ไลฟ์แฮ็ก

5 ยุทธวิธีรับมือ เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาในคดีจากการใช้รถใช้ถนน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 ยุทธวิธีรับมือ  เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาในคดีจากการใช้รถใช้ถนน

ในระหว่างนั่งรถไปกับทนายดำ  เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยมัธยม ซึ่งปัจจุบันเรียนจบกฎหมายและตั้งสำนักทนายความเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง

ผมมองไปยังท้องถนนที่รถวิ่งขวักไขว่ เนื่องด้วยเป็นช่วงเทศกาลที่ผู้คนเดินทางกัน  บางจุดมีอุบัติเหตุ  บางจุดมีการตั้งด่านของตำรวจ ซึ่งปรากฎว่ามีการเรียกตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรและกฎหมายรถยนต์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีคนโดนข้อหาต่าง ๆ กันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการขับรถไม่สวมหมวกกันน็อค เมาแล้วขับ แต่งรถผิดกฎหมาย ฯลฯ

ผมตั้งข้อสังเกตนี้ขึ้นมา ไอ้เจ้าทนายดำเพื่อนผมมันก็พยักหน้าเห็นด้วย แล้วเอ่ยเสริมขึ้นว่า

"คนใช้รถใช้ถนนอย่างเรานี่ นอกจากเรื่องอุบัติเหตุขับรถขับราแล้ว  ไอ้สิ่งที่ต้องระวังไม่น้อยกว่ากันก็น่าจะเป็นเรื่องกฎหมายนี่แหล่ะ การโดนข้อหาหรือเป็นคดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็คงไม่สนุกทั้งนั้นแหล่ะ"

Advertisement

Advertisement

"แต่คนเรามันก็มีโอกาสโดนกันได้นี่หว่า บางทีก็ไม่ตั้งใจ อย่างขับรถไปเฉี่ยวชนกันอย่างเงี้ย...ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดไปแล้วจะทำไง" ผมแย้งขึ้นราวกับเป็นผู้มีประสบการณ์สูง (ในการโดนคดี 😁)

เพื่อนนักกฎหมายหันมายิ้ม ราวกับคำโต้แย้งของผมเข้าทางให้มันได้โชว์ภูมิรู้พอดี จากนั้นมันก็เริ่มร่ายยาว

"มันก็มีแนวทางรับมืออยู่   เดี๋ยวกูจะพูดให้ฟังทีละข้อนะ..."

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

//ภาพโดย Alexas_Fotos จาก pixabay//

"ข้อแรกเลย  เวลาเกิดเรื่องเกิดราวบนท้องถนน กูแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียง ปะทะคารมกับคู่กรณี ไม่ว่าจะเป็นคู่กรณีที่เป็นคนใช้รถใช้ถนนเหมือนกัน หรือเป็นตำรวจที่แจ้งข้อหา เพราะกูว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะโต้เถียง ดีไม่ดีจะลุกลามเป็นความรุนแรง เป็นเรื่องใหญ่กว่าเดิม เช่น ทำร้ายร่างกาย หมิ่นประมาท โดยเฉพาะถ้าเขาเป็นตำรวจซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ก็เสี่ยงที่จะโดนข้อหาดูหมิ่น ขัดขวางเจ้าพนักงาน อะไรพวกนี้ไปอีก..."

Advertisement

Advertisement

"ควรคุยกันดี ๆ  โต้แย้งกันด้วยเหตุผล ถ้าหาข้อสรุปไม่ได้หรือคุยไม่รู้เรื่องจริง ๆ ก็หาคนกลาง เช่น ให้ตำรวจช่วยเคลียร์ เรียกประกันมาช่วยคุย  หรือกรณีเห็นว่าตำรวจแจ้งข้อหาไม่เป็นธรรมหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องยังไง ก็เก็บหลักฐานไว้โต้แย้งหรือเอาผิดภายหลัง ดีกว่าไปทะเลาะกันแบบนั้น กูว่านอกจากความสะใจแล้วก็ไม่น่าจะได้ประโยชน์มากนัก..."

ด่านตรวจ//ภาพโดย Alexas_Fotos จาก pixabay//

"ข้อที่สอง บางเรื่องที่เป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขับรถไม่มีใบขับขี่ ไม่มีป้ายทะเบียน ไม่สวมหมวกกันน็อค ซึ่งมีอัตราโทษไม่สูง ตำรวจซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ซึ่งถ้าเราผิดจริง และยอมชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบปรับ กฎหมายบอกว่าทำให้คดีอาญาเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ซึ่งทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา 39(3) (ฮั่นแน่! มียกมาตราอ้างอิงซะด้วย 😁) ก็เท่ากับยุติเรื่องได้ ไม่ต้องถึงขั้นฟ้องศาล ดีกว่าไปถือทิฐิ ดันทุรังว่า ไม่ยอมเสียค่าปรับ จะสู้กันชั้นศาล กูว่าเอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่าเน้าะ ....😄"

Advertisement

Advertisement

ค่าชดเชยความเสียหาย//ภาพโดย  Sajinka2   จาก pixabay//

"ข้อที่สาม กรณีที่เป็นการเกิดอุบัติเหตุ  โดยเราเป็นฝ่ายผิดและมีผู้เสียหาย เช่น ขับรถไปชนรถเขา หรือไปชนคน นอกจากการเรียกประกันมาเคลียร์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรทำ คือที่เรียกว่าการเยียวยาผู้เสียหาย เช่น ไปเยี่ยมเยียน ช่วยค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ เป็นการแสดงว่าเราไม่ได้ตั้งใจและแสดงความรับผิดชอบ ฝั่งผู้เสียหายเค้าอาจจะเข้าใจเห็นใจ ไม่อยากเอาเรื่อง ไปถอนแจ้งความหรือถอนฟ้อง ซึ่งถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวก็ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแบบเดียวกะที่กูพูดถึงในข้อที่แล้ว  หรือหากยังต้องดำเนินคดีในศาล ก็อาจจะเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาลที่จะลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษได้..."

ศาล//ภาพโดย Deniel_B_photos  จาก pixabay//

"ข้อต่อมา ถ้าเรื่องถึงขึ้นโรงขึ้นศาลจริง ๆ โดยเรารู้ว่าเราผิดแหง ๆ ก็ไม่ควรดันทุรังต่อสู้คดี  เพราะพยานหลักฐานมีมัดตัว สู้ไปก็แพ้ และโดนลงโทษอย่างไม่ปรานีด้วย  แต่ถ้ารับสารภาพยังมีโอกาสได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง เพราะเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78..."

ผมแอบชำเลืองมองเพื่อนด้วยความหมั่นไส้เล็กน้อย กับสีหน้าภาคภูมิใจของมันเวลายกมาตรากฎหมายขึ้นอ้างอิงในการพูด ราวกับมันจะรู้สึกว่ากำลังได้รับเชิญให้อธิบายกฎหมายออกทีวียังไงยังงั้น เลยรีบตัดบท "เอาข้อสุดท้ายของมึงเลยมะ กูง่วงแล้ว"

เพื่อนทนายชำเลืองกลับมามองผมสายตาขุ่น ๆ ก่อนจะพูดต่อ

"ข้อสุดท้ายของกูนะ นอกจากรับสารภาพเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างที่บอกตะกี้แล้ว  ในกรณีที่เปิดดูตัวบทกฎหมายแล้ว คดีที่เราโดนมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี แล้วเราไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยต้องโทษคดีก่อนเป็นคดีประมาท ลหุโทษ หรือเป็นคดีทั่วไปที่ไม่ใช่คดีประมาท ลหุโทษ แต่พ้นโทษมาเกินห้าปีแล้ว และคดีหลังนี้เป็นคดีประมาท ลหุโทษ และเรามั่นใจว่าเรามีความประพฤติดี มีผู้รับรอง ก็อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ได้ โดยอาจจะมีการคุมประพฤติ หรือบำเพ็ญประโยชน์ แต่ก็ดีกว่าต้องจำคุกให้เสียประวัติอ่ะเน้าะ..."

ผมพยักหน้ารับรู้ แล้วยกนิ้วหัวแม่มือกดไลค์ให้มัน สีหน้าตึง ๆ ของมันเมื่อสักครู่ดูดีขึ้นตามประสาคนบ้ายอ และในขณะที่มันกำลังกระหยิ่มยิ้มย่องกับความภาคภูมิใจนั้น มันคงไม่ทันสังเกตว่ารถคันหน้าเบรกกระทันหัน รถของมันจึงจูบก้นรถคันนั้นเข้าให้

หลังจากนิ่งไปชั่วขณะ ผมหันไปเอ่ยกับมันเบา ๆ

"คงได้เวลาสาธิตการปฏิบัติยุทธวิธีที่มึงอธิบายเมื่อตะกี้แล้วหล่ะเพื่อน เริ่มตั้งแต่ข้อแรกเลยนะ..."

ภาพปกบทความ โดย 422737 จาก pixabay//

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์