อื่นๆ

1 ทริก กับการบังคับเด็กดื้อให้ยอมตาม

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
1 ทริก กับการบังคับเด็กดื้อให้ยอมตาม

ลูกสาวผมเป็นเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูงมาก ซึ่งผู้ใหญ่เขาเรียกอีกอย่างว่า “ดื้อ” นี่แหละครับ แถมลูกผมยังมีอีกลักษณะหนึ่ง คือ ยิ่งบังคับยิ่งไม่ทำ

เด็กมีความคิดของตัวเอง เป้าหมายชัด แต่ขัดกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่มักเรียกว่าดื้อภาพโดยLorri Lang จาก Pixabay

คุณเคยฟังนิทานอีสปเรื่องลมกับพระอาทิตย์ไหมครับ ถ้าเผื่อใครยังไม่เคย ผมจะเล่าให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า ลมกับพระอาทิตย์คิดจะแข่งกันว่าใครเก่งกว่า พอดีตอนนั้นมีชายคนหนึ่งเดินมากลางทุ่ง ลมกับพระอาทิตย์จึงท้ากันว่า ถ้าใครทำให้ชายคนนี้ถอดเสื้อแจ็กเก็ตได้ คนนั้นชนะ

ลมออกแรงพัดอย่างหนัก ชายคนนั้นกระชับเสื้อแจ็กเก็ตเอาไว้ ยิ่งพัดแรง เขายิ่งจับแน่นขึ้น สุดท้ายลมก็เลยถอดใจ ทีนี้ตาพระอาทิตย์บ้าง พระอาทิตย์ค่อยๆ แผดความร้อนทีละนิดๆ สุดท้ายชายคนนั้นร้อนจนทนไม่ไหวจึงสมัครใจถอดเสื้อแจ็กเก็ตออก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “การโน้มน้าวให้ผลสำเร็จดีกว่าการบังคับ”

Advertisement

Advertisement

แล้วคุณละครับ คุณอยากเป็นพ่อแม่ที่ใช้อำนาจบังคับลูก หรือโน้มน้าวให้ลูกสมัครใจทำตาม

การบังคับนั้นดีครับ ได้ผลเร็ว พ่อแม่ไม่ต้องยุ่งยากมาก แต่การบังคับทำได้เฉพาะตอนที่ลูกยังเป็นเด็กเท่านั้น พอลูกโตขึ้น เขาอาจจะเป็นอย่างนี้ครับ

1. เกลียดสิ่งที่พ่อแม่สอน และ

1.1 หลบเลี่ยงไม่ทำตามที่พ่อแม่สอน แอบทำสิ่งที่พ่อแม่ห้าม หรือ

1.2 พูดออกมาเลยว่า "อย่ามายุ่งกับผม/หนู"  (โดยมากจะเกิดกับเด็กผู้ชาย) และอาจก่อปัญหาการหนีออกจากบ้าน

หรือไม่ก็

2. เป็นคนที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเองไปเลย เคยเห็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ตัวเองต้องการอะไร หรืออยากได้อะไรที่แท้ทรูไหมละครับ พวกผู้ใหญ่ที่นั่งตั้งคำถามว่าชีวิตมันคืออะไร เราเกิดมาทำไม นั่นแหละครับ 99% มาจากครอบครัวที่ถูกพ่อแม่บังคับจนลูกสูญเสียความเป็นตัวเอง

เด็กที่ถูกบังคับ พอเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ในใจเขาจะกรีดร้องไม่ต่างอะไรจากในภาพเลยครับภาพโดย Mandyme27 จาก Pixabay

Advertisement

Advertisement

เมื่อสมัยที่ลูกผมยังเป็นเด็กน้อย อายุไม่เกิน 2 ขวบ ผมใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ถ้าผมอยากให้ลูกเลิกเล่นปากกาของแม่ ผมก็จะไปหยิบของเล่นที่ลูกชอบ เช่น หม้อข้าวหม้อแกง ขึ้นมา ลูกสาวผมชอบเล่นเป็นแม่ครับ ผมก็จะบอกลูกว่า “แม่ครับ ทำกับข้าวให้ผมกินหน่อย ผมหิว” แค่นี้ลูกสาวผมก็วิ่งมาเล่นหม้อข้าวหม้อแกงแทน แล้วค่อยหาโอกาสอธิบายถึงเรื่อง 'ข้าวของของคนอื่นเราจะเอามาเล่นไม่ได้' ทีหลัง

แต่พอลูกโตขึ้น มันไม่ง่ายแบบนั้นแล้วครับ ช่วง 4 ขวบ ลูกสาวผมมีเป้าหมายชัดเจนมาก ซึ่งนั่นน่าจะมาจากการที่ผมฝึกให้แกตั้งเป้าและทำจนสำเร็จ ผมไม่โทษแกครับ เพราะแกยังไม่รู้ว่าเป้าไหนควรตั้ง เป้าไหนไม่ควรตั้ง

มีอยู่วันหนึ่ง ลูกสาวผมตื่นนอนขึ้นมาแล้วตั้งเป้าว่าจะไม่ล้างหน้าแปรงฟัน ภรรยาผมอธิบายถึงประโยชน์ของการแปรงฟัน แถมเอาลายเซ็นในสมุดสะสมความดีมาล่อ ลูกสาวของผมก็ยังยืนกระต่ายขาเดียว (อ่านเรื่องสมุดสะสมลายเซ็นในบทความเรื่อง “เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอนั้นดี” คลิก)

Advertisement

Advertisement

มาถึงตรงนี้ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไรครับ หาสิ่งที่ลูกกลัว แล้วจี้จุดความกลัว เช่น ตี, ดุ, ขู่ หรือเปล่าครับ

คุณจะทำยังไงกับลูก ขุดหาความกลัว มาขู่ บังคับ หรือดุลูกไหมภาพโดย Bob Dmyt จาก Pixabay

ส่วนตัวผม ผมหาสิ่งที่ลูกชอบ แล้วพูดให้สิ่งที่ลูกชอบเกี่ยวข้องกับการล้างหน้าแปรงฟัน แต่อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้น การโน้มน้าวหรือเบี่ยงเบนความสนใจลูกในวัยนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อตอน 2 ขวบ ผมจึงใส่ลีลาเข้าไปนิดหน่อย ทริกนี้ผมเรียกว่า ‘พลังแห่งการเล่าเรื่อง’

อย่างในตอนต้น ถ้าผมเปิดบทความว่า “พ่อแม่ที่ดีต้องไม่บังคับ แต่ต้องโน้มน้าวลูก” คุณจะประทับใจเท่ากับการที่ผมเล่าเรื่องลมกับพระอาทิตย์ไหมครับ แล้วแบบไหนที่ติดตรึงอยู่ในใจคุณมากกว่า นิทานใช่ไหมครับ นี่แหละครับพลังแห่งการเล่าเรื่อง

เนื่องจากลูกสาวของผมเป็นคนรักสวยรักงามเอามากๆ แกชอบแต่งชุดฟูฟ่องและบอกว่าตัวเองเป็น ‘เจ้าหญิงแสนสวย’ เสมอๆ  ผมเลยเล่าเรื่องของบุษบาให้ฟังว่า

บุษบาเป็นเจ้าหญิงอยู่ที่เมืองเมืองหนึ่ง ส่วนอิเหนาก็เป็นเจ้าชายอยู่ที่เมืองอีกเมืองหนึ่ง ตอนนั้นมีข่าวลือว่าบุษบาส่วนมาก อิเหนาอยากรู้ว่าบุษบาสวยขนาดไหน เลยส่งช่างไปถ่ายรูปบุษามา (ในเรื่องจริงๆ คือ วาดรูป แต่ผมขี้เกียจอธิบายเรื่องวาดรูป เพราะมันจะมีคำถามต่อมาแน่ๆ ว่าวาดแล้วจะเหมือนเป๊ะได้ยังไง ผมเลยบอกว่าถ่ายรูปแทน)

พอช่างไปถึง บุษบาเพิ่งจะตื่นนอนยังไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟัน ช่างก็ถ่ายรูป แชะ! มาหนึ่งใบ พอบุษบาเข้าไปล้างหน้าแปรงฟันเสร็จแล้วออกมาใหม่ ช่างก็ถ่ายรูป แชะ! อีกหนึ่งใบ

บุษบาพอล้างหน้าแปรงฟันแล้วสวยหยาดฟ้ามาดิน!ภาพโดย Bon Bon จาก Pixabay

ระหว่างที่ช่างเดินทางกลับเมืองเพื่อจะเอารูปไปให้อิเหนาดู ปรากฏว่ารูปใบที่บุษบาล้างหน้าแปรงฟันแล้วนั้นหายไป ช่างเลยเอารูปใบที่บุษบายังไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟันไปให้อิเหนาดู อิเหนาเห็นแล้วก็เบ้หน้า “ยี๊! ไม่เห็นสวยเลย”

ส่วนรูปใบที่บุษบาล้างหน้าแปรงฟันแล้ว จรกาเก็บได้ พอจรกาเห็นเท่านั้นแหละ จรกรถึงกับเอารูปไปกอดและนอนเพ้อ "คนอะไรส๊วยสวย สวยหยาดฟ้ามาดินเลยทีเดียว!”

ลูกผมชอบฟังนิทานคำกลอน ผมเลยจัดบทนี้ให้


พิศทั่วนรลักษณ์พักตรา          ดั่งหยาดฟ้ามาแต่กระยาหงัน

รสรักตรึงใจเพียงไฟกัลป์         ทรงธรรม์ซวนซบสลบลง

บทละครเรื่องอิเหนา

พระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย


มาถึงตรงนี้ลูกสาวผมเบิกตาโพลงเหมือนกำลังทึ่ง อึ้ง หรือตื่นรู้อะไรสักอย่าง ผมรีบยิงคำถามทันที

“บุษบาเธอเป็นเจ้าหญิงนะ แล้วหนูล่ะ หนูเป็นเจ้าหญิงหรือเปล่าคะ”

ลูกผมรีบตอบทันทีเลยว่าเป็น ผมจึงถามต่อ

“แล้วเจ้าหญิงต้องทำยังไงถึงจะสวยคะ”

เท่านั้นแหละครับ ลูกผมหยิบแปรงสีฟันกับแก้วน้ำมาแปรงฟันล้างหน้าและอาบน้ำเองเสร็จสรรพ!

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยกว่า 4 ขวบให้อาบน้ำเองแล้วเหรอ ผมตอบว่าใช่ครับ ผมหัดให้ลูกดูแลตัวเองเพื่อให้เขาได้ภูมิใจในตัวเอง อันเป็นการป้องกันวิกฤตอัตลักษณ์ เอาไว้ผมจะเขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤตอัตลักษณ์ของเด็กให้อ่านกันอีกทีนะครับ

ผมขอสรุปทริกพลังแห่งการเล่าเรื่องทริกนี้ ให้คุณผู้อ่านง่ายๆ อย่างนี้ครับ

  1. สังเกตว่าลูกชอบอะไร (ของลูกผมคือความสวยและการเป็นเจ้าหญิง)
  2. เล่าเรื่องที่ทำให้เขาได้สิ่งที่ชอบมา โดยเขาจะต้องทำสิ่งที่เราต้องการ (ซึ่งของผมคือการแปรงฟัน) เสียก่อน ถึงจะได้สิ่งที่ชอบมา

ทริกนี้จะไม่ได้ผลเลยนะครับ ถ้าคุณไม่รู้ว่าลูกชอบอะไร และทั้งนี้ต้องขึ้นกับตัวเด็กเองด้วย ถ้าลูกคุณเป็นเด็กที่มีความคิดเรียบง่าย มีตรรกะไม่มาก นิทานของคุณต้องชัดเจนและเฉพาะเจาะจงมากกว่าเด็กที่มีตรรกะสูงครับ

เลี้ยงลูกดื้อ ลองใช้พลังแห่งการเล่าเรื่องโน้มน้าวลูกดูครับ ผมให้ทริกง่ายๆ แค่ทำอย่างสม่ำเสมอ เด็กดื้อก็สมัครใจทำตามคุณพ่อคุณแม่โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเองแล้วครับ และโปรดจำไว้ว่าการเลี้ยงลูกให้สำเร็จยิ่งใหญ่ ไม่ได้มาจากการทำอะไรใหญ่โตมโหฬาร แต่มาจากการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้สม่ำเสมอนี่แหละครับ

โปรดจำไว้ว่าการเลี้ยงลูกให้สำเร็จยิ่งใหญ่ ไม่ได้มาจากการทำอะไรใหญ่โตมโหฬาร แต่มาจากการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้สม่ำเสมอ

ดื้อไม่ใช่จะดีไม่ได้ มาเลี้ยงลูกให้ดื้อและดีด้วทริคนี้กันดีกว่าครับภาพโดย Jill Wellington จาก Pixabay

เครดิตภาพปก โดย Hanna Kovalchuk จาก Pixabayและ truthseeker08 จาก Pixabay

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์