อื่นๆ

ตั้งวงเล่า : ทำอย่างไร...เมื่อต้องไปศาล

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ตั้งวงเล่า : ทำอย่างไร...เมื่อต้องไปศาล

ถ้าหากในเช้าวันหยุดอันแสนสดใส  และอบอุ่นไปด้วยไอแดด เสียงนกตัวเล็กๆ ร้องเล่นกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางฟ้าสีครามไร้ปุยเมฆและสายลมเย็นพัดผ่าน วันนี้ควรจะเป็นวันแห่งความสุข แต่แล้วในทันใดนั้นเอง เสียงกระดิ่งก็ดังขึ้นทำลายความสงบสุขนั้น ซึ่งกว่าที่คุณจะหลุดพ้นจากที่นอนดูดวิญญาณได้ และจัดแจ้งแต่งกายให้เหมาะสมลงไปรับแขก ก็ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่

แต่เมื่อเดินไปถึงถึงประตูหน้าบ้านก็ไม่พบกับแขกผู้มาเยือนเสียแล้ว กลับพบเห็นเอกสารขนาด กระดาษ A4 ปึกหนึ่ง ถูกมัดเอาไว้ติดกับประตูรั้วหน้าบ้านแทน พอได้พลิกเอกสารนั้นขึ้นดู ก็พบว่าหน้าแรกสุดของเอกสารชุดนั้น มีตราครุฑเด่นเป็นสง่าอยู่ที่หัวกระดาษ พร้อมด้วยชื่อ โจทก์ และจำเลย โดยมีข้อความกำหนดวันนัดให้ไปศาล นั่นแสดงว่า…คุณได้รับหมายนัดของศาลแล้ว !!!

court[ ตัวอย่างหมายเรียกของศาล : คดีแพ่ง ]

Advertisement

Advertisement

ได้รับหมายศาลแล้ว จะทำอย่างไรต่อไปดี มีขั้นตอนอยากจะแนะนำตามนี้นะครับ

ข้อที่ 1. ทำใจร่มๆ แล้วอ่านรายละเอียดที่ปรากฏบนหน้าเอกสารฉบับนั้นก่อนครับ ว่าเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญา ปกติแล้วหากอยู่ๆ จะมีหมายศาลมาปิดเอาไว้ที่หน้าบ้านเลย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคดีแพ่ง เพราะหากเป็นคดีอาญาจะต้องมีการดำเนินการผ่านชั้นพนักงานสอบสวน หรือตำรวจเสียก่อน เว้นแต่จะเป็นกรณีที่บุคคลดำเนินคดีเอง ถึงจะมีหมายนัดให้ไปศาลเพื่อศาลได้ทำการไต่สวน

เมื่ออ่านข้อความโดยละเอียดแล้วพบว่าโดนฟ้องจริงๆ ไม่ได้ฝันไป หากเป็นคดีแพ่งไปต่อข้อที่ 2. ส่วนถ้าเป็นคดีอาญาไปต่อข้อที่ 3. แต่ถ้าคุณไม่ใช่จำเลยคนที่ถูกฟ้อง หรือไม่มีเกี่ยวข้องใดๆ ในคดีเลยไปต่อข้อที่ 4. ครับ

Legalข้อที่ 2. คดีแพ่ง คือ คดีที่ฟ้องเพื่อให้ผู้รับผิดต้องดำเนินการชำระหนี้ จะเป็นการชำระหนี้โดยให้กระทำการใด งดเว้นกระทำการใด หรือ ส่งมอบทรัพย์สินใดก็ได้ ทั้งสิ้น เช่น พวกเป็นหนี้เงินตามสัญญากู้ยืม จำนอง เช่าซื้อรถยนต์ หรือสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น

Advertisement

Advertisement

คดีแพ่งนี้ จะพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่ฟ้องมาในคดีก่อนครับว่ามากน้อยเพียงใด หากเป็นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท ตามที่ปรากฏอยู่ที่หน้าคำฟ้อง  หรือแม้จะเกิน 300,000 บาท แต่โจทก์เป็นธนาคาร สถาบันการเงินหรือไฟแน้นซ์ หรือมีลักษณะอื่นที่ดูคล้ายๆ เป็นผู้ประกอบการ คุณอาจจะไปศาลตามกำหนดวันนัดก่อน เพื่อไปดูท่าทีหรือข้อเสนอของคู่ความฝ่ายตรงข้าม โดยยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรึกษาทนายความก่อนก็ได้ครับ

ในคดีแพ่งจะไม่มีการถูกลงโทษจำคุก ถูกปรับเงิน หรือมีโทษทางอาญาอื่นๆ แต่อย่างใดนะครับ เว้นแต่ในคดีแพ่งนั้นได้ไปกระทำการละเมิดอำนาจศาลจึงอาจได้รับโทษทางอาญาได้

ผลของการไปศาลวันแรก มีทางให้เลือก 3 กรณี คือ ถ้าให้ศาลพิพากษาไปโดยไม่ต่อสู้คดีไปต่อที่ข้อ 5. หากประสงค์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปต่อที่ข้อ 6. หรือจะประสงค์สู้คดีไปต่อที่ข้อ 7. แต่หากเป็นกรณีอื่นนอกจากที่กล่าวมาไปต่อที่ข้อ 8. ครับ

Advertisement

Advertisement

legalข้อที่ 3. คดีอาญา คือ คดีที่ฟ้องเพื่อให้ผู้รับผิด ต้องได้รับโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ก็ตาม เช่น คดีฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกาย หรือลักทรัพย์ เป็นต้น

คดีอาญานี้ ควรปรึกษาทนายความหรือผู้รู้กฎหมายที่ไว้ใจจะดีที่สุด เพื่อวางแนวทางการสู้คดี เนื่องจากคดีอาญาเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย อาจจะต้องย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ในเรือนจำได้แบบไม่รู้ตัว

สำหรับเฉพาะคดีอาญาที่คุณถูกฟ้องเป็นจำเลย หากไม่มีทนายความ สามารถขอให้ศาลท่านตั้งทนายความให้แก่คุณได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

Legalข้อที่ 4. ในกรณีที่ท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เคยทำผิด หรือไม่เคยทำสัญญาอะไรใดๆ ในคดีไว้เลยจริงๆ เพียงแต่ชื่อนามสกุลของท่าน ดันไปเหมือนกับชื่อนามสกุลที่ปรากฏอยู่ในช่องของจำเลยอย่างกับแกะเท่านั้น ให้คุณไปที่ศาลพร้อมบัตรประชาชน หรือหลักฐานแสดงความเป็นตัวตนที่ยืนยันได้ว่าคุณไม่ใช่จำเลยโดยเร็วที่สุด แล้วยื่นคำให้การแสดงให้ศาลทราบว่า โจทก์ฟ้องคดีผิดคน และไปศาลตามวันที่ศาลนัดพิจารณา เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือให้คู่กรณีถอนฟ้องไปเสีย  หากท่านไม่ไปศาล อาจจะต้องคำพิพาษาและต้องรับผิดโดยไม่รู้ตัวได้นะครับ

legalข้อที่ 5. ในคดีแพ่ง หากคุณเป็นลูกหนี้จริงๆ แล้วตามหนังสือสัญญาที่โจทก์ฟ้องมาก็ถูกต้อง ลายมือชื่อก็ได้ลงเอาไว้เป็นหลักฐานมัดตัวก็ชัดเจน แล้วไม่สามารถผ่อนจ่ายได้ในขณะนี้ การต่อสู้คดีไม่เป็นผลดีต่อคุณอย่างแน่นอน ทางออกที่ดีที่สุดคือ ให้ศาลมีคำพิพากษาไปโดยที่คุณไม่สู้คดีก็ได้ครับ แล้วค่อยนำคำพิพาษานั้นไปขอประนอมหนี้กับโจทก์อีกครั้งหนึ่งในภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อเจรจาสำเร็จคดีก็ละสิ้นสุดลง แต่หากเจรจาขอประนอมหนี้หลังมีคำพิพาษาไม่สำเร็จ ก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับดคีต่อไปในข้อที่ 9. ครับ

ข้อที่ 6. ในคดีแพ่ง หากคุณเป็นลูกหนี้จริงๆ แล้วตามหนังสือสัญญาที่โจทก์ฟ้องมาก็ถูกต้อง ลายมือชื่อก็ได้ลงเอาไว้เป็นหลักฐานมัดตัวก็ชัดเจน แต่ทว่าคุณสามารถผ่อนชำระต่อไป ให้ขอเจรจากับโจทก์ หรือ แจ้งต่อศาลว่า "ขอประนีประนอมยอมความ" หรือ เรียกว่า "ทำยอม" กับโจทก์ได้เลยครับ แล้วหากมีความจำเป็นต้องมีการตกลงเรื่องยอดหนี้ซึ่งไม่สามารถเจรจาตกลงได้แล้วเสร็จในวันนัดพิจารณานั้น ศาลจะอนุญาตให้เลื่อนคดีออกไปตกลงยอดหนี้กันเองก่อนได้ หลังจากนั้นเมื่อตกลงยอดหนี้ได้สำเร็จก็จะต้องมีการทำสัญญาประนีประนอมที่ศาลในครั้งถัดไปตามวันเวลาที่ศาลนัด ทั้งนี้ การทำสัญญาประนีประนอมมีผลทำให้คุณยังสามารถชำระหนี้ที่ค้างต่อไปได้ โดยไม่ถูกบังคับคดี จนกว่าจะมีการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งหากชำระหนี้สำเร็จตามสัญญาประนีประนอมยอมความคดีก็จะสิ้นสุดลง แต่หากผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับดคีต่อไปในข้อที่ 9. ครับ

ข้อที่ 7. ในคดีแพ่ง หากเห็นว่าพอมีช่องทางต่อสู้คดีได้ คุณอาจจะขึ้นให้การต่อศาลเพื่อต่อสู้คดีโดยตนเองก็ได้ หรือจะมีทนายความมาเป็นที่ปรึกษาและว่าความให้ก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีทักษะความเข้าใจในกระบวนพิจารณาของศาลมาก่อนมากน้อยเพียงใด แต่หากไม่แน่ใจก็ควรจะมีทนายความเป็นที่ปรึกษาและว่าความให้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ

ข้อที่ 8. ในคดีแพ่งหากเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท หรือ โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการ จะมีขั้นตอนการดำเนินการมากกว่า กรณีในข้อที่ 2. นะครับ ดังนั้นควรปรึกษาทนายความจะดีที่สุด เพราะหากดำเนินการผิดพลาดไป แม้จะเป็นฝ่ายถูกก็จริง แต่อาจจะแพ้คดีในทางเทคนิคได้

legalข้อที่ 9. การบังคับคดีในคดีแพ่ง คือขั้นตอนหลังจากมีคำพิพากษาแล้ว หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ในกรณีที่คดีเป็นหนี้เงินหรือหนี้ที่อาจจะบังคับคดีได้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะไปดำเนินการที่สำนักงานบังคับคดี เพื่อที่จะตั้งเรื่องยึด หรืออายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วนต่อไป ซึ่งอาจจะลองขอประนอมหนี้ในชั้นบังคับคดีกับโจทก์อีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะถูกดำเนินการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเจรจา ของแต่ละคน

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติเบื้องต้นในการรับมือกรณีเมื่อได้รับหมายศาลนะครับ โดยในแต่ละขั้นตอนอาจแตกแขนงออกไปได้อีก ขึ้นอยู่กับวิธีดำเนินการในแต่ละคดี หรือ ดุลพินิจของศาล ซึ่งไม่มีข้อกำหนดตายตัว ในบางครั้งก็จำต้องแก้ไขเอาเฉพาะหน้าหรือที่เรียกกันว่า การด้นสด นั่นเอง

ปัจฉิมลิขิต : การไปศาลควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อยนะครับ พร้อมเตรียมชุดเอกสารที่ปิดอยู่หน้าประตูรั้วบ้านมาด้วย และเมื่อไปถึงศาลแล้วก็สอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หรือเจ้าหน้าที่ที่คอยต้อนรับอยู่บริเวณนั้นได้ทันที เพื่อให้เราทราบว่าต้องไปรอพบศาลที่ห้องพิจารณาคดีที่เท่าไหร่  และเมื่อไปถึงห้องพิจารณาคดีแล้ว ให้เข้าไปแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ภายในห้องพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามาคดีอะไรด้วยนะครับ มิฉะนั้นหากไม่แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ แม้จะไปถึงศาลแล้ว แต่ไม่เข้าไปยังห้องพิจารณา อาจจะถือว่าไม่ได้มาศาลก็เป็นได้

ภาพประกอบ ภาพที่ 1 โดย Shenzhen inDY

ขอบคุณภาพจาก wallpapersafari : ภาพหน้าปก

ขอบคุณภาพจาก wallpaperaccess : ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3 / ภาพที่ 4

ขอบคุณภาพจาก hipwallpaper : ภาพที่ 5 / ภาพที่ 6

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์