อื่นๆ

Writing Therapy - การเขียนบำบัด

373
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Writing Therapy - การเขียนบำบัด

Writing Therapy - การเขียนบำบัด


ฉันเคยประสบเคราะห์กรรมทางความรู้สึกอย่างหนักสมัยเรียนปีสุดท้าย ทุกคนคงเดาได้ว่าฉันต้องพบเจอจุดเปลี่ยนที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน เหมือนมีมรสุมคลื่นยักษ์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อหลายลูกถาโถมมาที่ฉัน ทั้งอกหัก เสียใจ ทำผิดพลาดในหลายๆเรื่อง แต่ก็ยังถือว่ามีโชคอยู่บ้าง เพราะฉันมีเพื่อนดีๆอยู่เยอะมาก ฉันเลยแบกเอาปัญหาที่หนักจนฉันปวดหัวไปปรึกษาเพื่อนสนิทของฉันหนึ่งคน เพื่อนคนนี้แนะนำฉันว่า แกเครียดใช่มั้ย "ไปเอากระดาษมา แล้วเขียนมันลงไป!"


เพื่อนไม่ได้ไม่อยากฟังฉันหรอก(จริงๆ) เพื่อนกำลังแนะนำให้ฉันรู้จักกับ "การเขียนบำบัด " แต่ตอนนั้นฉันคิดไม่ออกเลยว่าควรเขียนอะไร
ความคิดในหัวของฉันกำลังปั่นป่วนเหมือนมีนกนางนวลหนึ่งฝูงไล่ตีกันอยู่ในหัว เพื่อนฉันเลยอธิบายต่ออีกนิดว่า “เขียนความรู้สึกตอนนี้ลงไป” อะไรก็ได้ ที่ฉันอยากบอกให้เพื่อนฟัง แต่เปลี่ยนเป็นให้เขียนลงไปในกระดาษแทน เพราะการเล่าให้เพื่อนฟัง แม้ฉันจะได้ระบายให้คนที่ฉันไว้ใจฟังก็ตาม แต่ในที่สุดแล้ว ตัวฉันเองเท่านั้นที่จะต้องแก้ปัญหาต่างๆที่ผูกเอาไว้ ด้วยการตัดสินใจเลือกของตัวเองล้วนๆ

Advertisement

Advertisement

ภาพที่ 1 ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/3059691/


วิธีการเขียน

คนส่วนใหญ่คิดว่างานเขียนเป็นเรื่องราวของนักเขียน แต่ "การเขียนเพื่อบำบัดตัวเอง" เป็นเรื่องง่ายกว่านั้นมากค่ะ แค่หาที่สงบ ค่อยๆนั่งลง หยิบปากกากับกระดาษมา และ ค่อยๆเรียบเรียงความรู้สึก แบบไม่ตัดสินถูกผิด โดยไม่ต้องใช้ความคิด แต่ใช้หัวใจ (ตรงนี้เลี่ยนนิดนึงนะคะ) เริ่มจากตรงไหนก็ได้ค่ะ จะเป็นความคิดแรกที่คิดได้ตอนนี้เลยก็ได้ (ประโยคแรกที่ฉันเริ่มเขียนคือ ฉันจ่ายค่าไฟเดือนนี้แล้วหรือยัง?)

บางท่านอาจเขียนแล้วปลดปล่อยโดยฉีกทิ้งไปเลยก็ได้ เพราะจุดมุ่งหมายของการเขียนบำบัดนี้ คือ เขียนสิ่งที่ทำร้ายเรา ทำให้เราบาดเจ็บทางความรู้สึก หรือจะเก็บไว้อ่านเหมือนไดอารี่ก็ได้ (ส่วนตัวฉันเลือกอย่างหลัง เพราะจะได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด หรือนิสัยที่ไม่น่ารักของตัวเองแล้วจัดการกับมันซะเลยทีเดียว) หลังจากเขียนจบ ฉันรู้สึกว่าความเครียดเบาลงประมาณ 90% เหลือพื้นที่ไว้ 10% ให้ฉันมาคิดต่อว่าจะพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิมได้ยังไง (เบาความเหวี่ยงลงหน่อยไงล่ะ /เสียงแม่ลอยมาประกอบฉาก)

Advertisement

Advertisement

ภาพที่ 2ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/3059684/

หลังจากเขียนบำบัดเสร็จ

ฉันรู้สึกโล่งใจขึ้นมาก มีเวลาว่างก็เลยอ่านซ้ำเล็กน้อย ฉันรู้สึกว่าหลังจากเขียนออกไป มันคือการเล่าให้ตัวฉันเองนี่แหละฟัง ในเวอร์ชั่นที่เรามีสติดีแล้ว (เหมือนการปล่อยนกนางนวลในหัวออกไป) เราเห็นการเขียนวกไปวนมาของตัวเอง เพราะจิตใจของเราในขณะนั้นเป็นแบบนั้น ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าได้เพื่อนเพิ่มมาอีกหนึ่งคน เหมือนฉันจับเข่าคุยกับตัวฉันเองแล้วพูดว่า ไหนเธอเล่ามาสิ!

สิ่งที่กังวลหลังจากนี้คือ จะเก็บที่ไหนดีให้พ้นมือผู้ปกครอง (ถ้าถูกแอบอ่านคงเขินมากเลย)

ภาพที่ 3ขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com/photos/pencil-composition-writing-3326180/

สิ่งที่ได้จากการเขียนบำบัด

ถึงแม้ว่าหนึ่งในความโชคดีของฉันคือการมีเพื่อนอยู่ข้างๆให้คอยปรับทุกข์ได้เสมอ แต่วิธีการเขียนบำบัดนี้เราสามารถทำคนเดียว ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อระบายเรื่องราวลงในกระดาษ กระดาษแผ่นนั้นทำหน้าที่รับเอาความรู้สึกด้านลบไปโดยที่ฉันไม่ต้องแบกความรู้สึกนี้ขึ้นมอเตอร์ไซด์วินกลับบ้านไปด้วย ทำให้ฉันรู้สึกโล่งใจทันทีที่เขียนความรู้สึกเสร็จ

Advertisement

Advertisement

แต่คงไม่จำเป็นต้องเขียนเฉพาะเรื่องราวด้านลบเท่านั้น สามารถเขียนทุกความรู้สึกลงไปในกระดาษได้ด้วย รวมทั้งการวางแผนชีวิต การทำตารางเวลา ตั้งเป้าหมายใดๆ ก็สามารถทำลงในกระดาษได้เช่นเดียวกัน

บางคนอาจใช้วิธีการบันทึกผ่านการพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือไฟล์ดิจิทัล คงเป็นวิธีการเขียนที่เหมาะกับคนยุคใหม่ที่สะดวกสบายและง่ายที่สุด แถมยังประหยัดกระดาษอีกด้วย แต่ฉันยังชอบความรู้สึกของการจับกระดาษและปากกามากกว่า (ทำไมรู้สึกแก่) แต่ก็สามารถรักษ์โลกได้ด้วยการเลือกใช้กระดาษใช้แล้ว กลับมาใช้ซ้ำ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคลโดยฉันเชื่อว่าทั้งสองตัวแปรไม่ว่าจะเป็นไฟล์ดิจิทัลหรือกระดาษ ก็พร้อมจะซึมซับทุกอารมณ์ความรู้สึกของคุณเสมอค่ะ :)

วันนี้คุณมีเรื่องอะไรเขียนไหมคะ ?

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์