อื่นๆ

Panic Buy เพราะกลัวจึงกักตุน ในวิกฤตการณ์ COVID-19

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Panic Buy เพราะกลัวจึงกักตุน ในวิกฤตการณ์ COVID-19

หลังจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ในประเทศไทย แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกินร้อยต่อวัน จนรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ออกมา แต่ด้วยกระแสข่าวที่สับสนมากมาย รวมทั้ง Fake News ข่าวปลอมต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามโซเชียลมากมายนั้น ทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลกับหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการประกาศเคอร์ฟิว การห้ามเดินทาง การปิดร้านค้า รวมทั้งราคาสินค้าที่แพงขึ้นอย่างมาก จนทำให้ผู้คนตื่นตระหนกกลัวว่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจะขาดตลาด

panic bayขอบคุณภาพประกอบ John Cameron / unsplash

แน่นอนว่าภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เราต่างไม่รู้ว่าจะมีคำสั่งอะไรออกมาอีกเมื่อใด จะห้ามออกนอกบ้านเมื่อไหร่ จะสั่งปิดร้านตอนไหน จะยังมีของให้ซื้อหรือเปล่า กลัวว่าหากซื้อทีหลังคนอื่น สินค้าจะราคาแพง เพราะถูกร้านค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา แต่ละบ้านแต่ละครอบครัวจึงต้องออกมาซื้อของเข้าบ้านกันจนล้นตลาด ล้นซูเปอร์มาร์เก็ต เกิดความโกลาหลขนานใหญ่ จนเป็นภาวะที่เรียกกันว่า Panic Buy หรือการซื้อของกักตุนเพราะความตื่นตระหนกนั่นเอง

Advertisement

Advertisement

สินค้าขาดตลาดขอบคุณภาพประกอบ Mick Haupt / unsplash

หากจำกันได้ในสถานการณ์เมื่อไม่นานมานี้ กรณีฝุ่น PM 2.5 คนแห่ไปซื้อเครื่องฟอกอากาศ กรองอากาศต่าง ๆ จนราคาสินค้าประเภทนี้ราคาพุ่งสูงขึ้นมากเกินความเป็นจริง กลายเป็นเรื่องค้ากำไรเกินควรไป เมื่อมีความต้องการมาก ทำให้ต่างคนต่างก็ยอมจ่ายในราคาที่ขอให้ได้สินค้า หรือหากย้อนกลับไปเมื่อตอนเกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ คนก็แห่กันกักตุนบะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม ถุงกระสอบทราย จนสินค้าแทบจะขาดตลาดกันเลยทีเดียว ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ก็จะเห็นได้ว่าเริ่มมีการกักตุนสินค้า แย่งกันซื้อหาของกิน จนหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล หรือแม้กระทั่งไข่ไก่ที่ราคาพุ่งสูงกว่าราคากลางไปเกือบเท่าตัวแล้ว

กักตุนขอบคุณภาพประกอบ Mick Haupt / unsplash

การเกิดเหตุการณ์ Panic Buy นั้นเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ สาเหตุแรกคือความตื่นตระหนกเพราะความกลัว อย่างสถานการณ์ไวรัสระบาดตอนนี้ บวกเข้ากับข่าวการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว จนทำให้คนเกิดความกลัวไปต่าง ๆ จนต้องออกมากักตุนสินค้า เพื่อเก็บไว้กินไว้ใช้ สาเหตุต่อมาก็คือ ตื่นตระหนกเพราะความต้องการสินค้า กลัวไม่ได้ หรือเป็นสินค้าที่เข้ามาใหม่ กลัวมีไม่ทันใช้เหมือนคนอื่นเขา เป็นความต้องการที่มากจนล้นเกิน ส่วนใหญ่ความตื่นตระหนกประเภทนี้จะเกิดจากสินค้าแฟชั่น เทรนด์ต่าง ๆ หรืออุปกรณ์ไอที ที่เปิดตัวตามวันเวลาที่กำหนด

Advertisement

Advertisement

สินค้าหมดขอบคุณภาพประกอบ John Cameron / unsplash

การ Panic Buy หรือการออกมาซื้อของ กักตุนสินค้าเพราะความตื่นตระหนกนั้น จะส่งผลต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก เพราะบางครั้งเป็นการซื้อไปก่อน มีไว้เยอะ ๆ จนล้นบ้าน ถ้าเป็นอาหารก็กินไม่ทัน ถ้าเป็นสินค้าบางอย่างก็เกิดการเน่าเสียหมดอายุ ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ แต่ในมุมมองของสังคมอีกด้านหนึ่ง ก็จะเห็นว่าการกักตุนสิ่งของเครื่องใช้ไว้มาก ๆ เป็นการไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะแต่ละคนกำลังซื้อไม่เท่ากัน พอแห่กักตุนมาก ๆ สินค้าหมด ขาดตลาด หรือราคาพุ่งสูงขึ้น ก็จะมีคนที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกำลังเงินที่ไม่สามารถซื้อของคราวละมาก ๆ ได้

เกินความจำเป็นขอบคุณภาพประกอบ Hello I'm Nik / unsplash

ในสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 นั้น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับตัวเองเป็นลำดับแรกเลยก็คือการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น หลายคนอาจจะตื่นตระหนกกับข่าวต่าง ๆ มากมาย แต่ในวิกฤตการณ์เช่นนี้ เราก็ต้องใช้สติให้มาก ๆ เช่นเดียวกัน การซื้อสินค้าเข้าบ้านมันบอกไม่ได้หรอกว่าเป็นเรื่องผิด-ถูก มากน้อยขนาดไหน แต่การมีวิจารณญาณไตร่ตรองหาเหตุผล คำนวณถึงปริมาณการใช้งานที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ควรต้องทำ หากจะคิดเพื่อสังคมส่วนรวม บางทีสินค้าที่มาอยู่กับเรานั้น อาจจะจำเป็นสำหรับคนอื่นมากกว่า อาจจะมีคนต้องการมากกว่า อาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นมากกว่าก็เป็นได้ นี่เป็นสถานการณ์ภัยพิบัติที่คนไทยต้องพิสูจน์ถึงการร่วมแรงร่วมใจกัน รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันกัน และไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อที่จะฟันฝ่าสถานการณ์เลวร้ายครั้งนี้ไปด้วยกัน

Advertisement

Advertisement

ขอบคุณภาพปก pch.vector / freepik + John Cameron / unsplash

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์