อื่นๆ

ประสบการณ์การเรียนสิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการแต่กลับตกหลุมรัก @มอนอ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ประสบการณ์การเรียนสิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการแต่กลับตกหลุมรัก @มอนอ

สวัสดีทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่นะคะ ช่วงที่เรากำลังเขียนบทความนี้อยู่ เป็นช่วงของการสอบต่าง ๆ ที่สำคัญสำหรับเด็ก ม.6 และบางคนอาจเลือกสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนได้แล้ว แต่ถ้ายังเลือกไม่ได้ล่ะ? คงกำลังกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่

เหตุผลที่เราเริ่มเขียนบทความเนื่องจากอยากพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับสาขาที่ตัวเองกำลังเรียนอยู่ นั่นคือสาขาวิชาภาษาไทย ดูจากหัวข้อเรื่องแล้วแน่นอนว่าสาขานี้เราไม่ได้อยากเรียนตั้งแต่แรก

เราเป็นเด็กในระบบ tcas รุ่นแรก เรียกได้ว่าเป็นรุ่นทดลองเลยล่ะค่ะ แต่เรื่องของระบบเราไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะเป้าหมายของเราคือการเรียนครูภาษาอังกฤษ และต้องเป็นคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ในจุฬาฯ เท่านั้น! เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลที่จะต้องเลือกที่เรียนแล้ว เราก็ศึกษาดูแล้วว่าครุศาสตร์จุฬาฯ ภาษาอังกฤษ เปิดรับในรอบ 3 และรอบ 4 เท่านั้น พอรู้แบบนี้แล้ว เราจึงพุ่งเป้าไปที่รอบ 3 เป็นรอบแรกที่คิดจะลงสมัครโดยที่ไม่สนรอบ 1 กับรอบ 2 เลย ไม่คิดจะทดลองส่งไปเล่น ๆ ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลว่า ถึงติดที่อื่นก็ไม่เอาอยู่ดี เป็นการเปลืองเงินเล่นเปล่า ๆ ในช่วงนี้เราก็อดทนกับความกดดันกับคำถามต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะคำถามว่า "มีที่เรียนหรือยัง" , "เรียนต่อที่ไหน" เพราะตอนนั้นเพื่อน ๆ และคนรอบตัวเขาก็ลงรอบ 1 รอบ 2 กันแล้ว และส่วนใหญ่มีที่เรียนแล้ว แต่เราไม่สนค่ะ ถามมาก็ตอบไป เพราะส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ใจเย็นมาก ๆ คิดบวกว่าเขาคงเป็นห่วงก็สบายใจขึ้นมานิดนึง

Advertisement

Advertisement

และแล้วรอบ 3 ก็มาถึง ในรอบ 3 สามารถเลือกได้ 4 ที่ ที่เราต้องการจะยื่น โดยมีโอกาสติดทั้ง 4 ที่ (แต่ก็ต้องเลือกไปสัมภาษณ์แค่ที่เดียว) แต่ในรอบนี้เรามีเป้าหมายในใจแค่ 2 ที่เท่านั้น นั่นคือจุฬากับสวนสุนันทา เราติดที่สวนสุนันทาค่ะแต่เราก็ไม่ไปสัมภาษณ์และสละสิทธิ์ไป เนื่องจากยังหวังที่จุฬาฯ ในรอบ 4 อยู่และมีความคิดที่ว่า ทำอะไรต้องทำให้สุด จะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง เราเคยอ่านเจอบทความหนึ่งมาว่า "เรายื่นไปแล้วไม่ติดเจ็บน้อยกว่าเห็นทีหลังว่าติดแต่ไม่ยื่น"

พอรอบ 4 มาถึง เรากังวลใจมากขึ้น เพราะไม่อยากให้ตัวเองไปถึงรอบ 5 เดี๋ยวตัวเลือกจะน้อยลง ในรอบนี้เลือก 4 อันดับเหมือนเดิม แต่ต่างตรงที่จะติดแค่ที่เดียวตามอันดับที่เราเลือก แปลว่าเราอยากเรียนที่ไหนมากที่สุดให้เราไว้อันดับ 1 และไล่ลงมาตามความต้องการ โดยเราเลือก จุฬาฯ ศิลปากร สวนสุนันทา ตามลำดับทั้งสามคือเอกภาษาอังกฤษตามความต้องการ ที่เราเลือกสวนสุนันทาอีกรอบเพราะคิดว่าถ้าติดรอบนี้จะเอาจริง ๆ แต่ยังเหลืออันดับสี่ที่ยังไม่ได้เลือก เราเลยเลือกมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะศึกษาศาสตร์สาขาวิชาภาษาไทย!! ที่เราเลือกภาษาไทยเนื่องจากเกิดความผิดพลาดเรื่องของการดูการเปิดรับสมัคร เรามีใจมา ม.นเรศวรเนื่องจากเพื่อนติดที่นี่ตั้งแต่รอบ 2 เราเลยคิดจะเลือกที่นี่ด้วยจะได้มีเพื่อน เราจึงเปิดดูเกณฑ์การรับสมัคร ซึ่งตอนนั้นเราก็เห็นว่าเอกอังกฤษเปิดรอบ 4 ด้วย แต่พอถึงเวลาเลือก เอกอังกฤษกลับไม่ได้เปิด เราเลยเลือกภาษาไทยเพราะคิดว่าก็ไม่ได้แย่ เราก็พอเรียนได้ (แต่จริง ๆ ก็เลือกเพื่อให้อันดับมันเต็ม)

Advertisement

Advertisement

พอประกาศผลเท่านั้นแหละ ร้องไห้เลยจ้า ติดอันดับ 4!! เราก็ไปบอกพ่อ ตอนนั้นพ่อโกรธมากเพราะพ่ออยากให้เราเรียนภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีความคิดที่ว่าถึงไม่เป็นครูก็เอาความรู้ไปต่อยอดได้หลากหลาย เพราะภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญ (โชคดีที่เราชอบเรียนภาษาอังกฤษอยู่แล้ว) จำได้ว่าพ่อพูดแรงมาก ถึงขั้นบอกว่า "เรียนภาษาไทยจะเอาไปทำอะไรกิน" ตอนนั้นเราโกรธมากเพราะไม่ชอบให้ใครมาดูถูก เราคิดว่าความรู้ทุกอย่างสำคัญเท่ากันหมด เราจึงตัดสินใจไปสัมภาษณ์และให้ยายไปเป็นเพื่อนโดยไม่สนคำห้ามของพ่อที่บอกว่าให้รอรอบ 5 และยืนยันว่าเราเรียนได้ (เราเป็นคนหัวแข็งมาก ๆ ไม่ฟังคือไม่ฟัง)

วันแรกของการสัมภาษณ์เนื่องจากไม่ได้ตั้งใจจะมาสัมภาษณ์ จึงไม่ได้เตรียมคำถามที่คิดว่าจะโดนเลย ไม่รู้แม้กระทั่งชื่ออาจารย์ที่จะสัมภาษณ์ก็ไปคุยกับเพื่อนที่มาสัมภาษณ์เอาข้างหน้าเลย คำถามที่โดนก็ทั่ว ๆ ไป เช่น

Advertisement

Advertisement

อาจารย์ : ไม่ชอบหมวดอะไรในภาษาไทย

เรา : ไม่ชอบวรรณคดีค่ะ เพราะรู้สึกว่าเรื่องมันน่าเบื่อ และไม่ค่อยสมเหตุสมผล แล้วก็ไม่ชอบการอ่านค่ะ เพราะไม่ชอบอ่านหนังสือ

อาจารย์ : แล้วจะเรียนไหวเหรอ เอกไทยต้องอ่านเยอะนะ

เรา : ไหวค่ะ จะพยายาม อาจเปลี่ยนมาชอบก็ได้ค่ะ

รายชื่อตอนแรกเราคิดว่าเราจะไม่ผ่านซะแล้ว เพราะเราตอบคำถามได้โป๊ะแตกมาก ๆ ดูรู้เลยว่าไม่ได้สนใจเอกภาษาไทยมากมายอะไร วันต่อมาดูรายชื่อสรุปว่ามีรายชื่อเป็นนิสิตแล้ว รวดเร็วมากแม่ เราเลยคิดว่ารอบ 4 คงติดทุกคนถ้าไปสัมภาษณ์ เพราะเลือกจากคะแนนแล้ว

เมื่อเปิดเทอมแล้วเห็นตารางเรียนก็มีวิชาภาษาอังกฤษให้เราได้ชื่นใจมาบ้างตัวหนึ่ง แต่พอได้เรียนอังกฤษก็รู้สึกเสียดาย แต่เราก็เคยได้ยินประโยคหนึ่งที่ว่า "สิ่งที่เรารักให้ทำเป็นงานอดิเรก สิ่งที่เราถนัดให้ทำเป็นอาชีพ" เอาวะเราไม่เคยไม่ได้เกรดสี่ภาษาไทย คงไปรอดแหละก็ไม่ได้เรียนแค่ภาษาไทยอย่างเดียวสักหน่อย

คลาสเรียนอังกฤษ

เรียนไปเรียนมาก็มีบ่นบ้างอยากซิ่วบ้าง แต่ด้วยสภาพสังคมที่ดี นิสัยอยากรู้อยากเห็นชอบแสวงหาความรู้ของตัวเอง และเพื่อนร่วมเอกที่ทำให้เราไม่เครียดและรู้สึกไม่อยากจากไปไหน คนรอบตัวมีผลกับความคิดของเราจริง ๆ เราก็เริ่มพัฒนาตัวเองขึ้นมา สิ่งที่ไม่ชอบก็เริ่มเปลี่ยนใจให้ชอบ ถึงแม้ในช่วงแรกจะต้องทำด้วยความจำใจและเพื่อคะแนนก็ตาม เช่น การอ่านวรรณคดี วรรณกรรม

วรรณคดีอยากเปิดใจให้กับวรรณคดีบ้าง เพราะในคลาสที่เรียน เพื่อนเก่งกันมาก อาจารย์พูดชื่อเรื่องอะไรก็เคยอ่านก็รู้จักกันหมด ส่วนตัวเรานั้นช่ำชองแค่สังข์ทองเท่านั้น ร้อยกรองก็ยากไป เอาเป็นอ่านฉบับการ์ตูนไปพลาง ๆ พอให้รู้เรื่องราวกับเขาบ้าง

วรรณกรรมเริ่มสนุกกับการอ่านหนังสือ โดยดูจากคำแนะนำว่าเรื่องอะไรน่าอ่านบ้าง เป็นการฝึกนิสัยให้รักการอ่านเพิ่มขึ้น

ส่งข้อความเริ่มอินกับการเรียนภาษาไทย นะค่ะคือคำต้องห้าม

ช่องยูทูปช่องในยูทูปที่เราชอบดู เพื่อฝึกทักษะที่จำเป็นในการเรียนเอกภาษาไทยให้รอด เป็นช่องที่ดีมากกกกกก อยากเอาพวงมาลัยไปกราบ

คลาสเรียนภาษาไทยเริ่มชอบการเรียนภาษาไทย

ที่เราบอกได้อย่างชัดเจนเลยว่าเราชอบภาษาไทยแล้ว เนื่องจากที่คณะเราในเทอมแรกสามารถย้ายเอกได้!! กว่าเราจะรู้เรื่องนี้เราก็ไม่คิดที่จะย้ายแล้ว ตอนนี้เรากำลังขึ้นปีที่ 3 เกรดเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเทอมแรกที่เรียน จนตอนนี้เรามีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.77 เรามองว่าการเปลี่ยนใจให้มาชอบอะไรนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ เข้าช่วย โดยเฉพาะตัวเราเองว่าเราจะยอมเปิดใจและพร้อมเรียนรู้ไปได้มากเท่าไหร่ แต่เราก็ยังชอบภาษาอังกฤษอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้เรียนแบบจริงจัง แต่เราก็ยังแบ่งเวลามาเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

สุดท้ายนี้สำหรับใครที่กำลังเรียนไม่ตรงกับความต้องการอยู่ การซิ่วเป็นสิ่งที่เราสนับสนุน แต่อยากให้ทุกคนลองเปิดใจให้กับสิ่งที่เราเรียกว่าพลาดก่อน เราเชื่อว่าบางทีโชคชะตาก็ส่งเรามาที่ที่เหมาะสม ทุกวันนี้เรามีความสุขดี เรียนสนุกลุกนั่งสบาย และเราก็ไม่ได้อยากที่จะย้อนเวลาเพื่อไปตั้งใจอ่านหนังสือแล้วก็สอบใหม่ เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายจริง ๆ ของเราคือการที่ได้เป็นครู.... และตอนนี้เรากำลังเรียนอยู่

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
จีอึน
จีอึน
อ่านบทความอื่นจาก จีอึน

ความหมายของดอกเอเดลไวส์

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์