อื่นๆ

นกตกรัง ช่วยยังไงให้รอด ตอนที่ 3

470
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
นกตกรัง ช่วยยังไงให้รอด ตอนที่ 3

มาถึงขั้นตอนที่ 3 ของการช่วยลูกนกตกรัง เมื่อลูกนกแข็งแรงหรือปลอดภัยพอที่คุณจะดูแลด้วยตัวเองได้แล้ว สิ่งที่คุณต้องทำต่อไปคือ การรู้จักนก อ่านไม่ผิดหรอกค่ะคุณต้องรู้จักนกจริงๆ เพราะนกแต่ละชนิดมีลักษณะต่างกัน และที่สำคัญที่สุด กินอาหารต่างกันด้วย คุณจะเป็นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่ดีได้ ต้องรู้จักลูกตัวเล็กก่อนแล้วล่ะ

โดยทั่วไปมีวิธีการสังเกตชนิดของลูกนกได้หลายอย่าง แต่สำหรับผู้เขียนนั้นโชคดีที่มีผู้มีประสบการณ์ช่วยยืนยันชนิดของนกให้ว่าเป็น “นกพิราบ” แต่สำหรับคุณไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ ลองเข้าไปเปรียบเทียบรูปในโลกออนไลน์ หรือสอบถามชนิดของนกจาก สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST)

มาต่อกันที่เจ้าตัวน้อยของเรา เนื่องจากเป็นนกพิราบระยะก่อนหัดบิน อาหารที่ป้อนจึงควรเป็นพวกธัญพืช เช่นข้าว ถั่ว ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น ลูกนกไม่กินอาหารด้วยตัวเอง ยังคุ้นเคยกับการป้อนจากพ่อและแม่นก เราจึงต้องบังคับป้อน เนื่องจากเราไม่มีท่อป้อนอาหาร จึงดัดแปลงใช้หลอดดูดพลาสติก ตัดปลายเฉียง แต่ลบคมออกให้มีลักษณะโค้ง เพื่อไม่ให้บาดปากนก เป็นอุปกรณ์ในการบังคับป้อนอาหาร

Advertisement

Advertisement

ภาพหลอดพลาสติกตัดปลาย สำหรับป้อนอาหารนกพิราบ

เข้าครัวหาธัญพืชต่างๆที่มีอยู่ ได้ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และถั่วเขียว เอานะ ก็ดีกว่าไม่มีเลย แถมออกไปซื้อที่ไหนก็ไม่ได้ เอาข้าวและถั่วเขียวมาตำให้แตกไม่ต้องละเอียดมากแค่พอหยาบ

ภาพเมล็ดธัญพืชตำแบบหยาบ สำหรับป้อนลูกนกพิราบ

บังคับป้อนลูกนก ที่ต้องเรียกว่าบังคับป้อน เพราะลูกนกพิราบไม่ยอมกินอาหารเอง ไม่อ้าปากร้องแล้วรอรับอาหารเหมือนนกชนิดอื่น และถ้าไม่ป้อนลูกนกก็คงไม่รอดแน่ๆ จึงต้องบังคับกินกันซักหน่อย วิธีการคือ เมื่อลูกนกหิว เราเอามือเข้าไปใกล้ๆ เค้าจะเอาปากมาแตะๆมือ เหมือนจะขออาหาร เราต้องใช้มือข้างนึงจับหลอดตักเมล็ดธัญพืชที่ตำแล้ว โดยนำส่วนโค้งที่ตัดไว้ให้อยู่ด้านหน้าเพื่อใช้ส่งอาหารเข้าปากนก ส่วนมืออีกข้างจับยืดคอลูกนกเบาๆให้อยู่กับที่ ใช้นิ้วทั้ง 3 ประคองส่วนหัวไว้ จากนั้นใช้ปลายหลอดสะกิดปลายปากของนกให้อ้าแล้วก็เทธัญพืชเข้าไปเลย สามารถป้อนได้ค่อนข้างเยอะ จนลูกนกแสดงอาการอิ่ม เนื่องจากนกพิราบมีกระเพาะพัก คือกระเพาะที่ใช้เก็บกักตุนอาหารไว้ได้ เมื่อลูกนกกินอิ่มลองสัมผัสบริเวณด้านหน้าของอกดู จะรู้สึกว่ามีเมล็ดเล็กๆอยู่ภายในถุงเต็มไปหมด ความบ่อยในการป้อนคือประมาณ 3 - 4 ครั้งต่อวัน หรือจนกว่าลูกนกจะร้องขอ

Advertisement

Advertisement

ภาพการป้อนอหารด้วยหลอดพลาสติก

ส่วนน้ำก็ใช้หลอดฉีดยาดูดน้ำแล้วค่อยๆป้อนให้ลูกนกกิน สำหรับนกของเรานั้น ในวันที่ 3 ของการเลี้ยง นกสามารถก้มกินน้ำจากถ้วยน้ำที่เราเทไว้ให้ได้เอง จึงเบาแรงไปค่ะ

ภาพการป้อนน้ำด้วยหลอดฉีดยา

ภาพการกินน้ำด้วยตัวเองของลูกนกพิราบ

ดูแลลูกนกแบบนี้ทุกวัน ร่วมกับการทำแผล ส่วนการให้ความอบอุ่นและการสังเกตระบบขับถ่ายขอยกไปเล่าในตอนหน้านะคะ สำหรับใครที่เข้ามาอ่านแล้ว และยังไม่ทราบขั้นตอนแรกหลังจากพบนกตกรังและการรักษาแผลเบื้องต้น สามารถเข้าไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้จาก นกตกรัง ช่วยยังไงให้รอด ตอนที่ 1 และ 2 ค่ะ

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) และ YouTube การป้อนลูกนกตกรัง จิกกินเองไม่ได้ โดยคุณ anon tumpiti

ภาพประกอบ โดยนักเขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์