ไลฟ์แฮ็ก

5 เคล็ดลับช่วยลูกจัดการอารมณ์ตัวเอง

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 เคล็ดลับช่วยลูกจัดการอารมณ์ตัวเอง

5 เคล็ดลับช่วยลูกจัดการอารมณ์ตัวเอง

การจัดการอารมณ์ คือ การเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นและจัดการพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสถานการณ์หนึ่ง ให้สามารถลดระดับของอารมณ์ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของตนเอง รับมือกับความหงุดหงิด ลำบากใจ และความรู้สึกอื่น ๆ ของตนเองได้อยางเหมาะสม

การสอนให้ลูกจัดการอารมณ์ของตังเองที่มีประสิทธิภาพเป็นงานสำคัญที่ต่อเนื่องของผู้ปกครอง สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นวิธีการที่พ่อแม่ เข้าไปจัดการอารมณ์ของลูกและวิธีการที่จะช่วยลูกให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกัน โดยมีเคล็ดลับช่วยลูกจัดการอารมณ์ของตัวเอง 5 อย่าง ดังนี้

แม่ลูกภาพโดย pixabay.com

1. สอนลูกให้รู้จักอารมณ์

  • การรับรู้อารมณ์ของตัวเอง และผู้อื่น

ฝึกการรับรู้อารมณ์ของตัวเอง เมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้น จดบันทึกประจำวันความรู้สึก อาจให้ลูกบันทึกความรู้สึกเป็นสี โดยแทนค่าสีกับอารมณ์ต่าง ๆ และใช้สัญลักษณ์ตัวเลขแทนความเข้มข้นของอารมณ์ที่เกิดขึ้น 0-10 เลข 0 แทนความเข้มข้นของความรู้สึกน้อย และมากขึ้นตามลำดับ จนถึง 10 คือความเข้มข้นของความรู้สึกที่มากที่สุด เช่น สีเหลือง - รู้สึกมีความสุข, สีม่วง - รู้สึกเศร้า, สีแดง - รู้สึกโกรธ เป็นต้น สีเหลือง 10 หมายถึง มีความสุขมากที่สุด สีแดง 3 หมายถึง โกรธเล็กน้อย การใช้สีและสัญลักษณ์ตัวเลข ช่วยให้ลูกรับรู้อารมณ์ตนเอง และผู้อื่นสามารถเข้าใจความรู้สึกได้ละเอียด ลึกซึ้ง แม่นยำ มากขึ้น

Advertisement

Advertisement

  • ให้ลูกเรียนรู้การตอบสนองของร่างกายเมื่อเกิดอารมณ์ และความรู้สึก

เมื่อมีความโกรธร่างกายจะตอบสนอง อย่างไรบ้าง ให้ลูกเล่าความรู้สึก หรืออาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง เช่น เมื่อโกรธ หน้าแดง ใจเต้นแรง หายใจสั้น เร็ว และรู้สึกร้อน มือกำแน่น คิ้วขมวด ตาโต เป็นต้น

  • เรียนรู้ที่จะบอกความรู้สึกของตัวเองเป็นคำพูด สอนคำศัพท์ทางอารมณ์ให้ลูก ให้ลูกสามารถบอกอารมณ์เบื้องต้นของตัวเองได้ เช่น ดีใจ เสียใจ เศร้าใจ โกรธ หงุดหงิด เบื่อ อาย เป็นต้น
  • เรียนรู้ที่จะสงบสติอารมณ์เมื่อที่อารมณ์ท้วมท้นจนทนไม่ไหว

ใช้เทคนิคหายใจเข้าลึก การนับเลขช่วยได้ หยุดพัก ช่วยกันแก้ไขปัญหากับลูก อยู่เคียงข้างลูก

  • เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวเหมาะสมกับตนเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสม

2. ช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเอง ไม่ใช่จัดการอารมณ์แทนลูก

Advertisement

Advertisement

เด็กร้องไห้ภาพโดย pixabay.com

เงียบเดี๋ยวนี้ หยุดร้องไห้เดี๋ยวนี้ อย่าเสียใจไปเลยนะ

คำพูดเหล่านี้ไม่ควรพูด นอกจากเด็กไม่ทำตามแล้ว ยังแผดอารมณ์ปะทุมากขึ้นด้วย เพราะอะไร ก็เพราะเด็กรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับ รู้สึกผิด รู้สึกถูกตำหนิ และรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ให้โอกาสลูกได้จัดการอารมณ์ของตัวเอง ไม่ใช่การเข้าไปจัดการอารมณ์ของลูก เพื่อขจัดอารมณ์พวกนั้นให้หายไป อารมณ์ไม่ใช่ขยะ ที่จะเก็บ ม้วน แล้วโยนลงถัง มันไม่หายไปไหน จนกว่าเราจะยอมรับและเข้าใจมันอย่างแท้จริง ช่วยลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองโดย เทคนิคการสะท้อนความรู้สึก เช่น ดูเหมือนว่าลูกกำลังโกรธใช่ไหม ดูเหมือนว่าลูกกำลังเสียใจใช่ไหม การพูดคำว่า "ดูเหมือนว่า" เป็นการพูดโดยไม่ตัดสิน และเปิดโอกาสให้ลูกได้ทบทวนตัวเอง ลูกอาจตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่ และบอกความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมา การสะท้อนความรู้สึกของลูก ยังทำให้ลูกรู้สึกได้รับการยอมรับและความเข้าใจอีกด้วย

Advertisement

Advertisement

3. ยอมรับและเข้าใจความรู้สึกของลูก

ยอมรับความรู้สึกของลูกที่เกิดขึ้น "แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธ แม่ขอโทษที่ทุกสิ่งไม่เป็นไปอย่างที่ลูกต้องการ" การพูดแบบนี้เป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจลูก ทำให้ลูกรู้ว่า เราเข้าใจความรู้สึกของเขา เขาจะสงบลง และรับฟังมากขึ้น เพียงแต่ต้องใช้เวลาให้เขาได้ปรับอารมณ์สักหน่อย อย่าคาดหวังว่าเขาจะหยุดความรู้สึกต่าง ๆ ได้ในทันที

4. เห็นอกเห็นใจแทนที่จะตำหนิหรือลงโทษลูก

เด็กร้องไห้ภาพโดย pixabay.com

ลูกเป็นเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก สมองส่วนหน้าที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์ของเด็ก ยังสร้างไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อลูกเกิดอารมณ์ความรู้สึก และควบคุมอารมณ์นั้นไม่ได้ ควรเห็นอกเห็นใจลูก การตำหนิ หรือลงโทษลูกเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เมื่อเกิดความรู้สึกนั้นขึ้นอีกครั้ง ลูกไม่รู้ว่าจะจัดการความรู้สึกอย่างไร ก็แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น เพื่อเรียกร้องให้พ่อแม่เข้าใจในสิ่งที่เขารู้สึก การแสดงความเห็นอกเห็นใจ ด้วยสายตาแห่งความเมตตา การกอด อยู่ใกล้ไม่ทิ้งเขาไว้ลำพัง และท่าทีสงบจากภายใน จะช่วยให้ลูกผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

5. ช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงอารมณ์ของตนเอง แต่ควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

อารมณ์ความรู้สึก เป็นเรื่องที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่เราสามารถจัดการมันได้ การอนุญาตให้ลูกสามารถแสดงความรู้สึก ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และไม่เก็บกดความรู้สึกนั้นไว้ เช่น บอกลูกว่า

ลูกสามารถโกรธได้อย่างที่ต้องการ แต่แม่ไม่อนุญาตให้ตีตัวเองและอย่าทำร้ายผู้อื่น

"ลูกสามารถเสียใจได้ตามที่ลูกต้องการ แต่แม่ไม่อนุญาตให้กระทืบเท้าเสียดัง" แยกความรู้สึกกับพฤติกรรมออกจากกัน เราจะไม่ห้ามความรู้สึก แต่จะห้ามพฤติกรรมที่แสดงออก เพื่อช่วยให้ลูก จัดการพฤติกรรมภายนอก และปลดปล่อยความรู้สึกภายใน สอนให้ลูกเรียนรู้ว่า

  • อารมณ์ ความรู้สึกไม่ใช่สิ่งเลวร้าย มันส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์
  • เรามักไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะรู้สึกอย่างไร แต่เราเลือกพฤติกรรมที่จะแสดงออกได้
  • ถ้าเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และยอมรับมัน ความรู้สึกนั้นจะค่อย ๆ จางหายไป

เด็กความสุขภาพโดย pixabay.com

เด็ก ๆ ที่ถูกสอนเรื่องการจัดการอารมณ์ จะมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ใช่การควบคุมอารมณ์ หยุดยั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการตำหนิ หรือลงโทษ แต่การจัดการอารมณ์ คือ การเข้าใจและยอมรับอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการของตัวเอง และแสดงออกอย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ อย่าตำหนิ ตะคอก ด่า ขู่ เพื่อให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีในการจัดการอารมณ์ คุณจะแปลกใจเมื่อคุณควบคุมอารมณ์ของคุณได้ดี ลูกของคุณจะสงบได้อย่างมหัศจรรย์ เพราะลูกดูคุณอยู่ และเห็นคุณเป็นแบบอย่างน่ะสิ

หากต้องการสอนเรื่องการจัดการอารมณ์ให้กับลูก คุณต้องเรียนรู้การจัดการอารณ์ของตัวเองด้วยนะคะ


ภาพปก : ภาพโดย pixabay.com

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์