่มที่ดื่มสุราขาวมักเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน และมีรายได้เป็นวันๆ ทำให้การดื่มแต่ละครั้งมักจะหาร้านที่ยอมขายแบบแบ่งแก้ว "เป๊ก" ยกดื่มแล้วไปเลย

ในแง่ของร้านค้าการขายในปริมาณที่น้อยแต่บ่อยทำให้สามารถหารายได้จากการที่ขายแบบยกชุด ซึ่งเป็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการขายในปริมาณที่มาก ย่อมได้กำไรไม่มาก แต่อาศัยการออกของสินค้าที่รวดเร็ว การถ่ายเทสินค้าที่รวดเร็วกว่า ได้เงินมาใช้ในการดำเนินกิจการที่คล่องตัว ส่วนร้านค้าปลีกขนาดเล็ก มักมีความต้องการขายในปริมาณน้อย แต่ได้ขายบ่อยๆ ยิ่งแบ่งขายมากๆครั้ง ยิ่งทำให้ได้กำไรมากขึ้น

บุหรี่
บุหรี่

ตัวอย่างเช่น ร้านค้า "A" ขายบุหรี่ SMS หรือWonder หีบละ 560 บาท มี 10 ซอง

ถ้าลูกค้าซื้อ 1 ซอง ขายซองละ 60 บาท

ราคาซองกับราคาหีบยังเห็นกำไรที่แตกต่าง แล้วลองนึกต่อเล่นๆ ถ้าเป็นแบ่งขายเป็นมวนจะได้กำไรเพิ่มขึ้นอีก

ซึ่งถ้าทางร้านยังแบ่งบุหรี่ขายด้วย บุหรี่ 1 มวน ขาย 5 บาท และ 5 มวน ขาย 20 บาท

ราคาบุหรี่ที่นิยมขายในประเทศไทย จากตัวอย่างร้านค้า "A" จะเห็นว่ายิ่งปรับการขายเป็นปลีกย่อยยิ่งได้กำไรที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธการ "แอบขาย" ของร้านค้าปลีกได้ เพียงแต่กฎหมายไม่ได้ถูกใช้อย่างจริงจัง

จากรายงานภาวะสังคมไทยรายไตรมาส ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีการระบุอัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้าถึงการบริโภคสุรา – บุหรี่ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เนื่องจากร้านขายของชำขนาดเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าตามหมู่บ้าน ในตรอก ซอย ส่วนมากยังมีการแบ่งขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และบุหรี่อยู่ โดยการ “แอบขาย” เนื่องจากความรู้สึกที่ร้านค้ามองถึงกำไรสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับรูปการณ์แบ่งบุหรี่ขายในตารางข้างต้น

เชื่อหมอ

เมื่อพูดถึง "แอบขาย" แล้วไม่พูดถึงช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส-19 ก็คงไม่ได้ เนื่องจากช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทยได้ประกาศ "ห้าม" ขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อจุดประสงค์ลดการสังสรร เผชิญหน้าในหมู่เพื่อน แยกกันอยู่ ต่างคนต่างอยู่บ้านของตนเอง ตามสโลแกน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้

ซึ่งห้ามขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ครั้งนี้ทำให้พบว่ากลไกตลาดมีอยู่จริง ถ้าร้านค้า "กล้า" ขาย หมายความว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่กล้าขายเพราะกลัวกฎหมาย แต่ด้วยตลาดไม่มีใครกล้าขาย มีที่กล้าขายคือผู้ที่กล้ากำหนดราคาในท้องตลาด ทำให้ช่วงนี้จากสุราสีหงส์ทองกลม ขนาด 700 ml. ปกติละ 248 - 260 บาท สามารถขายได้ถึงราคา 360 - 380 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง แต่ด้วยความต้องการซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้ขายสามารถขายในราคาที่ตนเป็นผู้กำหนดได้ โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมักมองว่าประชาชนขาดรายได้ ซึ่งในความเป็นจริงถ้าจากการดูช่วงปิดประเทศ ผู้เขียนคิดว่าเป็นพฤติกรรมจอมปลอมของประชาชนที่อ้างว่าขาดรายได้ ไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอย ในการซื้อข้าวปลาอาหาร แต่มีเงินเพื่อซื้อเครื่องดื่มที่ถูกร้านค้าขายเกินราคาเพียงต้องการซื้อหาเพื่อดื่ม ในขณะ พฤติกรรมบางท่านสามารถ ละเว้นการดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ได้ในช่วงเข้าพรรษา แต่ถูกสั่งห้ามขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ 1 เดือนกลับไม่สามารถลดเว้นได้

หงส์ทอง

ในขณะที่ครอบครัวหลายๆครอบครัวเกิดมีพฤติกรรมแปลกจากการที่คนในบ้านอยากบริโภคเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ กล่าวคือจากช่วงห้ามขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ที่ผ่านมา หลายๆท่าน มักจะพูดว่า "จะลงแดง" ถ้าเป็น "ภรรยามาซื้อให้สามีก็จะบอกว่าพี่โดนทำร้ายเพราะอยากเหล้า ช่วยขายเถอะ..." แม้แต่ตำรวจ (ผู้ถือกฎหมาย) เองก็เกิดพฤติกรรมเดียวกับประชาชน พฤติกรรมแบบนี้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตทางสังคมของแต่ละบ้าน ด้วยความต้องการจึงเกิดการทำร้ายคนในครอบครัว[1]

ในทางกลับกัน คนที่ต้องการจะเลิกบริโภคสินค้าประเภทนี้ น่าจะใช้โอกาสนี้ในการเลิก แต่ความที่เป็นระยะเวลาที่สั้น ทำให้เมื่อได้กลับมาบริโภคอีกครั้งกลับบริโภคที่มากขึ้นกว่าเดิมและการที่ขึ้นภาษีสรรพสามิตเชื่อหรือไม่ว่าไม่ได้ทำให้ประชาชนลดการบริโภคลงเลย สิ่งที่ทำให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้จริง คือ “ปัญหาสุขภาพ”

ในปี 2560 ขณะที่ผู้เขียนแจกแบบสอบถาม และเข้าสัมภาษณ์ร้านค้าในอำเภอแก่งคอย ซึ่งร้านหนึ่งเป็นเอเย่นต์บุหรี่ไทย (กรองทิพย์ สายฝน SMS) และตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทบุญรอด และอีกร้านหนึ่งเป็นร้านเก่าแก่ในตลาดแก่งคอย อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย ซึ่งทั้ง 2 ร้านค้ามีความคิดเห็นที่ไปในทิศทางเดียวกันคือการที่จะทำให้ประชาชนเลิกสินค้าประเภทนี้ได้คือแพทย์ ลงความเห็นว่าคุณกำลังจะ “ตาย” หมายความว่าไปหาคุณหมอด้วยอาการทางร่างกายแล้วคุณหมอสั่งให้เลิก เพื่อรักษาชีวิต ถึงทำให้คนพยายามเลิกพฤติกรรมการบริโภคได้ และอีกทางหนึ่งประชาชนมองว่าการปรับภาษีทั้งเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และบุหรี่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการบริโภค ราคาต่างหากเป็นตัวทำให้ประชาชนลดการบริโภค เนื่องจากการมองภาษีเป็นเพียงตัวเลขที่รัฐบาลคิดขึ้นมา แต่ราคาที่ถูกเสนอต่อประชาชน ถูกบวกเพิ่มจากภาษีเป็นจำนวนมาก แล้วถูกเคาะออกมาเป็นราคาขาย อย่างไรก็ตามภาษีที่ถูกรัฐบาลกำหนด แต่ผู้ผลิตยังไม่ได้ประกาศราคาใหม่ การขายสินค้าก็ยังถูกกำหนดโดยราคาเดิม พฤติกรรมการบริโภค[2]ก็ยังกลับมาที่จุดเดิม

เมื่อเริ่มมีราคามาเกี่ยวข้อง กลไกตลาดก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย กลไกตลาดเป็นตัวตัวกำหนดความต้องการซื้อและความต้องการขายของผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าและบริการ โดยราคาที่ความต้องการซื้อและความต้องการขายมาบรรจบกันคือจุดที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ หรือพึงพอใจที่จะซื้อ ในขณะที่ผู้ขายก็ต้องการขายในความพึงพอใจที่ตนเองต้องการจะขาย เช่นกัน ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถกลับมาขายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ได้อีกครั้ง โดยการซื้อกลับไปทานที่บ้าน ห้ามนั่งทานที่ร้าน แต่กลับพบว่าเบียร์ลีโอขาดตลาด เนื่องจากปัจจัยในการผลิตมีไม่เพียงพอต่อการผลิต ส่งผลให้ราคาในการขายเบียร์ลีโอในตลาดแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางมีราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา จากราคาเบียร์ลีโอที่ปกติบริษัทกำหนดราคาโครงสร้างที่ให้ขายคือ 614 บาท และร้านค้าต่างมักจะขายในราคา 605 – 610 บาท แต่ในช่วงเดือนดังกล่าวกลับพบว่าราคาเบียร์ลีโอสามารถขายได้ถึง 700 – 720 บาท ซึ่งร้านเอเย่นต์ ยังต้องปล่อยขายในราคา 604 บาท(ตามบริษัทกำหนด) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ราคาเบียร์ลีโอสูงกว่าราคาเบียร์สิงห์ (เบียร์สิงห์ราคาซื้อออกจากเอเย่นต์ 666 บาท ขาย 675 บาท)ผลิตภัณฑ์ของบุญรอด

ดังนั้นการที่รัฐบาลเข้าใจว่าประชาชนไม่มีรายได้ ไม่มีอันจะกิน ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง และนำเงินแจกจ่ายให้กับผู้ไม่มีงานทำหรือได้รับผลกระทบจากงานนั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน

ในส่วนของการปรับภาษีบุหรี่ของรัฐบาลเพื่อหวังให้ประชาชน “ลด - ละ - เลิก” การบริโภคสินค้าบาปนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มในความคิดของประชาชนบางส่วน แต่ถ้ามุมกลับประชาชนมส่วนใหญ่จะมองว่าสินค้าเหล่านี้คือเครื่องมือทางภาษีของรัฐบาลมากกว่า การส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชน โดยการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของสินค้าบาป จะเป็นกระตุ้นให้คนสำนึกรู้ถึงผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าบาปซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการปรับภาษี แต่เราไม่อาจปฏิเสธการใช้นโยบายภาษีสรรพสามิตในการควบคุมการบริโภคของประชาชน เนื่องจากในระบบการปรับภาษีรัฐบาลมีการชี้แจ้งการปรับเพื่อนำไปใช้ในส่วนไหนบ้าง ซึ่งมองในแง่ย้อนกลับ การเก็บภาษีหมายความว่าเป็นการเก็บสะสมเงิน จากผู้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ บนโลกในนี้ เช่นการเก็บภาษีเพื่อลดมลพิษทางอากาศ การเก็บภาษีเพื่อนำมาส่งเสริมการออกกำลังกาย

บทสรุปของภาษีสรรพสามิตถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชน “ลด ละ เลิก” การบริโภคได้เพียงบางส่วน เพราะการกำหนดราคาขายถูกบวกด้วยภาษีสรรพสามิตในตัว แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนต้องการเลิกการบริโภคสินค้าบาปที่แท้จริง น่าจะเป็น คุณหมอหรือแพทย์ลงความเห็น หรือสั่งให้งดเว้นการพฤติกรรมการบริโภคสินค้าบาปเหล่านี้


[1] พฤติกรรม หมายถึง การกระทำซึ่งเป็นการแสดงออกถึง ความรู้สึกนึกคิด ความต้องการของจิตใจที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า สำหรับพฤติกรรมมนุษย์นั้น เป็นการกระทำหรือกิริยาที่แสดงออกมาทางร่างกาย กล้ามเนื้อสมอง ในทางอารมณ์ ความคิด และความรู้สึก พฤติกรรมเป็นการกระทำจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เมื่อมีสิ่งเร้าหรือสิ่งสิ่งกระตุ้นมาเร้าในเวลาใดจะมีการตอบสนอง

[2]พฤติกรรมการบริโภค คือพฤติกรรมที่บุคคลได้กระทำการซื้อ การใช้จ่ายเงินเพื่อให้ได้ซึ่งสินค้าและบริการ ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ต้องประเมินเพื่อตัดสินใจในสินค้าและบริการนั้นๆ โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนที่บุคคลตัดสินใจก่อนและหลังการกระทำดังกล่าว (ศุภร เสรีรัตน์, 2537)


Bibliography

Dek-d. (2563, กรกฎาคม 1). เรื่องต่างๆของชีววิทยา. Retrieved from ชีวิทยาตอนที่ 4 ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์: http://my.dek3d.com/cpnon24/story/viewlongc.php?id=191344&chapter=4

realworkhard. (2563, กรกฎาคม 5). ญ). Retrieved from pixabay: https://pixabay.com/photos/cigarette-smoke-embers-ash-burns-110849/

ณรงค์ รัตนนาคินทร์ และ วราพร ชลอำไพ. (2563, กรกฎาคม 1). พิษภัยของบุหรี่. Retrieved from ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา : ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษ: http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=54

ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ของสถาบันมะเร็ง. (2563, กรกฎาคม 1). ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล. Retrieved from tcb.nci.go.th: http://tcb.nci.go.th/CWEB/reportBase.do?mode=inquiryPopGISCancerMoved

พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๙. (๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘). กรุงเทพฯ.

ศุภชัย ยาวะประภาษ. (2552). นโยบายสาธารณะ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศุภร เสรีรัตน์. (2537). พฤติกรรมผู้บริโภค. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2557). การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ.

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. (2563, กรกฎาคม 1). ก้อนเค้กภาษีบาป รหัสลับคอรัปชั่น. Retrieved from ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 26 มกราคม 2558: http://www.thairath.co.th/content/476935


ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณครูปิยพาณัฐ ภูสุธีคำมาวงษ์ และ Pixabay

ภาพปก : ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปที่ 1   : Pixabay

รูปที่ 2   : ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปที่ 3   : ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปที่ 4    : ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปที่ 5    : ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปที่ 6    : จัดทำโดยผู้เขียน

รูปที่ 7    : คุณครูปิยพาณัฐ ภูสุธีคำมาวงษ์

รูปที่ 8    : ถ่ายโดยผู้เขียน

รูปที่ 9    : ถ่ายโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์