ไลฟ์แฮ็ก

พี่เลี้ยงสำคัญไฉน ?

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
พี่เลี้ยงสำคัญไฉน ?

พี่เลี้ยงสำคัญไฉน ?

เขียนโดย Window M

https://image.freepik.com/free-photo/closeup-support-hands_53876-30583.jpg

ภาพประกอบที่ 1

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฏสังขารของมนุษย์ที่เป็นสัจธรรม คือ มนุษย์ทุกชนชั้น ทุกสถานภาพในสังคม ล้วนต้องเวียนว่ายกับสี่คำนี้เสมอ แต่ทางผ่านสี่คำนี้ย่อมมีอุปสรรค ทุกข์หรือสุข ต่างกันไป ถ้าสังเกตให้ดี เจาะให้ลึกจะพบว่า เกิด เจ็บ มี แพทย์ ทำหน้าที่ดูแลองค์ประกอบของภาวะนี้ ส่วนตายก็มี วัดและสัปเหร่อ คอยจัดการศพและส่งวิญญาณไปสู่สุคติตามความเชื่อของศาสนา เหลือคำสุดท้ายที่เคยสอนว่า เมื่อแก่ ก็ให้ลูกหลานคอยดูแลให้ร่างกายที่โรยรามีความสุขตามอัตภาพก่อนจะไปสู่ความตายตามสัจธรรม กาลเวลาทำให้คำสอนให้ดูแลคนแก่ได้เปลี่ยนไป เมื่อครอบครัวเล็กลง การงานหายาก รายได้ลูกหลานไม่ดีพอ ความป่วยเจ็บของพ่อแม่ปู่ย่าตายายในครอบครัวหนักมากจนถึงนอนติดเตียง และลูกหลานต้องทำงานทั้งวัน การดูแลผู้เฒ่า คนแก่ จึงต้องปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นของลูกหลาน

Advertisement

Advertisement

บ้านไหนมีผู้เฒ่า คนแก่ ผู้อาวุโส แข็งแรง ก็นับว่าเป็นความโชคดีมากที่สุขภาพดี สุขกาย สบายใจ ได้บางบ้านอาจมีคนพิการซึ่งเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรง คนแก่ มีโรคภัยไข้เจ็บ ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาหารการกิน นั่นคือ การดูแลกายและใจให้ดำเนินชีวิตได้ต่อไปโดยมีลูกหลานช่วยประคับประคองหรือแก้ปัญหารอบข้าง ยุคปัจจุบันลูกหลานที่เป็นผู้ใหญ่ต้องทำงาน เด็กต้องเรียนหนังสือ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว จ่ายหนี้สินและภาระอื่นๆ นั่นคือ ผู้ใหญ่และเด็กต่างมีความรับผิดชอบในบ้าน เพื่ออนาคต ต้องอยู่นอกบ้านหารายได้มากกว่าอยู่ในบ้าน หากมีผู้เฒ่า คนชรา ที่ป่วยติดเตียงหรือเดินไม่สะดวก ลูกหลานแทบไม่มีเวลาจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่ ผู้ช่วยเหลือจึงเป็นทางเลือกที่เลี่ยงยากซึ่งเรียกง่ายๆว่า พี่เลี้ยง

Advertisement

Advertisement

https://image.freepik.com/free-vector/disabled-people-icons-set_1284-10242.jpg

ภาพประกอบที่ 2

คนทั่วไปมีทัศนคติว่า พี่เลี้ยง มีหน้าที่ดูแลเด็กเล็กหรือทารก ซึ่งยังช่วยตัวเองไม่ได้ รัฐบาลก็เอาใจใส่กับอาชีพ พี่เลี้ยงเด็ก โดยควบคุม ดูแล ด้วยกฎ ระเบียบ เข้มงวด ด้วยสายตากว้างไกลว่า เด็กคืออนาคตของประเทศซึ่งต้องดูแลอย่างดีที่สุด ยังมีกลุ่มเปราะบางในสังคมที่ถูกละเลยและต้องการพี่เลี้ยงด้วย เช่น คนพิการ คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น ลักษณะงานพี่เลี้ยงเด็กกับพี่เลี้ยงของกลุ่มเปราะบางมีบางส่วนคล้ายและแตกต่างกัน งานพี่เลี้ยงมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ช่วยเหลือให้ เด็ก คนพิการ คนชรา คนป่วยติดเตียง มีชีวิตดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น เติบโตต่อไปได้

สังคมผู้สูงวัยมีส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญสำหรับยุคนี้ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ลูกหลานมีหน้าที่ดูแลคนแก่ คนพิการ ในบ้าน ครอบครัวเล็กลง มีความซับซ้อนมากขึ้น เวลา อนาคต กับรายได้มีความสัมพันธ์กันมาก งาน พี่เลี้ยง จึงสำคัญในฐานะผู้ดูแลให้ชีวิตคนแก่ คนพิการ ในบ้านดีขึ้น เมื่อพวกเขาทำหน้าที่แทน แขนขา หรือส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตเพื่อใช้ชีวิตได้ดีขึ้นหรือปลอดภัยขึ้น คำถามน่าคิดว่า คนแก่ คนพิการ แบบไหนจึงต้องมีพี่เลี้ยง ?

Advertisement

Advertisement

คนแก่ส่วนใหญ่จะมีสุขภาพแข็งแรง อีกหลายคนก็อาจมีโรคภัยไข้เจ็บทำให้สุขภาพอ่อนแอลง กลุ่มนี้แขนขาข้อเข่าเสื่อมตามสังขารโรยรา ถ้ามากก็อาจเดินไม่สะดวก ไม่มั่นคง ต้องการคนดูแล ประคอง ให้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น คนแก่อีกกลุ่มที่เจอโรครุนแรงเช่น อาการขาดเลือดในสมอง อัลไซเมอร์ มะเร็ง และอื่นๆ จนอาจกลายเป็นคนนอนอัมพาตหรือคนไข้ติดเตียงถาวร ก็ต้องการคนดูแลด้านสุขอนามัยเพิ่มขึ้น มีการพูดคุยเป็นเพื่อน และอีกหลายอย่างที่ลูกหลานมีหน้าที่ช่วยเหลือสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ อีกกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจากครอบครัว คือ คนพิการ ซึ่งมีระดับความพิการแตกต่างกัน ส่วนใหญ่อาจพัฒนาให้ดูแลตัวเองได้ดี แต่มีบางพวกที่โรคภัยทำให้พวกเขาดูแลตัวเองได้น้อยลงหรือทำไม่ได้เลย ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากครอบครัวอย่างมาก เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลให้เกิดความพิการ เป็นต้น กลุ่มคนแก่ คนพิการ ดังกล่าว ต้องการความช่วยเหลือพิเศษซึ่งปกติเป็นหน้าที่ของคนในครอบครัว ด้วยกาลเวลาและยุคสมัยที่คนต้องดิ้นรนทำมาหารายได้หรือเรียนเพิ่มขึ้น จึงมีเวลาน้อยลงในการดูแลสมาชิกในบ้านที่ป่วยหนักหรือพิการซับซ้อนด้วยตัวเอง พี่เลี้ยงรับจ้างจึงเป็นความจำเป็นที่เข้ามาทดแทนได้

พี่เลี้ยงสำหรับคนแก่ซึ่งช่วยเหลือตัวเองน้อยลงหรือคนที่มีความพิการรุนแรงมีความต้องการเพิ่มขึ้น รายได้ของอาชีพนี้จึงสูงตามไปด้วย ซึ่งแบ่งเป็นงานรายวันหรืองานรายเดือน รายได้ของงานพี่เลี้ยงจะอยู่ที่ 8,000 ถึง 13,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่ความสามารถของพี่เลี้ยงและระดับความต้องการของผู้รับการดูแล นับว่าเป็นงานที่มีรายได้ดีอย่างคาดไม่ถึง ความรู้ด้านการดูแลคนป่วยรุนแรงหรือคนพิการรุนแรงและมีประสบการณ์ทำงานด้านนี้มากเท่าไร ย่อมส่งผลต่อรายได้ที่สูงขึ้นเพราะเป็นที่ต้องการของนายจ้างซึ่งต้องการให้ดูแลบุคคลอันเป็นที่รัก

ทำไมไม่ช่วยกันผลักดันกฎ กติกา ควบคุม คุณภาพพี่เลี้ยงหรือสถานดูแลหรือนายหน้าหาพี่เลี้ยง มิให้เอาเปรียบ ลูกค้า คนไข้ คนแก่ คนพิการ เพื่อประโยชน์ของครอบครัวคนไทย ?

https://cdn.pixabay.com/photo/2016/12/12/17/11/hospice-1902144_1280.jpg

ภาพประกอบที่ 3

พี่เลี้ยงคุณภาพซึ่งเป็นที่ต้องการของครอบครัวคนแก่หรือคนพิการ ควรมีอายุประมาณ 18 - 35 ปี ร่างกายแข็งแรง เรียนจบมัธยมต้นหรือปลายเป็นอย่างน้อย มีจิตสำนึกของการบริการคน มีจิตเมตตา ควบคุมอารมณ์ได้ดี เคยรับการอบรมการดูแลคนป่วย คนพิการ โดยเฉพาะการดูแลอนามัยส่วนตัวได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รู้จักการช่วยให้ออกกำลังกายตามสภาพได้ การพยุง ประคอง ตามระดับความเจ็บป่วยของคนแก่หรือคนพิการ เข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบในหน้าที่พี่เลี้ยงและทางกฎหมายด้วย

ก่อนจะเป็นพี่เลี้ยงก็ควรรู้ว่า รายได้สูงจริง แต่ความรับผิดชอบดูแล คนแก่ คนพิการ ก็มากไปด้วยตามระดับความเสียหายทางกายของลูกค้า งานพี่เลี้ยงมิใช่การพยุง ประคอง ให้เดินไปมาเท่านั้น บางงานที่คนแก่ คนพิการ ช่วยตัวเองได้น้อยลงหรือเป็นคนป่วยติดเตียง พี่เลี้ยงต้องดูแลด้านอนามัยส่วนตัว เช่น การเช็ดตัว ทำความสะอาดหลังปัสสาวะหรืออุจจาระ การเปลี่ยนผ้าอ้อม การให้อาหารทางสายยาง การทำแผล การป้อนยาตามคำสั่งแพทย์ เป็นต้น การช่วยให้ออกกำลังกายได้ การป้อนข้าวและให้ดื่มน้ำ ทำความสะอาดพื้นที่พักของลูกค้า ปัญหาของพี่เลี้ยงที่ทำให้คิดหนักมากคือ ดูแลด้านอนามัยส่วนตัว ซึ่งหลายคนทำใจยากเมื่อต้องเช็ดตัว ทำความสะอาดหลังปัสสาวะหรืออุจจาระ ให้คนอื่น นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้อาชีพนี้มีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่นและบางคนไม่อยากทำงานแบบนี้

งานพี่เลี้ยง  =  รายได้สูง  +  ความรับผิดชอบต่อชีวิต

คนแก่บางคนอาจมีโรคข้อเสื่อม สมองขาดเลือดทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ อัมพาต อัมพฤกษ์ ทำให้พวกเขาไม่อาจทำอนามัยส่วนตัวหรือเดินไปมาไม่สะดวกเหมือนยามหนุ่มสาว ย่อมต้องการความดูแลใกล้ชิดเพื่อการรักษาต่อเนื่องหรือเพื่อให้มีชีวิตดีขึ้น ส่วนคนพิการก็มีหลายระดับความเสียหายที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่สมบูรณ์ เช่น คนที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลให้แขนขาไม่มีแรงในการใช้งานอย่างเพียงพอ หากมีอาการหนักขึ้นก็ส่งผลให้ทำอนามัยส่วนตัวหรือพลิกตัวหรือเดินไปมาไม่ได้ พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่เก้าอี้เข็นหรือไม้เท้า แต่ต้องการ พี่เลี้ยง ช่วยเหลืองานที่ทำไม่ได้ ช่วยออกกำลังกายฟื้นฟูร่างกายตามคำสั่งแพทย์ได้ ดังนั้น พี่เลี้ยง จึงมีความสำคัญต่อ ชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนแก่ คนพิการ เสมือนเป็นดวงตา แขนขา ของพวกเขา

เมื่อรายได้การเป็นพี่เลี้ยงสูงมาก ทำไมหลายคนก็ไม่อยากทำ แต่ชอบรายได้ของอาชีพนี้ ? คำตอบ คือ งานพี่เลี้ยงเป็นงานบริการที่ค่อนข้างหนัก ขึ้นอยู่ที่ ระดับความป่วยเจ็บหรือความพิการของนายจ้าง คนส่วนใหญ่มักรังเกียจการทำอนามัยส่วนตัวให้คนอื่น ความสกปรก เช่น เช็ดตัว ทำความสะอาดหลังอุจจาระหรือปัสสาวะ พยุงพาเข้าส้วม เป็นต้น พี่เลี้ยงต้องช่วยเหลือให้พวกเขาทำอนามัยส่วนตัวได้ดีขึ้นหรือทำแทนพวกเขา การปฏิบัติงานแบบนี้ทำให้บางคนยอมรับได้ยาก ดังนั้น จิตสำนึกในงาน ความเมตตา กับงานบริการประเภทนี้ จึงสำคัญต่อการเป็นพี่เลี้ยงอย่างมาก ดังนั้น ไม่ง่ายที่พี่เลี้ยงอาชีพและมีจรรยาบรรณจะหาได้ง่าย รายได้ที่สูงจึงเหมาะสมกับงานพี่เลี้ยง ในอีกทางหนึ่งก็มีแรงดึงดูดความชั่วร้ายมาสู่งานนี้คือ การตั้งสถานพยาบาลในการดูแลคนกลุ่มนี้หรือเป็นนายหน้าหาพี่เลี้ยงให้กลุ่มนี้โดยไม่สุจริตใจ

https://www.freepik.com/free-vector/social-support-concept-residents-getting-basic-benefits-from-government_11235868.htm#page=1&query=money&position=12

ภาพประกอบที่ 4

หน่วยราชการหรือกฎหมายแทบไม่เคยดูแล ควบคุม ให้สถานพยาบาลหรือพี่เลี้ยง คนแก่ คนพิการ มีมาตรฐานเพียงพอ การตั้งสถานพยาบาลหรือนายหน้าหาพี่เลี้ยงทำง่ายและเขียนกฎ ระเบียบ เอาเปรียบ ฉ้อโกง ลูกค้า ตามอำเภอใจ สร้างความเดือดร้อนให้ไม่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น ความสกปรกของสถานที่ ปริมาณพี่เลี้ยงไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับค่าบริการ การไม่ให้เกียรติและไม่ใช้หลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานกับลูกค้า การเรียกเก็บเงินมัดจำล่วงหน้าจำนวนมาก แต่ไม่อาจทำตามสัญญาหรือข้อตกลงกับลูกค้าได้ เป็นต้น ในอีกทางเมื่อลูกค้าจ่ายล่าช้า ก็โดนปรับทันที ไม่มีการรับฟังข้อโต้แย้งของลูกค้า การจัดหาพี่เลี้ยงไม่ตรงกับคุณภาพที่บอกลูกค้าไว้ แม้หน่วยราชการจัดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสถานพยาบาล นายหน้าหาพี่เลี้ยง กับ ลูกค้า แต่ไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้เต็มที่ ลูกค้ามีข้อจำกัดในการบังคับใช้ข้อตกลงของสองฝ่าย จึงกลายเป็นความได้เปรียบของสถานพยาบาลและนายหน้าที่ยอมรับใช้เงินคืน แต่ชะลอการจ่ายหรือทำเมินเฉยเพราะแน่ใจว่าลูกค้าไม่มีทางตามทวงหนี้เงินได้ด้วยสังขารและคาดว่าจะเลิกตื๊อไปเอง นั่นคือ หากำไร เอาเปรียบ ลูกค้า ซึ่งทำกันแทบจะทุกคนที่อยู่ในธุรกิจพี่เลี้ยง

พฤติการณ์ที่ลูกค้าในธุรกิจพี่เลี้ยงมักเจอบ่อยมาก คือ การเรียกมัดจำล่วงหน้าเป็นจำนวนเงินนับหมื่นบาทโดยสัญญาว่า พี่เลี้ยงจะมีความสามารถในอาชีพให้น่าดึงดูดใจและลูกค้ายอมเสี่ยงกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากพี่เลี้ยงลาออกก็จะหาคนมาทดแทน เมื่อลูกค้าพบพี่เลี้ยงแล้วมักเจอว่าแทบไม่รู้จักวิธีดูแลพื้นฐาน เช่น  ทำความสะอาดร่างกาย วิธีประคองพาคนไข้เดิน ช่วยลูกค้าออกกำลังกาย เป็นต้น ลูกค้าต้องสอนงานเอง เนื่องจากนายหน้าไม่เคยฝึกสอนงานมาก่อน พี่เลี้ยงไม่มีคุณสมบัติตามคำโฆษณาของนายหน้า อีกอย่างที่เจอคือ พี่เลี้ยงแอบหนีจากลูกค้าเพราะทนทำงานแนวนี้ไม่ได้หรือเหตุส่วนตัวอื่นๆ นายหน้าไม่อาจหาพี่เลี้ยงมาทดแทนและไม่ยอมคืนเงินมัดจำตามข้อตกลง ใช้วาจาท้าทายลูกค้าไปฟ้องหน่วยราชการเอง ส่วนปัญหาสถานพยาบาลดูแลคนแก่ทั้งแบบรายวันหรือรายเดือนมีหลายแบบ เพราะขาดมาตรฐานจากภาครัฐ ทำให้การหลอกลวงหรือการดูแลต่ำกว่าที่ควรจะมีจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะการมักง่าย ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่ลูกค้าพึงมี ตัวอย่างเช่น ความสะอาดน้อยในด้านสถานที่ การจัดการด้านอากาศหมุนเวียนไม่ดีในสถานที่ ความรู้พื้นฐานการเป็นพี่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ของพี่เลี้ยงก็ไม่สวมเสื้อผ้าให้ลูกค้ามิดชิดเพียงพอโดยเฉพาะลูกค้าแบบติดเตียงให้สวมเสื้อกล้ามในผู้ชายหรือเสื้อคอกระเช้าในผู้หญิง ไม่สวมกางเกงหรือผ้าปกคลุมท่อนล่างอย่างเหมาะสม เหลือแค่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เพื่อทำงานได้ไวขึ้น แต่ลดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลง เป็นต้น

การถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการดูแลคนแก่ คนพิการ เกิดขึ้นบ่อย ดูได้จากตัวเลขผู้ร้องเรียนที่ขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการที่ชื่อว่า สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหรือดำเนินคดีที่ลูกค้าถูกเอาเปรียบจากธุรกิจเอกชนซึ่งมีข้อพิพาทสูงขึ้นทุกปี ปัญหาที่พบบ่อยหลังการไกล่เกลี่ยจากหน่วยงานรัฐคือ ยอมจ่ายค่าชดเชยตามสัญญา แต่ไม่อาจทำได้จริงและไม่เกรงว่าลูกค้าจะฟ้องคดีหรือติดตามทวงหนี้ได้เนื่องจากเป็นคนชราและคนพิการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้ก็สูงเกินกว่าคนกลุ่มนี้จะจ่ายได้ จึงกลายเป็นความเศร้าของคนแก่หรือคนพิการ เจ้าของธุรกิจประเภทนี้จึงไม่กลัวเกรงและยังคงเอาเปรียบลูกค้าไปเรื่อยๆเมื่อหน่วยงานรัฐไม่ใส่ใจหรือริเริ่มในการสร้างกฎ กติกา บทลงโทษที่หนัก เพื่อคุ้มครอง ดูแลช่วยเหลือทวงหนี้ให้ คนแก่ คนพิการ ซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้อย่างจริงจัง

พี่เลี้ยง สถานดูแล แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับโทษชัดเจนในเวลานี้ หากเกิดผลเสียหายจากการเป็นพี่เลี้ยง เช่น ทำร้ายร่างกาย ประมาททำให้ผู้อื่นตายหรือบาดเจ็บสาหัส เป็นต้น พี่เลี้ยงก็ต้องรับโทษจำคุกตามกฎหมายอาญา หรือ จ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานพี่เลี้ยงตามกฎหมายแพ่งฯ ส่วนสถานดูแลหรือนายหน้าหาพี่เลี้ยง ถ้าสร้างความเสียหายหรือเอาเปรียบ ลูกค้า ก็ใช้กฎหมายใกล้เคียงลงโทษปรับหรือจำคุกได้ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแพ่งฯ เป็นต้น การบังคับใช้บทลงโทษไม่จริงจังพอให้อีกฝ่ายกลัวเกรง ปัญหาการถูกเอาเปรียบหรือรังแก ลูกค้าจึงเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด

https://image.freepik.com/free-photo/man-nursing-home_23-2147787980.jpg

ภาพประกอบที่ 5

ความจำเป็นที่ต้องมีพี่เลี้ยงของคนแก่ คนพิการรุนแรง ถ้าเพียงภาครัฐใส่ใจและเข้าใจกับความจำเป็นนี้ ก็ช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ การมีกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานธุรกิจ การวางมัดจำ รายได้ขั้นต่ำอันพึงได้ คุณสมบัติของพี่เลี้ยง การฝึกสอนควบคุม บทลงโทษที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมาย กับธุรกิจจัดหาพี่เลี้ยงหรือสถานดูแล อย่างจริงจัง ความเข้าใจวิถีของคนแก่ คนพิการ จะเป็นการแสดงความเอาใจใส่ประชาชนกลุ่มนี้ที่ชัดเจนยิ่ง การทำงานของรัฐที่รวดเร็วขึ้นในการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการซึ่งถูกเอาเปรียบเกินเหตุเมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือปกป้องพวกเขาควรเกิดขึ้นในสังคมสูงวัยของไทยได้แล้วโดยเฉพาะการริเริ่มจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง

คนแก่ที่ต้องการความช่วยเหลือให้มีชีวิตดีขึ้นหรือเคลื่อนไหวอิสระมากขึ้น คนพิการประเภทรุนแรงซึ่งต้องการความดูแลพิเศษเพื่อให้มีชีวิตดีขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องมี พี่เลี้ยง เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดนานขึ้น ดีขึ้น แต่ละคน แต่ละครอบครัว มีสถานภาพการเงินต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะยากจน และมีความจำเป็นต้องใช้พี่เลี้ยง ต้องการการอุดหนุนจัดให้มีพี่เลี้ยงอาสาจากภาครัฐ ส่วนกลุ่มที่มีฐานะการเงินดีพอช่วยตัวเองได้ แต่ยังโดนเอาเปรียบ ค้ากำไรเกินควร จากธุรกิจจัดหาพี่เลี้ยงหรือสถานดูแลเอกชน ก็ต้องการความสนับสนุนจากภาครัฐ ในการออกกฎหมายหรือควบคุมให้มีมาตรฐานของพี่เลี้ยงหรือสถานดูแลที่ชัดเจนกว่าปัจจุบันนี้ การพิจารณาข้อพิพาทระหว่างธุรกิจดูแลคนแก่ คนพิการ กับ ลูกค้าที่ถูกเอาเปรียบด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ไม่มีคดีคั่งค้างนานไป ติดตามผลข้อตกลงและเร่งรัดแทนลูกค้าโดยใช้อำนาจทางกฎหมายด้วยความเข้าใจในอุปสรรคของคนแก่ คนพิการ และท้ายที่สุดคือ ความจริงใจจากภาครัฐต่อปัญหาพี่เลี้ยงคนแก่ คนพิการ จะช่วยบริหารแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ไม่ยาก คนแก่ คนพิการ ต้องการพี่เลี้ยงเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ตราบเท่าที่เวลาบนโลกของพวกเขายังไม่หมดลง นี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญไทยที่ต้องดูแลคนไทยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

พี่เลี้ยงสำคัญต่อคนแก่  คนพิการ

ด้วยประการฉะนี้

ที่ว่างสำหรับพี่เลี้ยงคุณภาพดีมีเสมอ

ขอบคุณรูปภาพจาก  Credits :

ภาพปก  โดย Macrovector ใน  Freepik.com

ภาพประกอบที่ 1 โดย Rawpixel.com ใน  Freepik.com

ภาพประกอบที่ 2 โดย Macrovector ใน Freepik.com

ภาพประกอบที่ 3 โดย Truthseeker08 ใน Pixabay.com

ภาพประกอบที่ 4 โดย PCH.vector ใน Freepik.com

ภาพประกอบที่ 5 โดย Freepik ใน Freepik.com

********************************************

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Manee
Manee
อ่านบทความอื่นจาก Manee

ชอบคิด ชอบเขียน ไร้กรอบ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์