ไลฟ์แฮ็ก

5 วิธี เปลี่ยนเป็นคนช่างพูด ชวนคุย เข้าสังคมเก่ง

15.3k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
 5 วิธี เปลี่ยนเป็นคนช่างพูด ชวนคุย เข้าสังคมเก่ง

ทักษะการพูดคุย หรือ Communication skill ถือเป็นทักษะที่สำคัญทั้งในการใช้ชีวิตและการทำงานในอดีต ปัจจุบัน รวมถึงอนาคตข้างหน้าที่ทักษะนี้ก็ยังคงติดอยู่ลำดับต้นๆ ของ 21st Century Skills ทำให้การสื่อสารเป็นอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เด็กๆ ที่จะเติบโตเข้าสู่โลกแห่งการทำงานในอนาคตจึงจำเป็นต้องมีวิธีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ประชับ ประทับใจ โชคดีที่พระเจ้ายังไม่เล่นตลกกับมนุษย์มากเท่าไหร่ ทำให้ทักษะนี้สามารถฝึกฝนจนเก่งกาจได้แม้ว่าจะเคยเป็นผู้ที่ขี้อาย และชวนคุยไม่เป็นเลยก็ตาม วันนี้ภัสมี 5 วิธี เปลี่ยนเป็นคนช่างพูด ชวนคุยเก่ง เข้าสังคมเก่ง จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยยย


1. เตรียมเรื่องที่จะชวนคุย

preparing for content

Photo by Natalie B from Pexels

ภัสเชื่อว่าใครที่ชวนคุยไม่เก่งต้องประสบกับปัญหานี้อยู่อย่างแน่นอน นั่นคือการไม่รู้ว่าจะชวนคุยเรื่องอะไรดี คิดไม่ออก หรือพออยู่ในสถานการณ์จริงแล้วสมองกลับเหลือเพียงความว่างเปล่า ทำให้กระอักกระอ่วนไปหมด จนสุดท้ายต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแก้ไขสถานการณ์แทน ไม่ผิดหรอกค่ะ ที่เราจะทำเช่นนั้น เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาที่สมองอันเคว้งคว้างของเราในตอนนั้นได้ประมวลผลมาเรียบร้อยแล้วว่าง่าย ไม่ต้องคิดเยอะ ทำได้ในทันที แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราอยากเป็นคนช่างพูดช่างจา ชวนคุยเก่ง ไปอยู่ที่ไหนก็ทำให้บรรยากาศครื้นเครง ต้องฝึกคิดอยู่เสมอว่าจะคุยเรื่องอะไร หากนึกไม่ออก ภัสแนะนำให้ ‘จด’ เรื่องที่จะอยากจะชวนคุยเอาไว้เลยตั้งแต่เช้า ลองนึกดูว่าวันนี้เราจะต้องไปที่ไหน และพบกับใครบ้าง และลิสดูว่าคำถามแบบไหนที่เหมาะจะถามคู่สนทนาในเวลาและสถานที่แห่งนั้น หรือมีเรื่องอะไรบ้างที่เราอยากรู้ในตัวคนๆ นั้น

Advertisement

Advertisement

ภัสขอยกตัวอย่างสถานการณ์จริงของภัสเมื่อไม่กี่วันก่อนค่ะ ภัสเพิ่งเริ่มฝึกงานกับองค์กรนานาชาติแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ ทำให้มีเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้างๆ เป็นผู้ชายรัสเซียค่ะ หนึ่งวันก่อนหน้านี้เราแทบไม่คุยกันเลยสักคำ เพราะเขาเองก็ไม่ใช่คนที่ชอบชวนคุย ภัสเองก็เกรงกลัวไปหมดเพราะเขาแอบหน้าดุ ชวนไปกินข้าวก็ไม่เคยไปด้วย ดูเป็นคนลึกลับและเข้าถึงยากมากค่ะ วันถัดมาภัสจึงตั้งปณิธานไว้ว่า ยังไง้ยังไงก็จะต้องชวนคุย ทำความรู้จักกับอิตาคนนี้ให้ได้ ในระหว่างที่นั่งรถตู้ไปทำงานภัสจึงลิสคำถามไว้เป็นสิบๆ คำถามที่เหมาะกับสถานการณ์ในวันนั้น ภัสรู้ว่าเขามักมาถึงที่ทำงานค่อนข้างเช้า เซตคำถามจึงเริ่มจากถามไถ่เรื่องการเดินทางมาที่ทำงาน พักอยู่แถวไหน มาอยู่ที่ไทยนานหรือยัง ได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ไหนในไทยบ้างมั้ย และอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถคุยโยงไปถึงได้ พอเขาเปิดประตูเข้ามา ภัสจึงเริ่มลงมือทันที ผลลัพธ์คือวันนั้นเขายอมออกไปกินข้าวเที่ยงด้วยกันและพบว่าเป็นคนฮาแตกเลยล่ะค่ะ

Advertisement

Advertisement

เคล็ดลับที่สำคัญคือการฝึกฝน อาจเป็นการฝึกพูดคนเดียวในห้องน้ำ ลิสคำถามที่เป็นปลายเปิด ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบเพียงแค่ (ใช่/ไม่ใช่) และต้องไม่ลืมที่จะแชร์ประสบการณ์ของตัวเองในเรื่องราวนั้นๆ กลับด้วยนะ!


2. ชิงโอกาสเปิดบนสนทนาก่อน

starter

Photo by Gratisography from Pexels

นอกจากการเตรียมคำถามแล้ว การรีบชิงโอกาสเปิดก่อนก็เป็นเรื่องสำคัญค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่อยู่กันเป็นกลุ่ม หากเรามัวแต่รอให้คนอื่นเริ่มบทสนทนาก่อน สุดท้ายมันอาจยิ่งเป็นการยากขึ้นที่เราจะเข้าไปแทรกในบทสนาทนานั้น และต้องกลายเป็นผู้ที่ถูกลืมไปในที่สุด

หากเป็นกรณีที่คนในกลุ่มรู้จักกันมาก่อนอยู่แล้ว และคุณคือคนนอกหรือคนที่เข้ามาใหม่ วิธีการแทรกตัวเองเข้าไปให้แนบเนียนที่สุดคือการฟังบทสนาในกลุ่มไปก่อน แต่ในขณะที่ฟังต้องไม่ลืมให้การตอบสนองต่อเนื้อหาในวงสนทนาอยู่เรื่อยๆ เช่น หากเห็นด้วย อาจพูดขึ้นมาว่า “อ้ออ ใช่เลย” “เห็นด้วยๆ” หรือ “ใช่เลย นี่ก็คิด/เคยเป็นเหมือนกัน...” พร้อมกับเล่าประสบการณ์ของตัวเองต่อไป เพียงเท่านี้เราก็จะเริ่มมีตัวตนในวงสนทนาใหญ่แล้วค่ะ

Advertisement

Advertisement

ต้องอย่าลืมมีอารมณ์ร่วมไปกับบทสนทนาด้วยนะคะ หากเป็นเรื่องตลกโปกฮา เราก็ควรมีปฏิกิริยาเช่นการยิ้มหรือหัวเราะให้สอดคล้องกับคนในกลุ่ม ลองจินตนาการว่าทั้งวงสนทนากำลังขำกันอย่างสนุกสนาน แต่มีเราเพียงคนเดียวที่ทำหน้านิ่งบอกบุญไม่รับ นอกจากเราจะถูกคนในกลุ่มลืมแล้ว เรายังดูเข้าถึงยาก และไม่เป็นมิตรอีกด้วยนะคะ


3. ฝึกมีบทสนทนาเล็กๆ กับคนที่ไม่รู้จัก

talk with strangers

Photo by rawpixel.com from Pexels

คำว่า ‘คนไม่รู้จัก’ ในที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าต้องจะต้องเดินดุ่มๆ เข้าไปคุยกับคนแปลกหน้าบนรถไฟฟ้าหรือสะพานลอยแต่อย่างใด เพราะนั่นอาจทำให้เราดูน่ากลัวเกินกว่าจะดูเป็นคนช่างคุยค่ะ ภัสแนะนำให้ลองเริ่มมีบทสนทนาสั้นๆ กับพนักงานเซเว่น คุณป้าร้านอาหารตามสั่ง ลุงยามหน้าหอ หรือคนไม่รู้จักที่เราเห็นหน้าคร่าตาอยู่บ่อยๆ

ก่อนหน้านี้ภัสไม่เคยพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคุณป้ายามคุมหอพักตัวเองมาก่อน แต่พอวันนึงที่อยากฝึกชวนคุย จึงเริ่มเดินลงไปกดน้ำและลองพูดคุยอยู่ด้วยบ่อยๆ บางครั้งก็เป็นการสอบถามว่าช่วงปิดเทอมไม่ได้หยุดหรือคะ มียามในตึกเรากี่คน ปกติผลัดเวรกันอย่างไร มีปัญหาเรื่องการนอนหลับบ้างมั้ย หรืออาจเป็นการแจ้งปัญหาภายในห้องพักทั่วไปและขอคำแนะนำ ผลจากการเริ่มชวนคุยในวันนั้น ทำให้ทุกวันนี้รู้เรื่องของคุณป้าไปถึงครอบครัว และลูกชายสุดที่รักเลยละค่ะ แถมข้อดีคือเวลาที่กลับหอดึกมากๆ คุณป้าก็จะยิ้มและบอกให้เราเดินผ่านประตูกั้นไปได้เลย แหม่ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวจริงๆ เลยนะคะเนี่ยยย


4. ฝึกเป็นคนช่างสังเกตุ

detail

Photo by rawpixel.com from Pexels

การช่างสังเกตุในที่นี้มีความหมายหลักๆ อยู่ 3 อย่างค่ะ อย่าแรกคือการรู้จักสังเกตุความเป็นไปในทุกๆ วัน อัพเดทข่าวสาร และตามทันโลกอยู่เสมอ เพราะจะทำให้เรามีเรื่องเล่า หรือเรื่องชวนคุยกับคนรอบข้างได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องพยายาม

อย่างที่สองคือการเริ่มจากการสังเกตุคนรอบตัวอยู่เสมอค่ะ หากวันหนึ่งมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิม เราจะสามารถรู้และหยิบยกมาเป็นเรื่องชวนคุยได้ในทันที เช่น วันนี้เพื่อนที่ทำงานอาจแต่งตัวน่ารักเป็นพิเศษ ก็เป็นการดีที่เราจะได้ชมเชยว่าเธอดูดีมากเลย และสอบถามว่าวันนี้เป็นวันพิเศษอะไรหรือไม่ วิธีการนี้ควรเป็นการเอ่ยปากชมอย่างจริงใจ ไม่ใช่เพียงแค่การพูดแบบขอไปที เพราะคู่สนทนาอาจรู้สึกได้ว่าคำชมของเรานั้นไม่จริงใจเอาเสียเลย

อย่างสุดท้ายคือการฝึกสังเกตุและปรับโทนเสียงหนัก-เบา ให้เหมาะสมและอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับโทนของคู่สนทนาค่ะ ภัสทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมของชาวต่างชาติที่มักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องต่างๆ ที่เยอะจนล้นกว่าชาวเอเชีย หรือถ้าเรียกกันภาษาเราๆ ก็คือ Overacting นั่นเองค่ะ พวกเขามักจะมีรีแอคชั่นในขณะที่กำลังฟังเรื่องเล่า อย่างเช่น “Wow! that’s amazing!” “Yeah! I know it right” หรือ ‘That’s crazy!’ พร้อมกับท่าทีที่ดูตื่นเต้นกับสิ่งที่เราพูดอย่างถึงที่สุด ทำให้ภัสพบว่าถ้าหากตัวเองยังคงพูดคุยกับพวกเขาด้วยโทนนิ่งๆ เนิบๆ และช้าเหมือนในอดีต จะเป็นการทำให้บทสนทนาค่อยๆ กร่อยลงเพราะ energy ที่เราส่งกลับไปให้เขานั้นน้อยกว่าที่เขาส่งมาให้เราอยู่มากโข เพราะฉะนั้นการเร่งเครื่อง เพิ่ม energy ให้สูงหรือต่ำ พอๆ กับคู่สนทนาจะทำให้การสนทนานั้นง่ายและสนุกมากยิ่งขึ้น แถมยังทำให้คู่สนทนารู้สึกผ่อนคลายในการพูดคุยกับเราอีกด้วย


5. จดจ่ออยู่กับการฟังคู่สนทนา

listening

Photo by rawpixel.com from Pexels

ในหลายๆ ครั้งที่เรามักจะเป็นกังวลกับคำพูดมากจนเกินไป ทำให้ไม่ได้โฟกัสหรือตั้งใจฟังเนื้อหาที่คู่สนทนาพูดถึงอยู่จริงๆ เสียทีเดียว เพราะลึกๆ แล้วในสมองของเรากลับปั่นป่วนและจดจ่ออยู่กับการเตรียมตัวว่าจะตอบกลับอย่างไรมากกว่า แต่ภัสจะบอกว่าการทำแบบนั้นยิ่งเป็นการกดดันตัวเอง ทำให้ตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เกิดความว่างเปล่า และไม่รู้ว่าจะตอบกลับอย่างไรเพราะไม่ได้ฟังโดยละเอียด เหตุการณ์ลักษณะนี้มักเกิดบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสัมภาษณ์ค่ะ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดที่เราต้องมีการพูดคุยจริงๆ ให้หยุดคิดทุกสิ่งอย่าง พยายามตั้งใจและเอนจอยกับการฟังคู่สนทนาเล่าเรื่อง เพราะจริงๆ แล้วในทุกเรื่องที่คนตรงข้ามเล่าออกมา มักจะเป็นคำบอกใบ้ให้เราอยู่เสมอว่าจะสามารถโยงไปเข้าเรื่องใดได้ต่อไป


และนี่ก็คือ 5 วิธี ที่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่ช่างพูดช่างจา ชวนคุยเก่ง และสร้างบรรยากาศให้ในทุกๆ ที่มีสีสันมากยิ่งขึ้น หากใครที่ทำแบบนี้ได้ รับรองว่าจะต้องกลายเป็นคนที่มีเสน่ห์มากแน่ๆ ค่ะ เพราะคนคนนี้ไม่ว่าจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ก็มักจะทำให้คนรอบข้างสนใจ และเพลิดเพลินไปกับการมีเธออยู่ด้วยเสมอ ทักษะการพูดคุยไม่ใช่เรื่องที่ต้องเก่งมาตั้งแต่เกิดเท่านั้นอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าใครก็สามารถฝึกฝนจนกลายเป็นคนพูดเก่ง เข้าสังคมเก่ง และสร้างความประทับใจแรกพบต่อคนใหม่ๆ ได้ดีอยู่เสมอค่ะ ใครที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ ลองนำเอาไปปรับใช้กันดูนะคะ ภัสรับประกันว่าผลจากการช่างพูดช่างจา มีคอนเนคชั่นกับคนที่หลากหลาย จะทำให้มีโอกาสดีๆ ทั้งการงาน การเงิน แต่ความรักเข้ามาในชีวิตคุณมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
patricialaaa
patricialaaa
อ่านบทความอื่นจาก patricialaaa

I wake up at 6 on purpose. When you think of Beauty, Earth-friendly and Trend, you will think of me.

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์