อื่นๆ

ผลกระทบการ พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจของ "การบินไทย"

495
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ผลกระทบการ พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจของ "การบินไทย"

“รักคุณเท่าฟ้า” คำขวัญที่เชื่อว่าทุกคนคุ้นหู เพราะ การบินไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ถ้าเป็นคนจะมีอายุครบ 60 ปี เป็นผู้ใหญ่ที่คุ้นเคย ด้วยการเป็น สายการบินแห่งชาติ จึงมีความผูกพันกับพวกเรามาอย่างยาวนาน เวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อการบินไทยต้องพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ หลายคนติดตามข่าวอาจจะยังมีหลายจุดที่ยังไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งเศรษฐกิจ การเมืองโดยตรง มีศัพท์วิชาการมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เราจะมาทำเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่าย จบครบในหน้าเดียว ทั้งสนุก และได้ความรู้ไปพร้อมกัน

ขอปูพื้นกันสักนิด ให้เวลาคิดในใจว่ารัฐวิสาหกิจมีอะไรบ้าง? ติ๊กต็อก ๆ เฉลยเลยละกันหลายคนอาจตอบถูกว่าคือการไฟฟ้า , การประปา , สลากกินแบ่งรัฐบาล ฯลฯ ที่จริงมีอีกเยอะนะ แต่ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพเข้าใจ แต่ความหมายแท้จริงของรัฐวิสาหกิจคือมีรัฐบาลถือหุ้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ สมมุติว่าเปิดโรงงานผลิตปลากระป๋องเราถือหุ้น 80 เปอร์เซ็นต์ วันหนึ่งมีกระทรวงอุตสาหกรรมมาซื้อหุ้นไป 51 เปอร์เซ็นต์ โรงานปลากระป๋องของเราจะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจทันที แต่รัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่งจะเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประเทศเช่นสาธารณูปโภค และความมั่นคง

Advertisement

Advertisement

เครื่องบินของสายการบินไทยเช่นเดียวกับการบินไทยก่อนหน้านี้มี กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้น 51.03 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง แต่อย่างที่ทราบกันว่าผลประกอบการของการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราเปิดข้อมูลผลประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มาประกอบ จะพบว่าในปี พ.ศ.2561 กำไร -11,625 ล้านบาท ส่วนปี พ.ศ.2562 -12,042 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 244,899 ล้านบาท* ที่ผ่านมาด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลต้องเป็นผู้ดูแล มีการช่วยเหลือในรูปแบบของเงินกู้ และเงินอุดหนุนต่าง ๆ จนมาในปีนี้อย่างที่ทราบกันว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจสายการบินโดยตรง ทำให้กระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 47.86 เปอร์เซ็นต์ สังเกตตัวเลขดี ๆ นะครับ ไม่เกินครึ่งแล้ว จึงทำให้การบินไทยต้องพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างสมบูรณ์

Advertisement

Advertisement

ผลประกอบการของการบินไทยข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : www.set.or.th

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องขายหุ้นออกไป แบบเดิมก็ช่วยเหลือได้นี่ การขายหุ้นจะแก้ปัญหาได้แบบไหน มันสำคัญมากครับ เพราะการหลุดพ้นจากรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบินไทยสามารถเข้าสู่แผน ฟื้นฟูกิจการ ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ล้มละลาย แล้วมันดียังไง? ตรงนี้จะมีผลอย่างมากเพราะการบริหารของการบินไทยจะเปลี่ยนเป็นเอกชนที่มีความคล่องตัว คำสั่งต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องผ่านขั้นตอนของราชการ ซึ่งตอนนี้การบินไทยเริ่มทำแล้วในการแต่งตั้ง ซุปเปอร์บอร์ด รวบรวมคนระดับหัวกะทิมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

จะมีผลกระทบอย่างไรกับการบินไทย? ไม่ต้องห่วงครับการบินไทยยังไงต้องเป็น สายการบินแห่งชาติ ไม่ถูกยุบ หรือถูกขายให้ต่างชาติแน่นอน และหุ้นอีก 3.17 เปอร์เซ็นต์ที่หายไปจากกระทรวงการคลังถูก กองทุนวายุภักษ์ ที่เป็นกองทุนที่ตั้งโดยกระทรวงการคลัง มาถึงตรงนี้ตามให้ทันอย่างงนะครับ เพราะสถานะของวายุภักษ์มีสถานะเป็น กองทุน ไม่นับเป็นหน่วยงานรัฐ เมื่อการฟื้นฟูเสร็จสิ้นจะถูกส่งต่อกลับไปให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจได้ทันที แต่ระหว่างที่เป็นเอกชนจะมีผลกระทบอย่างแน่นอนเริ่มจากตัวโครงสร้างของการบินไทยเองที่มีพนักงานกว่า 20,000 คน อาจต้องมีทั้งการพิจารณาปรับลดเงินเดือน รวมถึงลดจำนวนพนักงานตามความเหมาะสม รวมถึงสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานอาจไม่เหมือนเดิม

Advertisement

Advertisement

เครื่องบินของสายการบินไทยผลกระทบที่จะตามมาเมื่อเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมาย NC กับหุ้น THAI หรือหุ้นของการบินไทยให้นักลงทุนมีเวลาซื้อขายเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนจะขึ้น SP ไม่ให้ทำการซื้อขายในระหว่างการฟื้นฟู ทำให้หุ้นการบินไทยอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับนักลงทุน เพราะต้องวัดใจว่าเมื่อเข้าสู่แผนการฟื้นฟูแล้วจะทำให้กลับมามีกำไรได้เร็วแค่ไหน แต่ก็ทำให้หุ้น THAI ในเวลานี้ปรับตัวลงจากราคา 7.35 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2563 ลงมาอยู่ที่ 4.34 บาท เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ลงมา -40.95 เปอร์เซ็นต์ ราคาจะลดลงไปอีกหรือเพิ่มขึ้น ได้กำไรหรือติดดอย นาทีนี้นักลงทุนต้องพิจารณาข่าวสารรอบด้านอย่างใกล้ชิด

ผลกระทบที่ตามมาอีกอย่างก็คือจากเดิมเมื่อมีการทำสัญญาซื้อเครื่องบินลำใหม่ การบินไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจมีเครดิตดีจากการที่มีรัฐบาลเป็นหลักประกัน เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นเอกชน แถมยังมีคำว่าอยู่ในช่วง ฟื้นฟูล้มละลาย ห้อยท้ายอยู่ ต้องมีเงินมัดจำ หรือสินทรัพย์ค้ำประกันที่มากกว่าเดิม หากอนาคตจะพิจารณาหาเครื่องรุ่นใหม่มาประจำการ การใช้จ่ายเงินไม่คล่องตัวแบบเดิม หรือต้องใช้เครื่องบินของเดิมที่มีไปอีกสักระยะจนกว่าจะฟื้นตัวเสร็จ หลังโควิด-19 ผ่านไปการท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเดิม การแข่งขันกับสายการบินอื่นในจุดขายเรื่อง เครื่องบินรุ่นใหม่ อาจทำได้ยาก แนะนอนว่าใคร ๆ ก็อยากนั่งเครื่องบินลำใหม่เอี่ยม ต้องงัดจุดขายอื่นเช่นด้านบริการมาแข่งขันแทน

การต้อนรับของพนักงานบนเครื่องบินสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่จะได้ตามมาคือ ประโยชน์ของผู้บริโภค ผลจากการฟื้นฟูกิจการเมื่อลดต้นทุนด้านอื่นลง จะทำให้การบินไทยสามารถมีโปรโมชั่นแรง ๆ ด้านราคา มาแข่งขันกับสายการบินอื่น การไปเที่ยวแต่ละครั้งเราจะมีตัวเลือกราคาถูกมากขึ้น การบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติร่วมทุกข์สุขกับคนไทย สมดังคำขวัญ “รักคุณเท่าฟ้า” ที่จะอยู่ในใจของคนไทยไปอีกแสนนาน...

*อ้างอิงข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : www.set.or.th


ภาพประกอบจาก Pixabay ภาพหน้าปก / ภาพที่ 1 / ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์