ไลฟ์แฮ็ก

ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย ต้องเจอกับอะไรบ้าง ?

7.1k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย ต้องเจอกับอะไรบ้าง ?

นับจากนี้ อีกไม่กี่เดือนเด็กมัธยมบางกลุ่มก็จะกลายเป็นน้องเฟรชชี่ปี 1 กันแล้ว (แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ก็อาจจะอีกหลายเดือน) หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า สังคมมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร จะเข้ากับเพื่อนได้ไหม เรียนยากไหม จะปรับตัวได้รึเปล่า ในบทความนี้ผู้เขียนในฐานะพี่บัณฑิตจบใหม่จะมาเล่าประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยว่าชีวิตมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะต้องเจอกับอะไรบ้าง และหากมีปัญหา จะมีวิธีการแก้ปัญหาหรือปรับตัวอย่างไร


1. Homesick แม่จ๋า หนูอยากกลับบ้าน

แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย เด็กส่วนใหญ่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กบ้านสู่เด็กหอทันที ทำให้เกิดอาการคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว ส่งผลให้เกิดความเครียด เศร้าง่าย ร้องไห้บ่อย ซึ่งแน่นอนว่าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คงไม่เป็นผลดีแน่ หากจะให้แนะนำวิธีแก้ วิธีที่ดีที่สุดอาจเป็นการออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปหากิจกรรมทำไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน อาจเป็นการท่องเที่ยวรอบ ๆ เมือง สังสรรค์กับเพื่อนหรือการออกกำลังกายก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน

Advertisement

Advertisement

ภาพคนนั่งกอดเข่าพิงกำแพง

2. กิจวัตรบางอย่างที่เปลี่ยนไป

"ห้องน้ำนี่ล้างยังไงนะ" นี่คือปัญหาของผู้เขียนตอนเข้าหอใหม่ ๆ หลายคนคงไม่เข้าใจว่ามันเป็นปัญหาตรงไหน แต่นี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนที่แทบจะไม่เคยล้างห้องน้ำที่บ้านเลย ซึ่งการแก้ปัญหาง่าย ๆ คือถามผู้รู้แล้วลองทำเรื่อย ๆ ก็จะชินและซึมซับไปเอง นอกจากนี้ยังมีหลายกิจวัตรที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งกับข้าวที่ต้องหาเอง ผ้าที่ต้องรีดเอง ทำความสะอาดห้องเอง หรือแม้แต่การซื้อของใช้เข้าหอเอง ซึ่งทุกอย่างเราต้องฝึกทำด้วยตนเองแล้วเราจะค่อย ๆ ซึมซับนิสัยนี้และสร้างนิสัยพึ่งพาตนเองได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

3. การเรียน ที่ต้องพึ่งตนเอง

ชีวิตมหาวิทยาลัยไม่มีการเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่มีอาจารย์มาทวงงานเวลาเรายังไม่ส่ง ทำให้เราต้องมีระเบียบวินัยในการเรียนมากขึ้น เช่น การไปเรียนให้ทันเวลา นอกจากนี้วิธีการเรียนก็ต้องปรับจากการเป็นผู้เรียนสู่การเป็นผู้ศึกษา ก็คือการหมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง อ่านหนังสือควบคู่กับการจดสรุปหลังเลิกเรียนทุกครั้ง และต้องวางแผนการเรียนเพื่อให้ตนเองได้เรียนในสิ่งที่ต้องการและไม่เกิดปัญหาต่อตนเองในอนาคต

Advertisement

Advertisement

ภาพแท็บเล็ตวางบนหนังสือ

4. สังคมใหม่ ปรับตัวอย่างไรดี

การหาเพื่อนใหม่ อาจเป็นปัญหาของบางคนที่มีนิสัยพูดน้อย ทำให้ไม่กล้าที่จะคุยกับใคร แต่แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวในรั้วมหาวิทยาลัยได้ ฉะนั้นทางที่ดีคือเปิดใจและรวบรวมความกล้าที่จะคุยกับเพื่อนใหม่ อาจเป็นคนที่นั่งข้าง ๆ ตอนรับน้องหรือคนที่นั่งเรียนใกล้ ๆ เรา นอกจากสังคมเพื่อนรุ่นเดียวกันแล้ว อีกอย่างที่สำคัญก็คือสังคมสายรหัส แน่นอนว่ารุ่นพี่ของเรานี่แหละที่จะเป็นที่ปรึกษาชั้นดีด้านการเรียนและการทำงานของเราตั้งแต่ปี 1 จนถึงวัยทำงาน ฉะนั้นหมั่นคุยและปรึกษากับรุ่นพี่เยอะ ๆ และเราก็ต้องให้คำปรึกษาแก่รุ่นน้องด้วยเช่นกัน

5. การสอบ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

"พวกคุณรู้ไหม ระดับมหาวิทยาลัยเนี่ย อ่านหนังสือสอบหนึ่งครั้งเหมือนอ่านหนังสือเตรียมเอนท์เลยนะ" นี่คือคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งสมัยผู้เขียนอยู่ปี 1 ตอนแรกนึกว่าอาจารย์คงขู่เฉย ๆ แต่พอมาเริ่มสอบมิดเทอมครั้งแรกก็ทำให้รู้ว่าจริงอย่างที่อาจารย์เคยว่าไว้ ฉะนั้นหากเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี จะเท่ากับอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย 16 ครั้ง ! หมายความว่าเราจะต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือให้ดีกว่าตอนสมัยมัธยม ไม่เช่นนั้นอาจจะมีตัว F อยู่บน Transcript ก็เป็นได้ ดังนั้นเราต้องมีวินัยในการอ่าน อาจจะนำสรุปที่เราจดหลังเลิกเรียนทุกวันมาสรุปให้ตัวเองเข้าใจอีกรอบ ทำโจทย์ให้ชำนาญ หรือการไปติวหนังสือกับเพื่อนก็เป็นการทบทวนความรู้ที่ดีเช่นกัน สุดท้ายนี้อย่าลืมว่า รีไทร์ คำนี้ดูไกลตัว แต่หากไม่มีวินัย จะใกล้ตัวทันที

Advertisement

Advertisement

ภาพกองหนังสือ

6. กิจกรรม ทำทำไม

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมรับน้อง ชุมนุม ชมรม หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นเชิงวิชาการหรือไม่ก็ได้ โดยนักศึกษาทุกคนที่มีความสนใจสามารถเข้าร่วมได้ ถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องมีชมรมหรือทำกิจกรรม คำตอบนั้นก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะมองแบบไหน แต่สำหรับผู้เขียนมองว่าการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรสามารถบ่งบอกถึงตัวตนเราได้ อาจบอกถึงความสนใจ ความสามารถ แม้กระทั่งบุคลิกหรือนิสัย และเชื่อเถอะว่าเมื่อจบไป เวลาสมัครงานกรณีเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ บริษัทจะถามกิจกรรมที่เราทำ ซึ่งมีส่วนในการพิจารณาเข้าทำงานแน่นอน ฉะนั้นหากน้อง ๆ มีความสนใจกิจกรรมไหน อย่าลังเลที่จะเข้าไปสัมผัส สิ่งนั้นอาจเป็นประโยชน์แก่ตัวเราในอนาคต

7. ฝึกเอ่ยฝึกงาน

หลายคณะจะต้องผ่านการฝึกงาน คณะของผู้เขียนก็เช่นกัน การฝึกงานหากเลือกได้ ควรเลือกฝึกบริษัทในด้านที่เราสนใจและอยากประกอบอาชีพในด้านนั้น ๆ พอถึงเวลาฝึกงาน เราจะต้องขวนขวายข้อมูล เริ่มปฏิบัติจริง และพยายามนำสิ่งที่เรียนมามาบวกกับงานเบื้องหน้าเพื่อที่จะทำให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ สิ่งสำคัญในการฝึกงานคืออย่าอายที่จะถาม แน่นอนว่าการเจอกับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีในห้องเรียนจะต้องสร้างคำถามแก่ตัวเรา ฉะนั้นหากมีอะไรไม่เข้าใจ เราสามารถถามพี่เลี้ยงของเราได้

8. อยากเรียนจบ อย่าลืม Project

Project หรือบางที่เรียกว่าวิจัย เป็นวิชาที่เราจะต้องนำความรู้ที่เรียนมาตั้งแต่ปี 1 มาสร้างเป็นชิ้นงานของเรา หากเราผ่าน Project มาได้ นอกจากจะได้ความภาคภูมิใจแล้ว ยังเป็นตัวการันตีว่าเราเรียนจบแน่นอน (หากไม่ติดค้างรายวิชาอื่น) พูดง่าย ๆ ก็คือ Project เป็นด่านสุดท้ายที่เราต้องเอาชนะ การเอาชนะนั้นไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย หากเราตั้งใจหาข้อมูลเชิงวิชาการ สร้างสรรค์ผลงาน หมั่นไปปรึกษากับอาจารย์ แค่นี้เราก็สามารถเอาชนะด่านสุดท้ายไปได้อย่างสวยงามและอาจได้ถุงใต้ตาเป็นของกำนัน

ภาพพิธีจบการศึกษา


นี่คือประสบการณ์หลัก ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยที่เด็กส่วนใหญ่พบเจอและจะต้องปรับตัว ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะค่อย ๆ หล่อหลอมเราทีละนิดเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยทำงาน สุดท้ายนี้ขอฝากข้อคิดไว้สั้น ๆ ว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วสามารถปรับตัวและแก้ปัญหาได้ เราก็จะสามารถหาประโยชน์และความสุขจากสิ่งเหล่านั้นได้เช่นกัน

ภาพปกโดย Emily Ranquist จาก Pexels / ภาพ 1 โดย Pixabay จาก Pexels / ภาพ 2 โดย Pixabay จาก Pexels / ภาพ 3 โดย Pixabay จาก Pexels / ภาพ 4 โดย Pixabay จาก Pexels

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์